ความผิดพลาดที่ทำให้เกิดสงครามโลก
ความผิดพลาดที่ทำให้เกิดสงครามโลก
สงครามโลกครั้งที่สามอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ตั้งใจไหม? เป็นไปได้ไหมที่พวกผู้นำรัฐบาลและที่ปรึกษาทางทหารคาดคะเนสถานการณ์ผิดพลาดอย่างร้ายแรงและทำให้มนุษย์นับล้านต้องเสียชีวิต?
เราไม่รู้. แต่ที่เรารู้คือเหตุการณ์เช่นนั้นเคยเกิดขึ้นแล้ว. เมื่อหนึ่งศตวรรษที่แล้ว ผู้นำรัฐบาลต่าง ๆ ในยุโรปได้พาชาติของตนเข้าสู่มหาสงคราม ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยที่พวกเขาไม่รู้เลยว่าเหตุการณ์ที่จะตามมาน่าสะพรึงกลัวขนาดไหน. เดวิด ลอยด์ จอร์จ นายกรัฐมนตรีแห่งบริเตนระหว่างปี 1916-1922 กล่าวว่า “เราเข้าสู่สงครามอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว.” ให้เรามาดูเหตุการณ์สำคัญ ๆ ซึ่งนำไปสู่การฆ่าฟันกันอย่างน่าสยดสยอง.
นักประวัติศาสตร์ชื่อ เอ. เจ. พี. เทย์เลอร์ เขียนว่า “ในตอนนั้นไม่มีผู้นำรัฐบาลคนใดต้องการให้เกิดสงครามที่ลุกลามไปทั่วโลก. แต่พวกเขาต้องการข่มขู่และเอาชนะ.” พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียคิดว่าต้องทำทุกวิถีทางเพื่อคงไว้ซึ่งสันติภาพ. ท่านไม่ต้องการเป็นผู้รับผิดชอบต่อการรบราฆ่าฟันกันอย่างโหดเหี้ยม. อย่างไรก็ตาม กระสุนสองนัดที่ยิงออกไปราว ๆ 11:15 น. ในวันที่ 28 มิถุนายน 1914 ก็จุดชนวนให้เหตุการณ์บานปลายจนเกินจะควบคุมได้.
กระสุนสองนัดที่เปลี่ยนโลก
พอถึงปี 1914 การแข่งขันกันระหว่างชาติมหาอำนาจในยุโรปที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อยาวนานทำให้ชาติต่าง ๆ เกิดความตึงเครียดเป็นอย่างมาก อีกทั้งทำให้เกิดพันธมิตรสองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กัน: ฝ่ายหนึ่งคือสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยออสเตรีย-ฮังการี, อิตาลี, และเยอรมนี ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคือความตกลงไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยบริเตน, ฝรั่งเศส, และรัสเซีย. ยิ่งกว่านั้น ชาติเหล่านี้มีความผูกพันทางการเมืองและเศรษฐกิจกับชาติอื่น ๆ อีกหลายชาติรวมทั้งแถบคาบสมุทรบอลข่าน.
ในตอนนั้นแถบคาบสมุทรบอลข่านเป็นพื้นที่ที่อ่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากถูกชาติที่มีอำนาจเข้มแข็งกว่าแย่งชิง และภูมิภาคแถบนี้มีองค์กรลับมากมายที่วางแผนจะแยกตนเป็นเอกราช. ในพื้นที่นี้เองมีวัยรุ่นกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งวางแผนจะลอบสังหารอาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินันด์ แห่งออสเตรียขณะมาเยือนกรุงซาราเยโว นครหลวงแห่งบอสเนียในวันที่ 28 มิถุนายน. * เนื่องจากมีตำรวจคุ้มกันอยู่ไม่มากพวกเขาจึงปฏิบัติการได้ง่ายขึ้น. แต่พวกที่จะลอบสังหารแทบไม่ได้รับการฝึกฝนมาเลย. วัยรุ่นคนหนึ่งขว้างระเบิดลูกเล็ก ๆ ใส่แต่พลาดเป้า ส่วนคนอื่น ๆ ก็ไม่ได้ลงมือเมื่อถึงเวลา. ผู้ร่วมก่อการอีกคนหนึ่งคือกาฟริโล ปรินซิพทำสำเร็จก็เพราะความบังเอิญแท้ ๆ. เหตุการณ์เป็นอย่างไร?
เมื่อปรินซิพเห็นอาร์ชดุ๊กนั่งรถผ่านไปโดยไม่ได้รับอันตรายใด ๆ จากระเบิด เขาจึงพยายามจะเข้า * ปรินซิพซึ่งเป็นนักชาตินิยมชาวเซิร์บที่ไม่ประสีประสาไม่รู้เลยว่าตนได้จุดชนวนให้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง. แต่ก็ไม่อาจโทษเขาเพียงคนเดียวได้สำหรับความสยดสยองที่ตามมา.
ไปที่รถแต่เข้าไม่ได้. เขาข้ามถนนไปที่ร้านกาแฟด้วยความหมดหวัง. ระหว่างนั้น อาร์ชดุ๊กซึ่งกำลังฉุนเฉียวเพราะการขว้างระเบิดได้ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง. อย่างไรก็ตาม คนขับรถไม่รู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการเขาจึงขับรถไปผิดทาง และจำเป็นต้องเลี้ยวรถกลับ. ขณะนั้นเอง ปรินซิพเดินออกมาจากร้านกาแฟ และเห็นอาร์ชดุ๊กนั่งในรถเปิดประทุนห่างออกไปไม่ถึงสามเมตร. ปรินซิพเข้าไปใกล้รถแล้วยิงปืนสองนัด ทำให้อาร์ชดุ๊กและชายาสิ้นพระชนม์.พร้อมทำสงคราม
ก่อนปี 1914 ชาวยุโรปส่วนใหญ่คิดว่าการทำสงครามเป็นสิ่งที่น่าเชิดชู. พวกเขามองว่าสงครามมีประโยชน์, น่ายกย่อง, และมีเกียรติทั้ง ๆ ที่พวกเขาอ้างว่าเป็นคริสเตียน. ผู้นำรัฐบาลบางคนถึงกับเชื่อว่าสงครามจะผนึกชาติของตนให้เป็นหนึ่งเดียวและปลุกเร้าประชาชนให้ฮึกเหิม! นอกจากนั้น แม่ทัพบางคนก็รับรองกับพวกผู้นำของตนว่าฝ่ายตนจะชนะสงครามได้อย่างเด็ดขาดภายในเวลาอันรวดเร็ว. แม่ทัพชาวเยอรมันคนหนึ่งคุยโวว่า “เราจะยึดฝรั่งเศสได้ภายในสองสัปดาห์.” ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าชายหนุ่มนับล้าน ๆ คนจะต้องไปรบอยู่ในสนามเพลาะเป็นเวลาหลายปี.
ยิ่งกว่านั้น หนังสือการร่วมมือกันภายใต้อนาธิปไตย (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า ในช่วงก่อนสงคราม “ความคลั่งชาติแบบสุดขั้วแผ่คลุมไปทั่วยุโรป. โรงเรียน, มหาวิทยาลัย, หนังสือพิมพ์, และนักการเมืองต่างก็ส่งเสริมความคิดเรื่องชาตินิยมที่สุดโต่งรวมทั้งการแสวงหาเกียรติยศให้ตัวเอง.”
พวกผู้นำศาสนาแทบไม่ได้ห้ามปรามประชาชนให้เลิกความคิดที่มุ่งล้างผลาญกัน. นักประวัติศาสตร์ชื่อพอล จอห์นสันกล่าวว่า “ฝ่ายหนึ่งก็คือเยอรมนีที่เป็นโปรเตสแตนต์, ออสเตรียที่เป็นคาทอลิก, บัลแกเรียที่เป็นออร์โทด็อกซ์และตุรกีที่เป็นมุสลิม. ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคือบริเตนที่เป็นโปรเตสแตนต์ ฝรั่งเศสและอิตาลีที่เป็นคาทอลิก, และรัสเซียที่เป็นออร์โทด็อกซ์.” เขากล่าวเสริมว่า นักเทศน์นักบวชส่วนใหญ่ “ถือว่าถ้าเป็นคริสเตียนก็ต้องรักประเทศชาติ. ทหารที่อ้างว่าเป็นคริสเตียนจากทุกนิกายถูกปลุกเร้าให้ฆ่ากันเองในนามของพระผู้ช่วยให้รอด.” แม้แต่บาทหลวงกับแม่ชีก็ถูกระดมไปสู้รบ และต่อมาบาทหลวงหลายพันคนเสียชีวิตระหว่างการรบ.
เจตนารมณ์ของพันธมิตรฝ่ายต่าง ๆ ในยุโรปก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามขนาดใหญ่ แต่พันธมิตรฝ่ายต่าง ๆ อาจ
มีส่วนทำให้เกิดสงครามเสียเอง. โดยวิธีใด? หนังสือการร่วมมือกันภายใต้อนาธิปไตย กล่าวว่า “ความมั่นคงของประเทศใหญ่ ๆ ในยุโรปเกี่ยวพันกันอย่างเหนียวแน่น. แต่ละประเทศรู้สึกว่าความมั่นคงของตนขึ้นอยู่กับความมั่นคงของประเทศพันธมิตร และจึงคิดว่าต้องรีบไปช่วยปกป้องพันธมิตรของตน แม้ว่าประเทศนั้นจะเป็นฝ่ายยั่วยุให้เกิดการโจมตีก็ตาม.”ปัจจัยเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งคือ แผนชลีฟเฟนของเยอรมนีซึ่งถูกตั้งชื่อตามอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมนี นายพลอัลเฟรด ฟอน ชลีฟเฟน. แผนนี้ซึ่งกำหนดให้มีการจู่โจมระลอกแรกอย่างฉับไว ถูกร่างขึ้นบนสมมุติฐานที่ว่า เยอรมนีจะต้องสู้กับทั้งฝรั่งเศสและรัสเซีย. ดังนั้น เป้าหมายคือพิชิตฝรั่งเศสอย่างรวดเร็วขณะที่รัสเซียยังระดมพลอยู่ แล้วจึงค่อยมาโจมตีรัสเซีย. สารานุกรม เดอะ เวิลด์ บุ๊ก กล่าวว่า “เมื่อเริ่มดำเนินการตามแผน [ชลีฟเฟน] การที่ฝ่ายต่าง ๆ เป็นพันธมิตรกันทางทหารทำให้แทบจะแน่ใจได้เลยว่าต้องเกิดสงครามใหญ่ไปทั่วยุโรป.”
เหตุการณ์เริ่มลุกลาม
แม้ว่าการสืบสวนอย่างเป็นทางการไม่พบหลักฐานที่จะเอาผิดกับรัฐบาลเซอร์เบียในเหตุการณ์ลอบสังหารอาร์ชดุ๊ก ออสเตรียก็ยังตั้งใจจะยุติการก่อกวนของชาวสลาฟให้หมดสิ้นไปจากจักรวรรดิ. นักประวัติศาสตร์ชื่อ เจ. เอ็ม. โรเบิตส์ กล่าวว่า ออสเตรียต้องการ “สอนบทเรียนให้เซอร์เบีย.”
ด้วยความพยายามที่จะปลดชนวนความตึงเครียด นิโคลัส ฮาร์ทวิก เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำนครหลวงของเซอร์เบีย ดำเนินการเพื่อจะไกล่เกลี่ยข้อพิพาท. แต่เขาหัวใจวายและเสียชีวิตขณะพบกับผู้แทนของออสเตรีย. ในที่สุด วันที่ 23 กรกฎาคม ออสเตรียส่งข้อเรียกร้องต่าง ๆ มาให้เซอร์เบียซึ่งเท่ากับเป็นการยื่นคำขาด. เนื่องจากเซอร์เบียไม่อาจยอมรับข้อเรียกร้องทั้งหมดได้ ออสเตรียจึงตัดความสัมพันธ์ทางการทูตทันที. ในช่วงวิกฤตินั้นเอง การเจรจาทางการทูตก็ขาดสะบั้น.
ถึงกระนั้น ยังมีความพยายามอยู่บ้างที่จะป้องกันไม่ให้เกิดสงคราม. ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักรเสนอแนะให้มีการประชุมระหว่างชาติ และไคเซอร์แห่งเยอรมนีขอร้องพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียไม่ให้เคลื่อนพล. แต่เหตุการณ์บานปลายจนเกินจะควบคุมได้. หนังสือกิจการแห่งสงคราม (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “บรรดาผู้นำรัฐบาล, เหล่านายพล, และคนในชาติต่างก็ตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ร้ายแรงซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น.”
จักรพรรดิออสเตรียซึ่งได้รับคำมั่นจากเยอรมนีว่าจะให้การสนับสนุน ได้ประกาศสงครามกับเซอร์เบียเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม. รัสเซียสนับสนุนเซอร์เบีย และพยายามจะยับยั้งกำลังทหารของออสเตรียโดยประกาศระดมทหารรัสเซียประมาณหนึ่งล้านนายให้มาประจำอยู่ตามแนวชายแดนออสเตรีย. นั่นจึงทำให้ชายแดนของรัสเซียด้านที่ติดกับเยอรมนีไม่ได้รับการป้องกัน พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียจึงสั่งให้มีการระดมพลทั้งหมดทั้ง ๆ ที่ยังลังเล.
พระเจ้าซาร์พยายามจะรับรองกับไคเซอร์ว่า รัสเซียไม่มีแผนจะบุกเยอรมนี. กระนั้นก็ดี การระดมพลของรัสเซียก็ทำให้แผนการทำสงครามของเยอรมนีเดินหน้าเต็มตัว และในวันที่ 31 กรกฎาคม เยอรมนีจึงเริ่มดำเนินตามแผนรบชลีฟเฟน โดยประกาศสงครามกับรัสเซียเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม และประกาศสงครามกับฝรั่งเศสในอีกสองวันต่อมา. เนื่องจากแผนการทำสงครามของเยอรมนีกำหนดให้เดินทัพผ่านเบลเยียม บริเตนจึงเตือนเยอรมนีว่าตนจะประกาศสงครามกับเยอรมนีถ้าละเมิดความเป็นกลางของเบลเยียม. กองทัพเยอรมันเข้าไปในเบลเยียมเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม. ไม่อาจจะเลี่ยงสงครามได้แล้ว.
“ความล้มเหลวทางการทูตที่เลวร้ายที่สุดในสมัยปัจจุบัน”
นักประวัติศาสตร์ชื่อนอร์แมน เดวีส์ เขียนว่า “การประกาศสงครามของบริเตนเป็นจุดสุดยอดของความล้มเหลวทางการทูตที่เลวร้ายที่สุดในสมัยปัจจุบัน. นักประวัติศาสตร์อีกคนหนึ่งชื่อเอดมันด์ เทย์เลอร์ได้เขียนว่า หลังจากออสเตรียประกาศสงครามในวันที่ 28 กรกฎาคม “ความสับสนวุ่นวายเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิด [สงคราม]. มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและในหลายแห่ง. . . . แม้แต่คนฉลาดเฉียบแหลมและคิดอย่างเป็นระบบที่สุดก็ไม่สามารถประเมินและซึมซับข้อมูลที่ประดังเข้ามาได้.”
ทหารและพลเรือนมากกว่า 13 ล้านคนต้องเสียชีวิตเนื่องจาก “ความสับสนวุ่นวาย” ครั้งนั้น. ความคิดในแง่บวกเกี่ยวกับอนาคตและความเป็นมนุษย์ก็สูญสลายไปด้วยเมื่อผู้ที่ถูกเรียกว่าอารยชนจับอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงที่คิดค้นขึ้นมาใหม่และผลิตในปริมาณมหาศาล เข่นฆ่ากันเองในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน. โลกไม่มีวันจะกลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว.—ดูกรอบ “สงครามโลก—สัญญาณของยุคนี้หรือ?”
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 ปัจจุบันบอสเนียเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา.
^ วรรค 8 ปรินซิพสังหารชายาของอาร์ชดุ๊กโดยบังเอิญ. เขาตั้งใจยิงผู้สำเร็จราชการแห่งบอสเนียคือนายพลโปติโอเรค ซึ่งนั่งในรถคันเดียวกันนั้นแต่มีอะไรบางอย่างมากีดขวางทำให้เขายิงพลาดไป.
[กรอบ/ภาพหน้า 20]
สงครามโลก—สัญญาณของยุคนี้หรือ?
คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าว่า สงครามจะเป็นหนึ่งในสัญญาณที่บอกถึงสมัยสุดท้ายของโลกชั่วในปัจจุบัน. (มัดธาย 24:3, 7; วิวรณ์ 6:4) เมื่อสัญญาณนั้นเกิดขึ้นจริงก็แสดงว่าเรากำลังเข้าใกล้เวลาที่รัฐบาลราชอาณาจักรของพระเจ้าจะปกครองแผ่นดินโลกอย่างเด็ดขาดแล้ว.—ดานิเอล 2:44; มัดธาย 6:9, 10
ยิ่งกว่านั้น ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะขจัดอำนาจที่มองไม่เห็นซึ่งอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ในโลก คือกายวิญญาณชั่วที่นำโดยซาตานพญามาร. 1 โยฮัน 5:19 กล่าวว่า “โลกทั้งโลกอยู่ในอำนาจตัวชั่วร้าย.” อิทธิพลชั่วของซาตานมีส่วนทำให้เกิดความหายนะหลายครั้งหลายหนกับมนุษยชาติ ซึ่งแน่นอนว่ารวมไปถึงเหตุการณ์อันเลวร้ายที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วย.—วิวรณ์ 12:9-12 *
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 30 จะพบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมัยสุดท้ายและกายวิญญาณชั่วเหล่านี้ได้ในคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ชื่อว่าคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[ที่มาของภาพ]
U.S. National Archives photo
[ภาพหน้า 19]
การลอบสังหารอาร์ชดุ๊ก เฟอร์ดินันด์
[ที่มาของภาพ]
© Mary Evans Picture Library