“เลี้ยงลูกแบบแม่จิงโจ้”—วิธีแก้สำหรับปัญหาที่คุกคามชีวิตหรือ?
“เลี้ยงลูกแบบแม่จิงโจ้”—วิธีแก้สำหรับปัญหาที่คุกคามชีวิตหรือ?
สถานที่ตั้งคือโรงพยาบาลในเมืองโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย ในปี 1979. เนื่องจากอัตราการรอดชีวิตของทารกที่คลอดก่อนกำหนดนั้นลดต่ำอย่างน่าตกใจ แพทย์คนหนึ่งในโคลัมเบียได้ค้นพบวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ธรรมดา ซึ่งก็คือ “การเลี้ยงลูกแบบแม่จิงโจ้.”
การจะรักษาชีวิตทารกที่คลอดก่อนกำหนดให้อยู่รอดถือว่าเป็นภารกิจของแพทย์ซึ่งยากจะรับมือ. บ่อยครั้ง มีการนำทารกแรกเกิดที่น้ำหนักตัวน้อยไปไว้ในตู้อบ ให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นจนกระทั่งทารกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น. อย่างไรก็ดี ในประเทศที่กำลังพัฒนา อาคารที่แน่นขนัด, สุขอนามัยไม่ดี, และการขาดบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งเครื่องมือแพทย์มักเป็นสาเหตุของการติดเชื้อและการแพร่ระบาดที่เป็นอันตราย.
แพทย์คนหนึ่งในโคลัมเบียได้เสนอแนะวิธีซึ่งดูเหมือนจะช่วยลดปัญหานี้. วิธีนั้นทำกันอย่างไร? เมื่อทารกคลอดก่อนกำหนด ก็จะให้การเอาใจใส่ทารกนั้นตามแบบมาตรฐาน กระทั่งทารกมีสภาพคงที่. ระหว่างนั้น มารดาจะได้รับคำแนะนำให้เข้าใจวิธีการดูแลบุตร. เมื่อทารกมีสุขภาพแข็งแรงพอ มารดาจะกลายเป็นเครื่องอบเสียเอง. เป็นไปได้อย่างไร? โดยที่มารดาจะใช้ผ้าพันทารกไว้แนบอกระหว่างเต้านมทั้งสอง ให้ตัวทารกอยู่ในแนวตั้ง. ทารกจะปลอดภัยเหมือนได้อยู่ในกระเป๋าหน้าท้องจิงโจ้ ได้ทั้งความอบอุ่นและกินนมแม่ได้ง่าย. ดังนั้น จึงมักเรียกวิธีนี้ว่าเลี้ยงลูกแบบแม่จิงโจ้.
อุปกรณ์ราคาแพงก็ไม่จำเป็น. มารดาใส่เสื้อที่เหมาะสมหรือชุดกระโปรงธรรมดาพร้อมกับแถบคาดเอวให้กระชับ. เมื่อทารกมีน้ำหนักตัวเพิ่มพอสมควร มารดาและทารกก็กลับบ้านได้ และหมั่นมาตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลเป็นประจำ.
การวิจัยขั้นต้นแสดงว่าการเลี้ยงลูกแบบแม่จิงโจ้ได้ผลดีและปลอดภัย. ยิ่งกว่านั้น ดูเหมือนจะช่วยเสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างทารกกับมารดาให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น. ไม่น่าแปลกเมื่อมีการนำเอาวิธีนี้ไปใช้ในหลายประเทศ. ที่ประเทศเม็กซิโก พวกญาติถูกฝึกให้เป็น “พ่อจิงโจ้,” “ย่าจิงโจ้,” และ “พี่สาวจิงโจ้” ด้วยซ้ำ เพื่อแบ่งเบาในช่วงที่มารดาต้องพักผ่อนโดยไม่ถูกรบกวน. แพทย์หญิงกัวดาลูเป ซานโตส ผู้ดูแลโครงการเลี้ยงลูกแบบแม่จิงโจ้ที่ประเทศเม็กซิโก ได้บอกผู้เขียนตื่นเถิด! ว่า “พวกเราใช้วิธีนี้มาตั้งแต่ปี 1992 และเห็นว่ามันได้ผล. ความจำเป็นในการใช้ตู้อบลดน้อยลง และย่นเวลาที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลได้มากทีเดียว.”