ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

กษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถ

กษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถ

กษัตริย์​ผู้​เปี่ยม​ด้วย​พระ​ปรีชา​สามารถ

โดย​ผู้​เขียน​ตื่นเถิด! ใน​แคเมอรูน

อิบราฮิม โจยา เป็น​กษัตริย์​องค์​ที่ 17 ของ​ชาว​บามัม ชน​พื้นเมือง​กลุ่ม​ใหญ่​ที่​ปัจจุบัน​ยัง​คง​อาศัย​อยู่​ใน​แถบ​ทุ่ง​หญ้า​ทาง​ตะวัน​ตก​ของ​แคเมอรูน. สุลต่าน​องค์​นี้​ปกครอง​ตั้ง​แต่​ปี 1889 จน​กระทั่ง​สิ้น​พระ​ชนม์​ใน​ปี 1933 ดัง​จะ​เห็น​ได้​จาก​ราย​ชื่อ​กษัตริย์​ที่​ปกครอง​มา​ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่ 14 ใน​หน้า​ถัด​ไป. ระหว่าง​รัชกาล​ของ​สุลต่าน​โจยา ฝรั่งเศส​กับ​เยอรมนี​พยายาม​ช่วง​ชิง​ดินแดน​บริเวณ​นี้​มา​เป็น​อาณานิคม​ของ​ตน.

ตั้ง​แต่​ยัง​ทรง​พระ​เยาว์ สุลต่าน​โจยา​ได้​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​ทรง​เปี่ยม​ด้วย​พระ​สติ​ปัญญา​และ​พระ​ปรีชา​ญาณ และ​ทรง​โปรด​ให้​มี​นัก​ปราชญ์​และ​นัก​คิด​ค้น​มาก​มาย​ที่​มี​แนว​คิด​เดียว​กับ​พระองค์​อยู่​ใน​ราชสำนัก. พระ​ราชวัง​อัน​โอ่อ่า​ที่​ทรง​สร้าง​ขึ้น​ดัง​ที่​เห็น​ใน​ภาพ​ข้าง​ล่าง​นี้​เป็น​ข้อ​พิสูจน์​ถึง​พระ​ปรีชา​สามารถ​ด้าน​สถาปัตยกรรม. นอก​จาก​นี้ ว่า​กัน​ว่า​พระองค์​ยัง​ทรง​เป็น​ผู้​คิด​ค้น​เครื่อง​บด​ข้าว​โพด​ที่​เห็น​ใน​ภาพ​นี้​ด้วย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม สิ่ง​ที่​น่า​ทึ่ง​เป็น​พิเศษ​ก็​คือ​ผล​งาน​ของ​พระองค์​ใน​การ​พัฒนา​ระบบ​การ​เขียน​แบบ​ใหม่​สำหรับ​ภาษา​บามัม.

ทำ​ให้​มี​ทาง​เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​จด​บันทึก

ใน​ตอน​ปลาย​ศตวรรษ​ที่ 19 การ​เก็บ​รักษา​ประวัติศาสตร์​ของ​ชาว​บามัม​ส่วน​ใหญ่​อาศัย​วิธี​เล่า​สืบ​ปาก​จาก​คน​รุ่น​หนึ่ง​ไป​สู่​คน​อีก​รุ่น​หนึ่ง. สุลต่าน​โจยา​ทรง​ตระหนัก​ว่า​ราย​ละเอียด​ทาง​ประวัติศาสตร์​อยู่​ใน​ภาวะ​ที่​เสี่ยง​ต่อ​การ​ถูก​ละเลย​หรือ​เพิ่ม​เติม. พระองค์​ทรง​คุ้น​เคย​กับ​ภาษา​อาหรับ​หลัง​จาก​ทรง​ได้​หนังสือ​ภาษา​อาหรับ​มา​จาก​คน​ทำ​อาชีพ​ค้า​ขาย​และ​พวก​พ่อค้า​ที่​เดิน​ทาง​ผ่าน​เข้า​มา​ใน​อาณาจักร​ของ​พระองค์. เป็น​ไป​ได้​ด้วย​ว่า​พระองค์​ทรง​รู้​จัก​อักษร​วาย​โบราณ​ซึ่ง​ใน​เวลา​นั้น​ใช้​กัน​ใน​ไลบีเรีย. ดัง​นั้น พระองค์​จึง​เริ่ม​พัฒนา​ระบบ​การ​เขียน​เพื่อ​ใช้​ใน​ภาษา​ของ​พระองค์​เอง.

ตอน​แรก​สุลต่าน​โจยา​ทรง​คิด​สัญลักษณ์​ขึ้น​มา​หลาย​ร้อย​แบบ ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​เป็น​ตัว​หนังสือ​ความ​คิด​และ​ตัว​หนังสือ​ภาพ. ระบบ​ดัง​กล่าว​ทำ​ให้​ประชาชน​ของ​พระองค์​ต้อง​จำ​ให้​ได้​ว่า​สัญลักษณ์​แต่​ละ​ตัว​หมาย​ถึง​อะไร. พระองค์​ทรง​ใช้​เวลา​หลาย​ปี​ปรับ​ปรุง​ระบบ​นี้​ให้​ง่าย​ขึ้น​โดย​มี​ผู้​ช่วย​ที่​ไว้​ใจ​ได้​คอย​ช่วยเหลือ. พวก​เขา​ได้​ลด​จำนวน​สัญลักษณ์​ที่​จำเป็น​ลง​โดย​นำ​ระบบ​พยางค์​เข้า​มา​ใช้. โดย​การ​รวม​สัญลักษณ์​หรือ​ตัว​อักษร​ที่​พระองค์​คิด​ขึ้น​ใหม่​นี้​จำนวน​หนึ่ง​เข้า​ด้วย​กัน​ก็​จะ​ได้​คำ​เฉพาะ​ขึ้น​มา. จำนวน​ตัว​อักษร​และ​เสียง​ตัว​อักษร​ที่​ผู้​อ่าน​ต้อง​จด​จำ​ก็​ลด​ลง​มาก. เมื่อ​สุลต่าน​โจยา​เสร็จ​สิ้น​งาน​ของ​พระองค์ ระบบ​การ​เขียน​ที่​เรียก​ว่า อา-คา-อู-คู ประกอบ​ไป​ด้วย​ตัว​อักษร 70 ตัว.

สุลต่าน​โจยา​ทรง​สนับสนุน​การ​ใช้​อักษร​บามัม​โดย​โปรด​ให้​มี​การ​สอน​ใน​โรง​เรียน​และ​ใช้​ใน​วง​ราชการ. พระองค์​ทรง​มี​ราชโองการ​ให้​บันทึก​ประวัติ​ของ​ราชวงศ์​และ​ของ​ประเทศ​ด้วย​ตัว​อักษร​ใหม่​นี้. โดย​วิธี​นี้​ชาว​บามัม​จึง​สามารถ​อ่าน​เกี่ยว​กับ​ขนบธรรมเนียม​ประเพณี​และ​กฎหมาย​ของ​ตน​เอง​ได้​เป็น​ครั้ง​แรก. สุลต่าน​โจยา​ทรง​ถึง​กับ​ให้​เขียน​ตำรา​ยา​ด้วย​อักษร​บามัม​ที่​คิด​ขึ้น​ใหม่​นี้​ด้วย. ปัจจุบัน​เอกสาร​ต้น​ฉบับ​เหล่า​นี้​มาก​กว่า 8,000 ฉบับ​ยัง​คง​เก็บ​รักษา​ไว้​ใน​ห้อง​เก็บ​เอก⁠สาร​ของ​พระ​ราชวัง.

ข้อ​ดี​ของ​ระบบ​การ​เขียน​ใหม่​นี้​เป็น​ที่​ประจักษ์​ชัด​ไม่​นาน​หลัง​จาก​การ​มา​ถึง​ของ​นัก​ล่า​อาณานิคม​ชาว​เยอรมัน​ใน​ปี 1902. ถึง​แม้​สุลต่าน​โจยา​จะ​ทรง​ได้​ประโยชน์​จาก​ความ​ก้าว​หน้า​ทาง​เศรษฐกิจ แต่​พระองค์​ก็​ไม่​ได้​เห็น​พ้อง​กับ​เจ้าหน้าที่​ชาว​เยอรมัน​ไป​เสีย​ทุก​เรื่อง. ดัง​นั้น พระองค์​จึง​ใช้​ตัว​อักษร​ใหม่​ที่​ทรง​ประดิษฐ์​ขึ้น​ซึ่ง​ชาว​เยอรมัน​ยัง​อ่าน​ไม่​ออก. อักษร​บามัม​นี้​ใช้​กัน​อยู่​นาน​เท่า​ไร?

ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 1 (ปี 1914-1918) เยอรมนี​สูญ​เสีย​อำนาจ​ใน​การ​ครอบครอง​ดินแดน​บริเวณ​ที่​เป็น​อาณา​เขต​ของ​สุลต่าน​โจยา​ไป. ใน​ที่​สุด สันนิบาต​ชาติ​ซึ่ง​เพิ่ง​ก่อ​ตั้ง​ใหม่​ก็​มี​คำ​สั่ง​ยก​บามัม​ไป​อยู่​ใต้​อาณัติ​ของ​ฝรั่งเศส. ถึง​แม้​สุลต่าน​โจยา​จะ​ทรง​เปิด​รับ​ความ​คิด​ใหม่ ๆ แต่​พระองค์​ก็​ทรง​ภูมิใจ​ใน​มรดก​ของ​พระองค์​และ​ทรง​ประสงค์​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​อนุรักษ์​และ​พัฒนา​ขนบธรรมเนียม​ของ​ประชาชน​ของ​พระองค์. ด้วย​เหตุ​นี้​พระองค์​จึง​ทรง​ต่อ​ต้าน​การ​ปกครอง​ของ​ฝรั่งเศส​เหนือ​อาณาจักร​ของ​พระองค์. ใน​ปี 1931 ฝรั่งเศส​จึง​ถอด​พระองค์​ออก​จาก​ตำแหน่ง​กษัตริย์ เช่น​เดียว​กับ​ที่​เจ้า​อาณานิคม​ทำ​กับ​ผู้​ปกครอง​ดินแดน​ซึ่ง​ไม่​ยอม​สวามิภักดิ์. สอง​ปี​ต่อ​มา สุลต่าน​โจยา​ก็​สิ้น​พระ​ชนม์​ใน​ระหว่าง​ที่​ถูก​เนรเทศ.

เนื่อง​จาก​ฝรั่งเศส​ห้าม​ไม่​ให้​ใช้​อักษร​บามัม​ใน​โรง​เรียน อีก​ทั้ง​ไม่​มี​สุลต่าน​โจยา​คอย​ส่ง​เสริม​การ​ใช้​อักษร​นี้ ชาว​บามัม​ส่วน​ใหญ่​จึง​เลิก​ใช้​และ​ลืม​อักษร​นี้​ภาย​ใน​เวลา​ไม่​นาน. เมื่อ​มิชชันนารี​จาก​คริสต์​ศาสนจักร​เข้า​มา​ใน​ดินแดน​นี้ พวก​เขา​ได้​เรียน​ภาษา​พูด​ของ​ชาว​บามัม​และ​ทำ​หนังสือ​หลัก​ไวยากรณ์​ของ​ภาษา​นี้​เพื่อ​ใช้​ใน​โรง​เรียน​ของ​พวก​เขา. ต่าง​จาก​สุลต่าน​โจยา พวก​เขา​ได้​ยืม​องค์​ประกอบ​พื้น​ฐาน​ส่วน​ใหญ่​ที่​มี​อยู่​แล้ว​ใน​ตัว​อักษร​และ​การ​ออก​เสียง​แบบ​โรมัน​มา​ใช้.

ไม่​นาน​มา​นี้ มี​ความ​พยายาม​อย่าง​มาก​ที่​จะ​ฟื้น​ความ​สนใจ​ใน​อักษร​บามัม​ขึ้น​มา​ใหม่. อิบราฮิม บอมโบ โจยา สุลต่าน​องค์​ปัจจุบัน ทรง​เปิด​โรง​เรียน​ขึ้น​ใน​บริเวณ​พระ​ราชวัง​ที่​พระ​อัยกา​ของ​พระองค์​ได้​สร้าง​ไว้. ที่​โรง​เรียน​แห่ง​นี้ นัก​เรียน​ใน​ท้องถิ่น​จะ​ได้​เรียน​ระบบ​การ​เขียน​แบบ​บามัม​อีก​ครั้ง​หนึ่ง เพื่อ​อนุรักษ์​ไว้​ไม่​ให้​สาบสูญ​ไป.

[ภาพ​หน้า 27]

แผ่น​จารึก​แสดง​ราชวงศ์​บามัม​ตั้ง​แต่​สมัย​ศตวรรษ​ที่ 14 มา​จน​ถึง​ปัจจุบัน ด้าน​ซ้าย​จารึก​โดย​ใช้​ตัว​อักษร​โรมัน ส่วน​ด้าน​ขวา​เป็น​อักษร​บามัม

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 26]

All photos: Courtesy and permission of Sultan Ibrahim Mbombo Njoya, Foumban, Cameroon