ฉันจะรู้จักพ่อแม่ดีขึ้นได้อย่างไร?
หนุ่มสาวถามว่า
ฉันจะรู้จักพ่อแม่ดีขึ้นได้อย่างไร?
เจสสิกาและพ่อแม่กำลังกินอาหารมื้อเย็นกับเพื่อนบางคน. ระหว่างนั้น เพื่อนที่เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งพูดกับแม่ของเจสสิกาว่า “เธอคงไม่เชื่อหรอก! วันก่อนฉันเจอริชาร์ด หนุ่มที่เคยนัดพบกับเธอสมัยเรียนชั้นมัธยม.”
เจสสิกาตกใจจนส้อมหลุดจากมือ. เธอไม่เคยได้ยินเรื่องริชาร์ดมาก่อนเลย!
“โอ้โฮ แม่เคยนัดพบกับคนอื่นก่อนมาพบพ่อหรือ? หนูไม่เคยรู้ เลย!”
คุณเป็นเหมือนเจสสิกาไหมที่ได้รู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับพ่อแม่ที่ทำให้คุณประหลาดใจ? ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณอาจจะสงสัยว่า มีอะไรอีกที่คุณยังไม่รู้!
ทำไมบ่อยครั้งมีบางอย่างเกี่ยวกับพ่อแม่ที่คุณยังไม่รู้? การรู้จักพ่อแม่มากขึ้นอาจมีประโยชน์อะไร? และคุณจะรู้จักพ่อแม่มากขึ้นโดยวิธีใด?
มีเรื่องให้เรียนรู้อีกมาก
เพราะเหตุใดจึงอาจมีบางอย่างเกี่ยวกับพ่อแม่ที่คุณยังไม่รู้? บางครั้ง นั่นเป็นเพราะคุณอยู่ห่างไกลกัน. เจคอบ * ซึ่งตอนนี้อายุ 22 ปีบอกว่า “พ่อและแม่หย่ากันตอนที่ผมอายุแปดขวบ. ตั้งแต่นั้น แต่ละปีผมพบพ่อเพียงไม่กี่ครั้ง. มีเรื่องของพ่อมากมายที่ผมอยากรู้.”
ถึงแม้คุณได้อยู่กับพ่อแม่เป็นเวลาหลายปี บางทีท่านคงไม่ได้บอกทุกอย่าง เกี่ยวกับตัวท่าน. ทำไมล่ะ? เหมือนพวกเรานั่นแหละ บางครั้งพ่อแม่ก็รู้สึกอายเกี่ยวกับความผิดพลาดในอดีต. (โรม 3:23) อีกอย่างหนึ่ง ท่านอาจกังวลว่าหากเปิดเผยความผิดพลาดให้คุณรู้ คุณจะไม่นับถือท่าน—หรือกลัวว่าคุณจะกล้าทำตามใจตัวเองมากขึ้น.
แต่บ่อยครั้ง ที่พ่อแม่ไม่ได้บอกให้คุณรู้ก็เพียงเพราะว่าไม่มีโอกาสพูดถึงเรื่องนั้น. เด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อแคเมรอนกล่าวว่า “เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่คุณอาจอยู่กับพ่อแม่มาหลายปีแต่ยังมีอีกมากที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับตัวท่าน!” คุณน่าจะริเริ่มขอให้พ่อแม่เล่าเรื่องในอดีตของท่านให้คุณได้รู้บ้าง. ขอพิจารณาผลประโยชน์สี่ประการที่คุณน่าจะได้รับ.
ผลประโยชน์ประการที่ 1: พ่อแม่คงดีใจที่คุณสนใจท่าน. พ่อแม่คงพอใจแน่ ๆ ที่คุณสนใจมากพอที่จะถามเรื่องราวชีวิตของท่าน. และใครจะรู้ล่ะ—ท่านอาจเห็นอกเห็นใจคุณ มากขึ้นก็ได้!—มัดธาย 7:12
ผลประโยชน์ประการที่ 2: คุณจะเข้าใจทัศนะของพ่อแม่ดีขึ้น. ยกตัวอย่าง ในอดีตพ่อแม่ของคุณเคยมีชีวิตที่ขัดสนไหม? นี่อาจช่วยให้คุณเข้าใจว่าทำไมท่านจึงประหยัดมากจริง ๆ แม้คุณคิดว่าไม่จำเป็นก็ตาม.
การเข้าใจทัศนะของพ่อแม่เช่นนี้อาจเป็นประโยชน์. เด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อโคดีกล่าวว่า “เมื่อรู้ทัศนะของพ่อแม่ ผมจึงสามารถไตร่ตรองได้ว่าคำพูดของผมจะมีผลกระทบท่านอย่างไรก่อนที่ผมจะพูด.”—สุภาษิต 15:23
ผลประโยชน์ประการที่ 3: คุณอาจสะดวกใจมากขึ้นเมื่อพูดถึงชีวิตตัวเอง. บริดเจตต์วัย 18 ปีบอกว่า “ก่อนหน้านี้ ดิฉันอึดอัดใจที่จะบอกพ่อถึงเรื่องเด็กหนุ่มที่ดิฉันชอบ. แต่เมื่อได้บอกความรู้สึกให้พ่อฟังแล้ว พ่อก็เล่าเรื่องรักครั้งแรกของพ่อ และบอกด้วยว่าพ่อรู้สึกมีความสุขสักเพียงไร. พ่อถึงกับเล่าให้ดิฉันฟังถึงวันที่พ่อเลิกกับเพื่อนสาวว่าวันนั้นพ่อรู้สึกไม่สบายใจมาก ๆ. ดิฉันจึงกล้าเล่าเรื่องตัวเองให้พ่อฟังมากขึ้น.”
ผลประโยชน์ประการที่ 4: คุณอาจได้บทเรียนบางอย่าง. ประสบการณ์ชีวิตของพ่อแม่อาจช่วยคุณจัดการกับความคับข้องใจและปัญหาของตัวเอง. โจชัววัย 16 ปีพูดว่า “ผมอยากรู้ว่า พ่อแม่จัดการได้อย่างไรจึงสามารถดูแลครอบครัวใหญ่ซึ่งมีความจำเป็นที่แตกต่างกันทั้งทางกายและอารมณ์ รวมไปถึงสัมพันธภาพกับพระเจ้า. เรื่องนี้คงจะต้องมีบทเรียนที่สำคัญ.” คัมภีร์ไบเบิลถามว่า “สติปัญญามิได้อยู่ท่ามกลางคนมีอายุหรือ และความเข้าใจมิได้อยู่ในอายุยืนยาวหรือ?”—โยบ 12:12, ล.ม.
จงเป็นฝ่ายริเริ่ม
ถ้าคุณอยากรู้จักพ่อแม่ดีขึ้น คุณจะทำอย่างไร? ต่อไปนี้เป็นข้อแนะบางอย่าง.
เลือกเวลาและสถานที่. ไม่จำเป็นต้องเป็นงานเป็นการเสมอไป. พยายามพูดคุยกันในบรรยากาศสบาย ๆ. คุณอาจจะพูดคุยขณะที่โยนบอลเล่น, ขณะร่วมกันทำงาน, ระหว่างออกไปเดินเล่น หรือขับรถไปกับพ่อแม่. โคดีที่กล่าวถึงตอนต้นบอกว่า “ผมกับพ่อแม่คุยกันอย่างเพลิดเพลินระหว่างที่ขับรถทางไกล. จริงอยู่ มันง่ายที่จะใส่หูฟังหรือหลับ แต่ผมเห็นว่าการริเริ่มพูดคุยกันได้ประโยชน์คุ้มค่าเสมอ!”
ตั้งคำถาม. คุณต้องยอมรับว่า แม้จะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแล้ว จู่ ๆ แม่คงจะไม่เล่าเรื่องรักครั้งแรกของท่านให้คุณฟัง และพ่ออาจจะไม่เอ่ยถึงครั้งที่ท่านขับรถชนจนพังยับเยิน. แต่พ่อแม่อาจเล่าเรื่องเหล่านั้นก็ได้ถ้าคุณถาม! ถ้าคุณต้องการข้อแนะว่าจะถามอย่างไร ดู กรอบในหน้า 12.
รู้จักยืดหยุ่น. บ่อยครั้งการตอบคำถามเรื่องหนึ่งอาจนำไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง. คุณอาจอยากจะวกกลับมาคุยเรื่องเดิม แต่ยั้งใจไว้ก่อน! จำไว้ว่า เป้าหมายของคุณไม่ใช่เพียงแต่จะรวบรวมข้อเท็จจริง. แต่คุณต้องการที่จะสานสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกับพ่อแม่ และวิธีที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่จะฟิลิปปอย 2:4
ทำเช่นนั้นได้ก็คือ พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่มีความสำคัญต่อท่าน.—สังเกตให้เข้าใจ. “ความมุ่งหมายในใจคนลึกเหมือนน้ำลึก; แต่คนที่มีความเข้าใจจะยกขึ้นมาได้.” (สุภาษิต 20:5) คุณต้องมีความเข้าใจหรือความสังเกตเป็นพิเศษเมื่อพยายามให้พ่อแม่เล่าเรื่องที่อาจกระทบความรู้สึกของท่าน. ตัวอย่างเช่น คุณอาจอยากรู้เรื่องความผิดที่น่าอับอายตอนที่พ่ออายุเท่าคุณ และอยากรู้ว่าถ้าย้อนกลับไปได้พ่อจะทำต่างไปจากที่ได้ทำไปแล้วอย่างไร. แต่ก่อนจะด่วนถามเรื่องนั้น คุณอาจพูดว่า “พ่อจะว่าอะไรไหมถ้าผมถาม . . . ”
รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว. เมื่อพ่อแม่เล่าเรื่องของท่านให้คุณฟัง จง “ไวในการฟัง ช้าในการพูด.” (ยาโกโบ 1:19) ไม่ว่าจะอย่างไรก็อย่าได้เยาะเย้ยหรือดูถูกท่านเกี่ยวกับเรื่องที่ท่านเล่า. คำพูด เช่น “โอ้โฮ! หนูไม่อยากเชื่อเลยว่าแม่จะทำลงไปได้!” หรือ “มิน่าเล่า พ่อถึงได้เข้มงวดกับผมขนาดนี้!” คงทำให้พ่อกับแม่ไม่อยากเล่าอะไรให้ฟังอีก. และการที่คุณเล่าเรื่องส่วนตัวในครอบครัวให้คนอื่นฟังก็คงมีผลเช่นเดียวกัน.
ไม่สายเกินไป!
ข้อแนะข้างต้นอาจช่วยคุณให้รู้จักพ่อแม่ดีขึ้นในช่วงที่คุณยังอยู่ที่บ้าน. แต่ถ้าคุณย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้วล่ะ? หลักการเดียวกันนี้อาจช่วยคุณให้กลับมาใกล้ชิดกับพ่อแม่อีก หรือได้มารู้จักพ่อหรือแม่ที่คุณไม่เคยใกล้ชิดมาก่อน. เจคอบที่
กล่าวถึงข้างต้นก็ประสบเช่นนั้น. แม้ว่าตอนนี้เขาอยู่ตามลำพัง เขากล่าวว่า “ช่วงหลังนี้ ผมได้รู้จักพ่อดีขึ้นและผมก็ชอบที่เป็นอย่างนี้.”ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่บ้านหรือย้ายออกไปแล้ว ไม่สายเกินไปที่จะรู้จักพ่อแม่มากขึ้น. ลองใช้คำแนะนำในบทความนี้ดูสิเผื่อจะช่วยคุณทำเช่นนั้น.
ถ้าต้องการอ่านบทความชุด “หนุ่มสาวถามว่า” เพิ่มเติม ให้ดาวน์โหลดตื่นเถิด! ฉบับอื่น ๆ จากเว็บไซต์ www.ps8318.com
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 9 บางชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.
ข้อชวนคิด
▪ เรื่องไหนในบทความนี้ที่คุณอยากจะถามพ่อแม่?
▪ การเรียนรู้เกี่ยวกับพ่อแม่มากขึ้นอาจช่วยคุณเข้าใจตัวเองดีขึ้นอย่างไร?
[กรอบ/ภาพหน้า 12]
ถามพ่อแม่ทำนองนี้:
การสมรส: พ่อกับแม่เจอกันได้อย่างไร? ประทับใจอะไรกันในตอนแรก? พ่อแม่อยู่ที่ไหนหลังจากแต่งงานแล้ว?
วัยเด็ก: พ่อแม่เกิดที่ไหน? พ่อแม่เข้ากันกับพี่ ๆ น้อง ๆ ได้ดีไหม? ปู่ย่าตายายเข้มงวดหรือใจดี?
การศึกษา: พ่อแม่เรียนวิชาไหนได้เก่งที่สุด? พ่อแม่อ่อนวิชาไหนที่สุด? พ่อแม่มีครูคนโปรดไหม? ทำไมครูคนนั้นจึงดีเป็นพิเศษ?
งานอาชีพ: งานแรกของพ่อแม่คืออะไร? ชอบงานนั้นไหม? ถ้าเลือกได้ พ่อแม่จะเลือกงานอะไร?
ความสนใจ: ถ้าพ่อแม่จะไปที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ พ่อแม่จะไปที่ไหน? พ่อแม่อยากทำงานอดิเรกหรืออยากฝึกทักษะด้านไหน?
ประวัติความเชื่อ: พ่อแม่ได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวคริสเตียนไหม? ถ้าไม่ อะไรทำให้พ่อแม่สนใจคัมภีร์ไบเบิล? พ่อแม่พบอุปสรรคอะไรบ้างในการปรับชีวิตให้เข้ากับหลักการของคัมภีร์ไบเบิล?
สิ่งที่ถือว่ามีค่า: พ่อแม่คิดว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของมิตรภาพที่ดี? ของชีวิตที่มีความสุข? ของชีวิตสมรสที่ประสบความสำเร็จ? คำแนะนำอะไรที่ดีที่สุดที่พ่อแม่เคยได้รับ?
ทดลองทำอย่างนี้สิ: จงเลือกคำถามข้างต้นสักสองสามข้อแล้วคาดว่าพ่อแม่จะตอบอย่างไร. จากนั้นไปถามท่าน และเปรียบเทียบคำตอบของท่านกับสิ่งที่คุณคาดคิดไว้.
[กรอบหน้า 13]
ถึงคุณพ่อคุณแม่
คุณกำลังกินอาหารเย็นกับสามี, ลูกสาว, และเพื่อน. ขณะคุยกัน เพื่อนของคุณเอ่ยถึงเพื่อนชายที่คุณเคยคบหาและเลิกกันไปแล้วก่อนคุณจะรู้จักสามี. คุณไม่เคยเล่าเรื่องนี้ให้ลูกสาวฟัง. ตอนนี้ลูกสาวอยากจะรู้มากขึ้น. คุณจะทำอย่างไร?
ตามปกติแล้ว ดีที่สุดที่จะรับฟังคำถามของลูก. ว่าไปแล้ว เวลาที่ลูกถามและฟังคำตอบจากคุณ ก็เป็นเวลาที่คุณได้สื่อความกัน ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่อยากให้เป็นเช่นนั้น.
คุณควรบอกเล่าเรื่องในอดีตให้ลูกรู้มากแค่ไหน? เป็นธรรมดาอยู่เองที่คุณจะไม่อยากเล่าเรื่องที่น่าอับอาย. แต่เมื่อเห็นว่าสมควร การบอกให้ลูกรู้ความผิดพลาดและปัญหาบางอย่างของคุณก็อาจมีประโยชน์กับเขา. เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร?
ขอพิจารณาตัวอย่างหนึ่ง. อัครสาวกเปาโลเคยยอมรับว่า “เมื่อข้าพเจ้าอยากทำสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งชั่วก็อยู่ในตัวข้าพเจ้า . . . ข้าพเจ้าเป็นคนน่าสมเพชเสียจริง!” (โรม 7:21-24) พระยะโฮวาพระเจ้าทรงดลใจให้มีการบันทึกข้อความเหล่านั้นไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อประโยชน์ของพวกเรา. (2 ติโมเธียว 3:16) และเราก็ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะในพวกเรามีใครบ้างที่ไม่รู้สึกเหมือนเปาโล?
ในทำนองเดียวกัน การได้ฟังเรื่องการตัดสินใจอย่างถูกต้องและความผิดพลาดของคุณจะช่วยลูกเข้าใจคุณดีขึ้น. จริงอยู่ คุณเติบโตขึ้นมาในยุคสมัยที่ต่างจากลูก. อย่างไรก็ดี แม้เวลาจะเปลี่ยนไป แต่ลักษณะนิสัยพื้นฐานของมนุษย์ไม่ได้เปลี่ยน และหลักการในคัมภีร์ไบเบิลก็ไม่เปลี่ยน. (บทเพลงสรรเสริญ 119:144) การพูดถึงปัญหาที่คุณเคยเผชิญและวิธีที่คุณเอาชนะได้ อาจช่วยลูกวัยรุ่นแก้ปัญหาของเขาได้ด้วย. เด็กหนุ่มชื่อแคเมรอนกล่าวว่า “เมื่อคุณรู้ว่าพ่อแม่ก็เคยเผชิญปัญหาคล้าย ๆ กัน คุณก็จะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้สมบูรณ์พร้อมไปเสียทุกอย่างและไม่ต่างจากคุณเท่าไรนัก.” เขาเสริมว่า “คราวหน้าถ้าคุณมีปัญหา คุณก็อยากจะรู้ว่าพ่อแม่เคยผ่านเรื่องนี้มาก่อนหรือไม่.”
ข้อควรระวัง: ไม่จำเป็นต้องให้ทุกเรื่องลงเอยด้วยคำแนะนำ. จริงอยู่ คุณอาจเป็นห่วงว่าลูกวัยรุ่นของคุณจะลงความเห็นผิด ๆ หรือรู้สึกว่าเขาก็มีสิทธิ์จะทำผิดในทำนองเดียวกัน. แต่แทนที่จะสรุปว่าคุณอยากให้ลูกได้บทเรียนอะไรจากเรื่องนั้น (“นี่เป็นเหตุที่ลูกไม่ควรจะทำ . . . ”) บอกลูกสั้น ๆ ว่าคุณเองรู้สึกอย่างไร. (“เมื่อคิดย้อนไป แม่ไม่น่าจะทำอย่างนั้นเลยเพราะ . . . ”) เมื่อนั้นลูก ๆ ก็จะได้บทเรียนที่มีค่าจากประสบการณ์ของคุณโดยไม่รู้สึกว่าเขาถูกสั่งสอน.—เอเฟโซส์ 6:4
[กรอบหน้า 13]
“ครั้งหนึ่ง ดิฉันสารภาพกับแม่ว่าดิฉันรู้สึกสบายใจเมื่ออยู่กับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนมากกว่าอยู่กับเพื่อนคริสเตียน. วันรุ่งขึ้น ดิฉันเห็นจดหมายของแม่วางอยู่บนโต๊ะ. แม่เขียนว่าแม่ก็เช่นเดียวกันที่เคยคิดว่าไม่มีเพื่อนท่ามกลางพี่น้องคริสเตียน. แม่สะกิดใจดิฉันให้คิดถึงบางคนในคัมภีร์ไบเบิลที่ได้รับใช้พระเจ้าแม้ไม่มีใครเลยที่อยู่ใกล้ให้การชูใจ. นอกจากนั้น แม่ยังชมเชยดิฉันที่พยายามสร้างมิตรภาพอันดีงาม. ดิฉันรู้สึกประหลาดใจเมื่อรู้ว่าไม่ใช่ดิฉันคนเดียวเท่านั้นที่เจอปัญหาแบบนี้. แม่ก็เคยเจอเหมือนกัน และดิฉันดีใจจนน้ำตาไหลเมื่อได้มารู้เรื่องนี้. ดิฉันได้รับกำลังใจมากทีเดียวจากเรื่องที่แม่เล่า และเรื่องนี้ทำให้ดิฉันรู้สึกเข้มแข็งที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง.”—จุงโกะ อายุ 17 ปี ญี่ปุ่น
[ภาพหน้า 11]
ขอพ่อแม่เอารูปหรือสิ่งของอื่น ๆ ในอดีตมาให้คุณดู. สิ่งเหล่านี้มักจะกระตุ้นให้เกิดการสนทนาอย่างมีชีวิตชีวา