เผชิญกับข้อท้าทายที่เกิดจากกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์
เผชิญกับข้อท้าทายที่เกิดจากกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในบริเตน
คุณอยากมีเพื่อน แต่การพูดคุยกับคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย. กระนั้น คุณสามารถพูดได้เป็นชั่วโมง ๆ ในเรื่องที่คุณชอบ. คุณชอบทำอะไรเป็นกิจวัตร; การเปลี่ยนสิ่งที่ทำอยู่เป็นประจำอาจทำให้คุณหงุดหงิด. บ่อยครั้ง คุณรู้สึกกังวลและข้องขัดใจ แถมบางครั้งคุณยังซึมเศร้าด้วย.
ผู้คนเข้าใจคุณผิด. พวกเขาบอกว่าคุณเป็นคนประหลาด, เข้ากับคนยาก, หรือถึงกับหยาบคายเสียด้วยซ้ำ. คุณรู้สึกว่ายากที่จะเข้าใจความคิดและความรู้สึกของคนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณไม่สามารถอ่านสีหน้าหรือท่าทางที่พวกเขาแสดงออกมา. หลายคนที่เป็นแอสเพอร์เกอร์มักจะเผชิญกับสถานการณ์ที่กล่าวมานั้นอยู่เป็นประจำ.
คนที่เป็นแอสเพอร์เกอร์จะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับคนทั่ว ๆ ไป และบ่อยครั้งพวกเขาก็ฉลาดมากด้วย. อย่างไรก็ตาม พวกเขามีพัฒนาการที่ผิดปกติในส่วนของระบบประสาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิธีที่พวกเขาสื่อความและปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ. กลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์มีหลากหลายลักษณะ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนก็ต่างกัน. กระนั้น คนที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ก็อาจเผชิญกับข้อท้าทายเหล่านี้ได้. ขอพิจารณาเรื่องราวของแคลร์.
ในที่สุดก็ได้รับการวินิจฉัย!
ในวัยเด็ก แคลร์พูดน้อยมากและชอบเก็บตัว. เธอไม่กล้าสบตาผู้คนและกลัวเมื่อเห็นคนมาก ๆ. เธอพูดได้ชัดถ้อยชัดคำแม้แต่ตอนที่เธอยังเป็นเด็กมาก แต่เธอจะใช้คำพูดน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และพูดเสียงระดับเดียวกันตลอด. เธอชอบทำอะไรเป็นกิจวัตร และจะวิตกกังวลหากมีการเปลี่ยนให้เธอไปทำอะไรอย่างอื่น.
ที่โรงเรียน ครูหลายคนรู้สึกเอือมระอากับแคลร์ เพราะพวกเขาคิดว่าเธอเจตนาก่อเรื่อง และเด็กคนอื่น ๆ ก็ชอบแกล้งเธอ. คุณแม่ของเธอก็ทุกข์ใจเช่นกัน เนื่องจากถูกคนอื่นตำหนิอย่างไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับพฤติกรรมของแคลร์. ในที่สุด คุณแม่ก็ตัดสินใจสอนหนังสือให้แคลร์เองที่บ้าน ในช่วงปีท้าย ๆ ของการศึกษา.
หลังจากนั้น แคลร์ได้งานทำหลายแห่ง แต่ก็ถูกให้ออกจากงานหมดทุกแห่ง เนื่องจากเธอไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนกิจวัตรและสิ่งที่มีการคาดหมายจากเธอ. งานที่สุดท้ายที่เธอทำ ซึ่งอยู่ในบ้านพักคนชรา ผู้ดูแลบ้านพักสังเกตว่ามีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติมาก. ในที่สุดเมื่อแคลร์อายุ 16 ปี เธอก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นแอสเพอร์เกอร์.
ในที่สุด คุณแม่ของแคลร์ก็รู้ว่าทำไมลูกสาวของตนจึงมีพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนอื่นมาก. เพื่อนคนหนึ่งได้พบข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ และเมื่อแคลร์อ่านข้อมูลเหล่านั้น เธอก็ถามด้วยความประหลาดใจว่า “หนูทำอย่างนั้นจริง ๆ หรือ? หนูเป็นอย่างนั้นหรือคะ?” สำนักงานบริการสังคมในท้องถิ่นได้แนะนำให้แคลร์ทำกิจกรรมบำบัด. คริส
พยานพระยะโฮวาที่เคยมีประสบการณ์ในการช่วยเหลือเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษ ได้เตรียมการให้แคลร์ซึ่งก็เป็นพยานฯ ไปทำงานอาสาสมัครและดูแลอาคารหลังหนึ่งซึ่งพยานฯ ใช้เพื่อการนมัสการของคริสเตียน.เรียนที่จะ “อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง”
ในตอนแรก ๆ แคลร์ไม่ค่อยพูดจากับเพื่อน ๆ ที่เป็นอาสาสมัครด้วยกัน. เมื่อเธอมีปัญหา เธอก็เขียนใส่กระดาษให้คริส เนื่องจากการเขียนง่ายกว่าการถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นคำพูด. คริสค่อย ๆ ชวนเธอมานั่งคุยกับเขาและพูดถึงปัญหาต่าง ๆ อย่างเปิดอก. ดังที่เขาบอก เขาเพียรสอนเธอด้วยความอดทนเพื่อเธอจะ “อยู่ในโลกของความเป็นจริง.” เขาอธิบายกับเธอว่า การหลีกเลี่ยงไม่ข้องเกี่ยวกับคนอื่นและทำเฉพาะแต่สิ่งที่ตัวเองชอบนั้นไม่สอดคล้องกับ “โลกแห่งความเป็นจริง.” ด้วยความช่วยเหลือเช่นนั้น แคลร์เริ่มเรียนที่จะร่วมมือกับคนอื่นเพื่อทำงานให้เสร็จ.
ประสบการณ์ในอดีตที่ไม่น่ายินดีของแคลร์ทำให้เธอเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง ดังนั้น เมื่อมีการขอให้เธอทำงานอะไรก็ตาม เธอจะตอบทันทีว่า “ฉันทำไม่ได้.” คริสแก้ปัญหานี้อย่างไร? เขาจะให้เธอทำงานชิ้นเล็ก ๆ และอธิบายว่า “ทำอย่างนี้นะ” แล้วก็พูดต่อว่า “เธอก็ทำได้.” เมื่อเธอทำสำเร็จ เธอรู้สึกมีความสุขมาก. คริสชมเชยเธออย่างกรุณาแล้วก็ให้เธอทำงานชิ้นอื่นอีก. การจำคำสั่งที่ยืดยาวนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับแคลร์ แต่การดูรายการที่เขียนเป็นข้อ ๆ นั้นไม่เป็นปัญหาเลย. ทีละเล็กทีละน้อย เธอก็รู้สึกมั่นใจขึ้นว่าเธอสามารถทำงานต่าง ๆ ได้.
เนื่องจากแคลร์ไม่ชอบที่ที่มีผู้คนมากมาย การพูดคุยกับคนอื่น ๆ ณ การประชุมคริสเตียนเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเธอ. เธอชอบนั่งคนเดียวในเก้าอี้แถวหน้าของหอประชุม. อย่างไรก็ตาม เธอตั้งเป้าให้ตัวเองว่า หลังจากจบการประชุมเธอจะรีบเดินไปด้านหลังหอประชุม แล้วเข้าไปทักทายพูดคุยกับพี่น้องคริสเตียนสักคนหนึ่ง.
ต่อมา แคลร์เริ่มพูดคุยกับหลายคนมากขึ้น. เธอบอกว่า “แต่มันไม่ง่ายเลย.” ถึงแม้ว่าอาการของเธอทำให้การพูดคุยกับคนอื่นเป็นเรื่องยาก แต่เธอก็ทำส่วนในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าอยู่เป็นประจำ ซึ่งโรงเรียนนี้จัดขึ้นเพื่อช่วยพยานพระยะโฮวาทุกคนให้สามารถพูดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น.
เอาชนะอุปสรรคที่ใหญ่กว่า
เมื่อแคลร์มีความมั่นใจมากขึ้นแล้ว คริสได้แนะเธอให้ลองเป็นไพโอเนียร์สมทบ คำที่พยานพระยะโฮวาใช้เรียกพยานฯ ที่รับบัพติสมาแล้ว ซึ่งใช้เวลา 50 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นในแต่ละเดือนในการพูดคุยกับคนอื่น ๆ ถึงเรื่องความเชื่อของพวกเขาที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. แคลร์ตอบว่า “หนูทำไม่ได้.”
อย่างไรก็ตาม คริสได้หนุนใจเธอโดยพูดว่า ถึงแม้เธอจะไม่บรรลุเป้า 50 ชั่วโมงในเดือนนั้น แต่อย่างน้อยเธอก็คงจะมีความสุขที่ได้พยายาม. ดังนั้น แคลร์จึงลองพยายามทำดู และเธอก็รู้สึกชอบงานนี้จริง ๆ. เธอเป็นไพโอเนียร์สมทบอีกหลายครั้ง แล้วเธอก็ยิ่งชอบงานนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ. งานนี้ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้เธอ โดยเฉพาะเมื่อเธอได้พบผู้คนมากมายที่ต้องการเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล.
แคลร์ใส่ใจกับเรื่องที่เธอได้ฟัง ณ การประชุมคริสเตียน ซึ่งหนุนใจให้พิจารณาว่ามีอะไรไหมที่เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เป็นไพโอเนียร์ประจำ หรือผู้เผยแพร่เต็มเวลา. เธอตัดสินใจเป็นไพโอเนียร์ประจำ. ผลเป็นอย่างไร? จากคำพูดของแคลร์ “นี่เป็นการทำสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ!” เธอสนิทกับคนอื่น ๆ ในประชาคมมากขึ้น และได้สร้างมิตรภาพกับอีกหลายคน. เด็ก ๆ ก็ชอบมาคุยเล่นกับเธอ และเธอก็ดีใจมากที่ได้ช่วยเด็กเหล่านั้นเมื่อทำงานเผยแพร่ด้วยกัน.
ให้การสนับสนุน
จริงอยู่ ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นแอสเพอร์เกอร์จะสามารถทำงานเผยแพร่เต็มเวลาได้. กระนั้น ประสบการณ์ของแคลร์เป็นหลักฐานยืนยันว่า คนที่มีอาการดังกล่าวสามารถทำอะไร ๆ ได้มากกว่าที่พวกเขาอาจจะรู้ด้วยซ้ำ. ตารางเวลาที่แคลร์ทำเป็นประจำช่วยสนองความต้องการของเธอที่ชอบทำอะไรเป็นกิจวัตร และความสำนึกในหน้าที่รวมทั้งการเป็นคนที่ไว้ใจได้ก็ช่วยเธอให้ทำงานประจำชีพที่เธอเลือกได้อย่างดีเยี่ยม.
แคลร์รู้สึกว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้คนจะรู้ว่าเธอเป็นแอสเพอร์เกอร์ เพื่อพวกเขาจะเข้าใจว่าทำไมเธอจึงมองโลกและทำอะไร ๆ ในวิธีที่ต่างจากคนอื่น. เธออธิบายว่า “เพราะว่าบางครั้งคุณจะถ่ายทอดความรู้สึกออกมาได้ไม่ชัดเจน ผู้คนจึงมองว่าคุณคิดไม่เป็น.” การที่มีใครสักคนหนึ่งที่คุณสามารถพูดคุยได้ทุกเรื่องนับว่าเป็นประโยชน์มาก.
สำหรับคนที่มีอาการคล้าย ๆ กันนี้ ทั้งคริสและแคลร์แนะให้ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ขึ้นมา แล้วก็ค่อย ๆ ทำไปทีละอย่าง. การได้รับความช่วยเหลือจากใครสักคนที่เข้าใจคนที่เป็นแอสเพอร์เกอร์นั้นอาจเป็นเรื่องสำคัญมาก. ผลก็คือ ความรู้สึกที่ว่าตัวเองมีค่าอาจได้รับการเสริมสร้างขึ้นและอาจช่วยให้เอาชนะข้อท้าทายต่าง ๆ ได้.
เรื่องราวของแคลร์แสดงว่า ด้วยความอดทนและการหนุนกำลังใจก็อาจช่วยคนเหล่านั้นที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ได้มาก. แคลร์ยืนยันเรื่องนี้โดยกล่าวว่า “เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ดิฉันไม่เคยนึกฝันเลยว่าดิฉันจะสามารถทำอะไร ๆ ได้อย่างที่ทำอยู่ในเวลานี้.”
[คำโปรยหน้า 24]
แคลร์รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้คนจะรู้ว่าเธอเป็นแอสเพอร์เกอร์
[กรอบหน้า 22]
กลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์
กลุ่มอาการนี้ถูกเรียกตามชื่อของดร. ฮันส์ แอสเพอร์เกอร์ ซึ่งได้อธิบายถึงเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในปี 1944. อย่างไรก็ตาม เพียงไม่กี่ปีมานี้เองที่ได้มีการค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจังเพื่อจะเข้าใจและช่วยเหลือคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นแอสเพอร์เกอร์. พวกนักวิจัยด้านการแพทย์ไม่สามารถบอกได้ว่าแอสเพอร์เกอร์เป็นออทิสติกชนิดที่ไม่รุนแรงแบบหนึ่งหรือไม่ หรือเป็นความผิดปกติอีกชนิดหนึ่ง. ตราบจนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่ากลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์มีสาเหตุมาจากอะไร. อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการนี้ไม่ได้เกิดจากการขาดความรักความอบอุ่น หรือวิธีที่เด็กได้รับการเลี้ยงดู.
[กรอบหน้า 24]
การช่วยเหลือคนที่เป็นแอสเพอร์เกอร์
จงแสดงความสนใจคนเหล่านั้นที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ และพยายามที่จะทำความรู้จักพวกเขา. ถึงแม้พวกเขาอาจจะรู้สึกว่ายากที่จะเป็นฝ่ายเริ่มการสนทนา แต่ขอให้ตระหนักว่าคนเหล่านั้นอยากมีเพื่อนและต้องการเพื่อน. พวกเขาไม่ได้จงใจที่จะทำตัวให้เข้ากับคนอื่นยากหรือแกล้งทำอะไรแปลก ๆ.
จงอดทน และพยายามเข้าใจปัญหาของพวกเขา. นอกจากนี้ ขอให้ตระหนักว่าคุณต้องอธิบายเรื่องต่าง ๆ อย่างละเอียดและชัดเจน เพราะพวกเขาอาจจะเข้าใจสิ่งที่คุณพูดตามตัวอักษรจริง ๆ. ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนสิ่งที่เขาทำอยู่เป็นประจำ ก็ควรอธิบายรายละเอียดให้ชัดเจน บางทีอาจถึงกับต้องสาธิตให้ดูใหม่ว่าคุณคาดหมายจะให้พวกเขาทำอย่างไร.
ถ้าคุณรู้สึกว่าพวกเขากำลังวิตกกังวลอย่างหนักเกี่ยวกับอะไรก็ตามที่พวกเขามองเห็นหรือได้ยิน ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้พวกเขารู้สึกไม่สบายใจ ก็ให้ชวนพวกเขาหันไปสนใจสิ่งอื่นแทน อย่างเช่น การดูภาพที่สวยงามหรือการฟังดนตรีเบา ๆ.
[ภาพหน้า 23]
แคลร์เรียนที่จะเป็นฝ่ายเข้าไปพูดคุยเป็นเพื่อนกับคนอื่นก่อน
[ภาพหน้า 23]
คริสอธิบายกับแคลร์ถึงวิธีที่จะร่วมมือกับคนอื่นเพื่อจะทำงานให้เสร็จ