มีผู้ออกแบบไหม?
เมือกของตัวทาก
ศัลยแพทย์พยายามค้นหาสารที่มีคุณสมบัติคล้ายกาวเพื่อช่วยในการผ่าตัดและการสมานแผล แต่กาวส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ไม่สามารถใช้กับอวัยวะภายในร่างกายได้เพราะกาวมักจะมีความเป็นพิษ เมื่อแห้งแล้วก็จะแข็งและไม่ยืดหยุ่น รวมทั้งไม่สามารถยึดติดบนผิวหนังหรือเนื้อเยื่อที่เปียกชื้นได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้นจากการศึกษาวิจัยเมือกของตัวทากชนิดหนึ่ง a
ลองคิดดู เมื่อทากเจอศัตรู พวกมันจะป้องกันตัวโดยปล่อยเมือกเหนียว ๆ ออกมา เมือกนี้ช่วยให้ตัวทากติดแน่นอยู่กับใบไม้ ซึ่งทำให้ศัตรูไม่สามารถดึงพวกมันออกไปได้ง่าย ๆ และถึงจะติดแน่นขนาดนั้น แต่ตัวทากก็ยังสามารถขยับตัวได้อยู่
นักวิจัยได้วิเคราะห์เมือกของตัวทากและพบว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้เมือกนี้มีคุณสมบัติเหมือนกาว ตัวอย่างเช่น เมือกจะมีแรงดึงดูดสองชนิด ทั้งแรงดึงดูดที่เกิดจากพันธะเคมีและแรงดึงดูดที่เกิดจากไฟฟ้าสถิตย์ เมือกนี้จะซึมซาบเข้าไปในพื้นผิวที่ตัวทากเกาะอยู่ทำให้ตัวทากสามารถเกาะติดกับพื้นผิวนั้นได้ และเมือกนี้จะมีความยืดหยุ่นเมื่อได้กับแรงกด จากแนวคิดนี้ นักวิจัยจึงได้ผลิตวัสดุชนิดหนึ่งขึ้นมาโดยเลียนแบบเมือกของตัวทาก วัสดุที่มีคุณสมบัติเหมือนกาวนี้สามารถยึดติดกับอวัยวะของสิ่งมีชีวิตได้และมีความแข็งแรงทนทานมากกว่ากาวที่ใช้กันอยู่ในวงการแพทย์ทุกวันนี้ รายงานบอกว่ากาวชนิดใหม่นี้สามารถติดอยู่กับอวัยวะ “แบบเดียวกับที่กระดูกอ่อนติดอยู่กับกระดูก”
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ในอนาคตศัลยแพทย์ทุกคนอาจใช้กาวนี้ปิดแผลแทนการเย็บแผลด้วยไหมหรือลวด และอาจใช้เพื่อซ่อมแซมกระดูกอ่อนหรือใช้เพื่อยึดติดเครื่องมือแพทย์บางอย่างเข้ากับอวัยวะภายในร่างกาย มีการทดสอบประสิทธิภาพและพบว่า กาวนี้สามารถอุดรอยรั่วที่หัวใจหมูและปิดแผลที่ตับของหนูได้
การศึกษาวิจัยสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติทำให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ โดนัลด์ อิงเบอร์ ผู้อำนวยการสถาบันที่พัฒนากาวสังเคราะห์ชนิดนี้บอกว่า “เราต้องรู้ว่าควรจะมองไปที่ไหน และเมื่อเห็นบางสิ่งแล้ว ก็ต้องพยายามนึกไอเดียใหม่ ๆ ให้ออก”
คุณคิดอย่างไร? เมือกของตัวทากเกิดจากวิวัฒนาการไหม? หรือมีผู้ออกแบบ?
a ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Arion subfuscus