ฉันจะทำอย่างไรถ้าพ่อหรือแม่เสียชีวิต?
หนุ่มสาวถามว่า
ฉันจะทำอย่างไรถ้าพ่อหรือแม่เสียชีวิต?
“เมื่อแม่ตาย ฉันรู้สึกเคว้งคว้างและโดดเดี่ยว. แม่เป็นเสมือนกาวที่ผนึกครอบครัวเราไว้ด้วยกัน.”—คารีน *
มีไม่กี่อย่างในชีวิตที่ส่งผลกระทบต่อคุณมากเท่ากับตอนที่พ่อหรือแม่เสียชีวิต. คุณไม่เพียงต้องทนกับความปวดร้าวจากการสูญเสีย แต่คุณยังต้องเผชิญอนาคตที่ต่างออกไปจากที่คุณเคยคาดหวัง.
บางทีคุณอาจตั้งความหวังไว้ว่าพ่อหรือแม่ที่รักของคุณจะได้เห็นตอนที่คุณได้ใบขับขี่ครั้งแรก หรือตอนที่คุณจบการศึกษา หรือร่วมในงานสมรสของคุณ. ตอนนี้ ความหวังทั้งหมดไม่มีวันเป็นจริงได้อีกแล้ว คุณจึงเศร้าใจ, ข้องขัดใจ, หรือถึงกับโกรธด้วยซ้ำ. คุณจะสู้กับความรู้สึกที่ถาโถมเข้ามาเนื่องจากการสูญเสียพ่อหรือแม่ได้อย่างไร?
‘ฉันปกติดีอยู่ไหม?’
ครั้งแรกที่คุณรับรู้ว่าพ่อหรือแม่เสียชีวิต คุณอาจต้องเผชิญความรู้สึกต่าง ๆ นานาอย่างที่คุณไม่เคยประสบมาก่อน. ไบรอันซึ่งอายุเพียง 13 ปีตอนที่พ่อเสียชีวิตเนื่องจากหัวใจล้มเหลวกล่าวว่า “ในคืนนั้นที่เรารู้ข่าว เราได้แต่นั่งกอดกันและร้องไห้.” นาตาลีซึ่งอายุสิบขวบตอนที่พ่อเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งบอกว่า “ตอนนั้นฉันไม่รู้ว่าควรจะรู้สึกอย่างไร. ความรู้สึกของฉันมันชาไปหมด.”
แต่ละคนมีปฏิกิริยาแตกต่างกันเมื่อคนที่รักตายไป. ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ต่างคนต่างรู้สึกความเจ็บป่วย หรือความทุกข์ร้อนใจของตน.” (2 โครนิกา 6:29) เมื่อคำนึงถึงข้อนี้ ขอใช้เวลาสักครู่หนึ่งคิดดูว่าความตายของพ่อหรือแม่ส่งผลต่อตัวคุณ อย่างไร. จงเขียนข้างล่างว่า (1) คุณรู้สึกอย่างไรในตอนแรกที่รู้ว่าพ่อหรือแม่เสียชีวิต และ (2) คุณรู้สึกอย่างไรในตอนนี้. *
(1) ․․․․․
(2) ․․․․․
คำตอบของคุณอาจแสดงให้เห็นว่าความโศกเศร้าของคุณบรรเทาลงบ้างแล้ว. นี่เป็นเรื่องปกติ. ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณลืมพ่อหรือแม่ไปแล้ว. ในทางกลับกัน คุณอาจเห็นว่าความรู้สึกของคุณยังเหมือนเดิมหรือยิ่งรุนแรงขึ้นด้วยซ้ำ. บางทีความโศกเศร้าของคุณอาจเป็นเหมือนคลื่นกระทบฝั่งแล้วก็ไหลกลับไป แต่แล้วก็กลับมา “ซัดฝั่ง” อีกครั้งในช่วงที่ไม่คาดคิด. นี่ก็เป็นเรื่องปกติด้วย ถึงแม้จะเป็นเช่นนี้หลังจากพ่อหรือแม่เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว. สิ่งสำคัญก็คือ คุณจะรับมืออย่างไรกับความโศกเศร้าไม่ว่าจะมาในลักษณะใด?
วิธีรับมือ
อย่ากลั้นน้ำตา! การร้องไห้ช่วยบรรเทาความเจ็บปวด. กระนั้น คุณอาจมีความรู้สึกเหมือนกับอะลิเชียซึ่งอายุ 19 ปีตอนที่แม่เธอเสียชีวิต. เธอเล่าว่า “ฉันกลัวว่าถ้าฉันแสดงความรู้สึกมากเกินไป คนอื่นจะคิดว่าฉันขาดความเชื่อ.” แต่คิดดูซิ พระเยซูคริสต์เป็นมนุษย์สมบูรณ์ซึ่งมีความเชื่อเข้มแข็งในพระเจ้า. กระนั้น พระองค์ “ทรงกันแสง” เมื่อลาซะโรสหายที่รักของพระองค์เสียชีวิต. (โยฮัน 11:35) ดังนั้น อย่ากลัวที่จะหลั่งน้ำตา. นั่นไม่ได้ หมายความว่าคุณขาดความเชื่อ! อะลิเชียบอกว่า “ในที่สุดฉันก็ร้องไห้น้ำตานองหน้าทุกวัน.” *
รับมือกับความรู้สึกผิด. คารีน ซึ่งอายุ 13 ปีตอนที่แม่เสียชีวิตกล่าวว่า “ฉันขึ้นไปชั้นบนและจูบราตรีสวัสดิ์กับคุณแม่ทุกคืน. มีอยู่คืนหนึ่งฉันไม่ได้ทำ. เช้าวันรุ่งขึ้นแม่เสียชีวิต. ถึงจะฟังดูไร้เหตุผล แต่ฉันรู้สึกผิดที่ไม่ได้ขึ้นไปหาแม่ในคืนสุดท้ายนั้น และก็รู้สึกผิดกับเหตุการณ์ในเช้าวันรุ่งขึ้น. ก่อนหน้าที่พ่อออกเดินทางไปทำธุรกิจได้สั่งฉันกับพี่สาวให้ดูแลแม่. แต่เรานอนตื่นสาย. พอฉันเข้าไปในห้องนอนแม่ แม่ก็สิ้นใจไปแล้ว. ฉันรู้สึกผิดมากเพราะตอนที่พ่อออกไปแม่ยังดี ๆ อยู่เลย!”
เช่นเดียวกับคารีน คุณอาจรู้สึกผิดอยู่บ้างที่ไม่ได้ทำสิ่งที่ควรจะทำ. คุณอาจถึงกับเป็นทุกข์เพราะเอาแต่คิดว่า “ถ้าเพียงแต่.” ‘ถ้าเพียงแต่ฉันรบเร้าพ่อให้ไปหาหมอ.’ ‘ถ้าเพียงแต่ฉันไปดูแม่เร็วกว่านี้.’ ถ้าคุณคอยพูดกับตัวเองอย่างนี้อยู่เรื่อย ๆ ขอให้จำไว้ว่าเป็นเรื่องปกติที่จะนึกเสียใจว่าคุณน่าจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง. ข้อเท็จจริงก็คือ ถ้าคุณรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นคุณคง ได้ทำอย่างนั้นไปแล้ว. แต่คุณไม่รู้. ดังนั้น คุณจึงไม่น่าจะรู้สึกผิด. คุณไม่ได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้พ่อหรือแม่เสียชีวิต! *
ระบายความรู้สึก. สุภาษิต 12:25 กล่าวว่า “คำปรานีทำให้คนเบิกบานใจ.” การเก็บกดความรู้สึกของคุณไว้อาจทำให้ยากที่จะรับมือกับความโศกเศร้าได้. ในทางตรงกัน ข้าม การบอกเล่าความรู้สึกของคุณกับใครสักคนที่คุณไว้ใจจะเปิดโอกาสให้คุณได้ฟัง “คำปรานี” ที่ให้กำลังใจคุณในยามที่ต้องการมากที่สุด. ดังนั้น คุณน่าจะลองทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้:
คุยกับพ่อหรือแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่. แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ยากลำบากสำหรับพ่อหรือแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ท่านก็ยังคงต้องการช่วยเหลือคุณ. ดังนั้น จงระบายความรู้สึกของคุณให้ท่านฟัง. การพูดคุยกันเช่นนั้นช่วยบรรเทาความโศกเศร้าของคุณ และทำให้คุณใกล้ชิดท่านมากขึ้น.
เพื่อจะเริ่มการสนทนา ลองวิธีนี้สิ: ทำรายการสองหรือสามเรื่องที่คุณคิดว่าน่าจะรู้ก่อนที่พ่อหรือแม่จะเสียชีวิต แล้วนำสักเรื่องหนึ่งมาคุยกับพ่อหรือแม่ที่ยังอยู่. *
․․․․․
คุยกับเพื่อนสนิท. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า เพื่อนแท้ “เกิดมาสำหรับช่วยกันในเวลาทุกข์ยาก.” (สุภาษิต 17:17) อะลิเชียบอกว่า “คนที่เราแทบไม่ได้คาดหวังอาจเป็นคนที่ช่วยเรา. อย่ากลัวที่จะพูดเรื่องนี้.” จริงอยู่ การพูดคุยอย่างนั้นอาจทำให้อึดอัดใจอยู่บ้าง เพราะคุณกับเพื่อนต่างก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร. ในระยะยาวแล้ว การพูดถึงความโศกเศร้าให้คนอื่นฟังจะช่วยคุณได้. เดวิดซึ่งอายุเพียงเก้าขวบตอนที่พ่อของเขาเสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลวเล่าว่า “ผมเก็บความรู้สึกทั้งหมดไว้กับตัวเอง. ถ้าผมได้พูดให้คนอื่นฟังบ้างคงจะเป็นผลดีต่อตัวเองทั้งด้านร่างกายและจิตใจ. นั่นคงจะช่วยบรรเทาความโศกเศร้าของผมได้บ้าง.”
สนทนากับพระเจ้า. คุณคงจะรู้สึกดีขึ้นมากถ้าคุณ “ระบายความในใจ” กับพระยะโฮวาพระเจ้าในคำอธิษฐาน. บทเพลงสรรเสริญ 62:8) การอธิษฐานไม่ใช่แค่ช่วยให้สบายใจเท่านั้น. เมื่อคุณอธิษฐาน คุณได้ทูลต่อ “พระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง ผู้ทรงชูใจเราทุกครั้งที่ตกอยู่ในความทุกข์ลำบาก.”—2 โครินท์ 1:3, 4
(วิธีหนึ่งที่พระเจ้าชูใจเราคือโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์. พระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถให้ “กำลังที่มากกว่าปกติ” แก่คุณเพื่อจะทนความปวดร้าวเนื่องจากการสูญเสียได้. (2 โครินท์ 4:7) พระเจ้าทรงให้ “การชูใจจากพระคัมภีร์” ด้วย. (โรม 15:4) ดังนั้น จงทูลขอพระวิญญาณจากพระเจ้า และใช้เวลาอ่านคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระองค์ที่ให้การชูใจ. (2 เทสซาโลนิเก 2:16, 17) ดีไหมถ้าจะทำรายการข้อคัมภีร์ที่ให้การชูใจคุณเป็นพิเศษ? *
ความเจ็บปวดจะหมดสิ้นไปไหม?
ใช่ว่าความโศกเศร้าจะมีอยู่เพียงชั่วข้ามคืน. บริแอนซึ่งอายุ 16 ปีตอนที่แม่เสียชีวิตกล่าวว่า “ไม่ใช่แค่คิดว่า ‘หยุดเศร้าสักที’ แล้วมันก็จะผ่านไปง่าย ๆ. บางวันฉันนอนร้องไห้จนหลับไป. ส่วนบางวันฉันไม่ครุ่นคิดถึงการสูญเสีย แต่จดจ่ออยู่กับสิ่งดี ๆ ที่พระยะโฮวาสัญญาจะให้ฉันกับแม่ในอุทยาน.”
คัมภีร์ไบเบิลรับรองว่า ในอุทยานที่บริแอนกล่าวถึงนั้น “ความตายจะไม่มีอีกเลย ความโศกเศร้าหรือเสียงร้องไห้เสียใจหรือความเจ็บปวดจะไม่มีอีกเลย.” (วิวรณ์ 21:3, 4) คุณก็อาจประสบด้วยเช่นกันว่าการคิดรำพึงถึงคำสัญญาดังกล่าวจะช่วยคุณให้รับมือกับการสูญเสียพ่อหรือแม่ได้.
ถ้าต้องการอ่านบทความชุด “หนุ่มสาวถามว่า” เพิ่มเติม ให้ดาวน์โหลดตื่นเถิด! ฉบับอื่น ๆ จากเว็บไซต์ www.ps8318.com
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.
^ วรรค 8 ถ้าตอนนี้คุณรู้สึกว่ายากเกินไปที่จะตอบคำถามสองข้อนี้ คุณอาจรอสักระยะหนึ่งแล้วจึงค่อยมาตอบคำถาม.
^ วรรค 13 อย่าคิดว่าคุณต้องร้องไห้เพื่อแสดงว่าคุณโศกเศร้า. คนเราแสดงความโศกเศร้าไม่เหมือนกัน. สิ่งสำคัญก็คือ ถ้าคุณรู้สึกอยากจะร้องไห้ก็คงเป็น “วาระสำหรับร่ำไห้.”—ท่านผู้ประกาศ 3:4
^ วรรค 15 ถ้าคุณยังคงพูดกับตัวเองอย่างนี้อยู่เรื่อย ๆ จงเล่าความรู้สึกของคุณกับพ่อหรือแม่ที่ยังอยู่หรือกับผู้ใหญ่อีกคนหนึ่ง. ในที่สุด คุณก็จะกลับมามีทัศนะที่สมดุลอีก.
^ วรรค 18 ถ้าคุณได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อหรือแม่ฝ่ายเดียวซึ่งเสียไปแล้ว หรือพ่อหรือแม่ที่มีชีวิตอยู่ไม่สามารถพบปะกับคุณได้ คุณก็อาจพูดคุยกับผู้อาวุโสสักคนหนึ่ง.
^ วรรค 22 บางคนได้รับการชูใจจากข้อคัมภีร์ต่อไปนี้: บทเพลงสรรเสริญ 34:18; 102:17; 147:3; ยะซายา 25:8; โยฮัน 5:28, 29.
ข้อชวนคิด
▪ ในบทความนี้คุณจะใช้ข้อเสนอแนะใด? ․․․․․
▪ จงเขียนข้อคัมภีร์สักสองสามข้อที่ให้การปลอบโยนคุณลงในช่องข้างล่างนี้เมื่อรู้สึกโศกเศร้ามาก. ․․․․․
[กรอบหน้า 11]
ไม่ผิดที่จะร้องไห้ . . . คนเหล่านี้ก็ร้องไห้!
อับราฮาม—เยเนซิศ 23:2
โยเซฟ—เยเนซิศ 50:1
ดาวิด—2 ซามูเอล 1:11, 12; 18:33
มาเรียพี่สาวลาซะโร—โยฮัน 11:32, 33
พระเยซู—โยฮัน 11:35
มาเรียมักดาลา—โยฮัน 20:11
[กรอบ/ภาพหน้า 12]
ทำบันทึกส่วนตัว
การเขียนระบายความรู้สึกของตัวเองเกี่ยวกับพ่อหรือแม่ที่เสียไปอาจช่วยคุณได้มากเมื่อคุณเศร้าโศก. มีหลายอย่างที่คุณจะเขียนลงไปได้. ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการ.
▪ เขียนความทรงจำที่ดีที่คุณมีต่อท่าน.
▪ เขียนเรื่องที่คุณอยากพูดกับพ่อหรือแม่ขณะท่านมีชีวิตอยู่
▪ นึกภาพว่าคุณมีน้องซึ่งรู้สึกผิดอย่างมากเนื่องจากการตายของพ่อหรือแม่. เขียนลงไปว่าจะพูดปลอบใจน้องอย่างไร. การทำเช่นนี้จะช่วยให้คุณไม่รู้สึกผิดมากนัก.
[กรอบหน้า 13]
ข้อแนะสำหรับพ่อหรือแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่
ความโศกเศร้าเนื่องจากสูญเสียคู่สมรสเป็นประสบการณ์ที่ปวดร้าว. แต่นั่นก็เป็นเวลาเดียวกับที่ลูกซึ่งกำลังโตต้องการความช่วยเหลือจากคุณ. คุณจะช่วยเขารับมือความโศกเศร้าได้อย่างไรโดยที่ไม่เพิกเฉยต่อความทุกข์ของตัวเอง?
อย่าเก็บความรู้สึกของคุณ. ลูกได้เรียนหลายอย่างที่มีคุณค่าในชีวิตโดยการเฝ้าดูคุณ. สิ่งหนึ่งที่เขาจะเรียนได้ก็คือวิธีรับมือกับความโศกเศร้า. ดังนั้น อย่าคิดว่าต้องทำให้ลูกเห็นว่าคุณเข้มแข็งโดยซ่อนความโศกเศร้าไว้ไม่ให้ลูกรู้. ถ้าคุณทำเช่นนั้น ลูกก็คงจะทำเหมือนคุณ. ในทางกลับกัน เมื่อคุณเผยความรู้สึกปวดร้าวออกมาลูกก็จะเรียนรู้ว่าการแสดงความรู้สึกดีกว่าเก็บกดเอาไว้ และเป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเศร้าใจ, ข้องขัดใจ, หรือถึงกับขุ่นเคือง.
สนับสนุนลูกวัยรุ่นให้พูด. สนับสนุนลูกให้พูดสิ่งที่มีอยู่ในใจโดยไม่ให้เขารู้สึกถูกกดดัน. ถ้าลูกลังเลไม่อยากพูด ลองนำบทความนี้ขึ้นมาพูดคุยกัน. นอกจากนั้น พูดถึงความทรงจำดี ๆ ที่คุณเคยมีเกี่ยวกับคนที่จากไป. ยอมรับกับลูกว่าตัวคุณเองก็รับมือกับเรื่องนี้ได้ยากเช่นกัน. เมื่อลูกเห็นว่าคุณเผยความรู้สึกออกมา นั่นก็จะช่วยเขาให้เรียนรู้ที่จะเผยความรู้สึกด้วย.
รู้ข้อจำกัดของคุณ. เป็นที่เข้าใจว่าคุณเองต้องการหนุนกำลังใจลูกวัยรุ่นในยามที่ยุ่งยากนี้ต่อ ๆ ไป. แต่จงจำไว้ว่า คุณเองก็เหมือนกันได้รับผลกระทบอย่างมากจากการสูญเสียคู่สมรสไป. ดังนั้น ความเข้มแข็งทางอารมณ์ ทางจิตใจและร่างกายย่อมลดน้อยลงไปบ้าง. (สุภาษิต 24:10) ด้วยเหตุนั้น คุณอาจต้องขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ในครอบครัวและเพื่อนที่อาวุโสทางอารมณ์. นับว่าฉลาดที่จะขอความช่วยเหลือ. สุภาษิต 11:2 กล่าวว่า “ปัญญาย่อมอาศัยอยู่กับผู้ถ่อมลง.”
ความช่วยเหลือที่ดีที่สุดที่คุณจะได้ย่อมมาจากพระยะโฮวาพระเจ้าผู้ทรงสัญญากับผู้นมัสการพระองค์ว่า “เรา, ยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า, กำลังยึดมือข้างขวาของเจ้าอยู่, กำลังกล่าวแก่เจ้าว่า, ‘อย่ากลัวเลย, เราจะช่วยเจ้า.’”—ยะซายา 41:13
[ภาพหน้า 11]
ความโศกเศร้าอาจเป็นเหมือนคลื่นที่ซัดฝั่งในช่วงที่ไม่คาดคิด