เรือแคนู—“พาหนะสมบูรณ์แบบ” ของแคนาดา
เรือแคนู—“พาหนะสมบูรณ์แบบ” ของแคนาดา
ซามูเอล เดอ ชองแปลง นักสำรวจชาวฝรั่งเศสได้ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก และแล่นเรือใบทวนแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในแคนาดา. ไม่นานนัก เขาเผชิญอุปสรรคใหญ่ที่มอนทรีออล นั่นคือแก่งลาชีน. เขาเขียนบันทึกการเดินทางในปี 1603 ว่า แม้จะพยายามมากเพียงไร เขาก็ไม่สามารถพาเรือใบผ่านแก่งขึ้นไปได้. เขาจะเดินเท้าก็ไม่ได้เนื่องจากป่าแถบนั้นหนาทึบมาก. แล้วชองแปลงกับลูกเรือเดินทางต่อไปได้อย่างไร?
พวกเขาอาศัยบทเรียนที่ได้จากชนเผ่าพื้นเมืองและใช้เรือแคนู. ชองแปลงกล่าวว่า “เมื่อใช้แคนู ใคร ๆ ก็เดินทางได้ทั่วประเทศอย่างสะดวกและรวดเร็ว ทั้งยังพายทวนแม่น้ำไม่ว่าจะเป็นสายใหญ่หรือสายเล็กก็ได้ทั้งนั้น.”
“พาหนะสมบูรณ์แบบ”
ทะเลสาบและแม่น้ำในแคนาดาเป็นเส้นทางสัญจรที่เหมาะมาก และเรือแคนูก็ถือเป็นพาหนะที่สมบูรณ์แบบ. มันช่วยให้ชนพื้นเมืองแห่งอเมริกาเหนือสามารถออกสำรวจ, ล่าสัตว์, และขนส่งสินค้า. แน่นอน รูปทรงและวิธีการสร้างเรือแคนูก็แตกต่างกันไป เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น การใช้งานและทรัพยากรธรรมชาติ. ตัวอย่างเช่น คนตามชายฝั่งตะวันตกของแคนาดาสร้างเรือแคนูโดยขุดลำต้นสนซีดาร์แดงยักษ์. แล้วเขาจะใส่น้ำและหินร้อน ๆ ลงไป ซึ่งทำให้ไม้อ่อนตัวเพื่อดัดรูปทรงได้ตามต้องการ. เรือแคนูเหล่านี้บางลำอาจ
บรรทุกน้ำหนักได้ถึงสองตัน และมีทั้งความรวดเร็วและปลอดภัยเมื่อพวกเขาใช้ออกทะเลไปล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น วาฬ.เรือแคนูที่มีคนร่ำลือกันมากที่สุดในอเมริกาเหนืออาจเป็นเรือแคนูที่ทำจากเปลือกต้นเบิร์ช. เนื่องจากมีสารที่เรียกว่า เบทูลินอล เปลือกต้นเบิร์ชจึงทนทานและกันน้ำได้. แถมยังดัดรูปทรงได้ง่ายและแข็งแรงด้วย. เดวิด กิดมาร์ก นักสร้างเรือแคนูชี้แจงว่า “เรือแคนูที่ทำจากเปลือกต้นเบิร์ชสามารถผ่านแก่งต่าง ๆ ซึ่งอาจยังความเสียหายแก่แคนูที่ทำจากไม้และผ้าใบ.”
วัสดุที่ใช้สร้างเรือแคนูเปลือกต้นเบิร์ชยังรวมไปถึง ไม้เบิร์ช, ไม้ซีดาร์, รากต้นสปรูซ, และยางไม้. เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดได้มาจากป่า จึงสามารถซ่อมเรือแคนูได้ค่อนข้างง่าย. ยิ่งกว่านั้น พาหนะชนิดนี้ค่อนข้างเบา ทำให้ง่ายแก่การแบกข้ามแก่งที่เป็นอันตรายและอุปสรรคอื่น ๆ. เรือชนิดนี้ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย. เมื่อเลิกใช้แล้ว เรือแคนูก็กลับคืนสู่ระบบนิเวศเช่นเดียวกับท่อนซุง.
วิธีสร้างเรือก็น่าประทับใจด้วย. นักสังเกตการณ์ในศตวรรษที่ 19 รายงานว่า ชนพื้นเมือง “ไม่ใช้ตะปูหรือตะปูควง แต่ทุกสิ่งจะต้องเย็บและผูกเข้าด้วยกัน. ตะเข็บ รอยเย็บและปมดูเรียบเสมอกัน แน่นหนาและสวยงามจนหาที่ติไม่ได้.”
ก่อนที่จะมีรถไฟ เรือแคนูเป็นวิธีขนส่งที่เร็วและเชื่อถือได้มากที่สุดในพื้นที่แคนาดาส่วนใหญ่. แม้แต่เมื่อมีรถไฟเข้ามา ก็ใช่ว่าจะเลิกใช้เรือแคนูในทันที เพราะผู้คนก็ยังคงเดินทางทั้งโดยรถไฟและแคนูบ่อยครั้ง.
เรือแคนูมีความสำคัญต่อชีวิตในอเมริกาเหนือยุคแรก ๆ และมีอิทธิพลต่อทั้งวัฒนธรรมและความเชื่อของชนพื้นเมือง. ตัวอย่างเช่น ในตำนานบางเรื่อง ผู้ที่รอดชีวิตจากน้ำท่วมใหญ่ไม่ได้รอดเพราะเรือใหญ่ที่กล่าวในคัมภีร์ไบเบิล แต่รอดเพราะเรือแคนู.
การล่องเรือแคนูสมัยนี้
การล่องเรือแคนูยังคงเป็นที่นิยมในแคนาดา แต่ส่วนใหญ่ใช้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ. น่าเสียดายที่ต้นไม้เหมาะ ๆ ที่สามารถนำมาสร้างเรือแคนูเปลือกต้นเบิร์ชอย่างดีหาได้ยากขึ้นทุกที. แต่ก็มีวัสดุอื่น ๆ ที่มีให้ใช้ได้ เช่น อะลูมิเนียม, ผ้าใบ, ไม้, และไฟเบอร์กลาสส์.
บิลล์ เมสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือแคนูที่มีชื่อเสียงกล่าวถึงอีกแง่มุมหนึ่งของการพายเรือแคนูว่า “การพายเรือแคนูไปตามสายน้ำเก่าแก่เป็นวิธีที่ดีเยี่ยมในการกลับมามีความสัมพันธ์กับธรรมชาติและพระผู้สร้างอีก ซึ่งพระองค์บันดาลให้มีทุกสิ่งขึ้นมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์.” หลายคนคงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำพูดนี้!
[กรอบ/ภาพหน้า 11]
เรือคายัค
ชาวอินุอิตอาศัยในดินแดนที่ไม่มีป่าของแคนาดา. แต่พวกเขาก็ยังสร้างเรือได้. ชาวอินุอิตใช้วัตถุดิบ เช่น หนังแมวน้ำและหนังกวางคาริบู รวมทั้งกระดูกและไม้ที่ถูกพัดเข้าฝั่งแถบขั้วโลกเหนือ. ไขมันสัตว์ช่วยกันน้ำเข้าเรือได้. ในที่สุดก็ได้เรือคายัค.
ข้อแตกต่างที่เห็นชัดที่สุดระหว่างเรือคายัคและเรือแคนูธรรมดาคือ เรือคายัคมีดาดคลุม ซึ่งช่วยป้องกันลมและความหนาวเย็นได้บ้าง และทำให้เรือคายัคพลิกคว่ำพลิกหงายได้โดยที่น้ำไม่เข้าเรือมาก. เรือคายัคสมัยใหม่โดยทั่วไปทำจากไฟเบอร์กลาสส์และวัสดุสังเคราะห์อื่น ๆ.
[ที่มาภาพหน้า 10]
Library of Congress