ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บันทึกดูมสเดย์—การสำรวจที่โดดเด่น

บันทึกดูมสเดย์—การสำรวจที่โดดเด่น

บันทึก​ดูม​สเดย์—การ​สำรวจ​ที่​โดด​เด่น

ใน​ปี 1066 อังกฤษ​ถูก​พิชิต​โดย​วิลเลียม ซึ่ง​ตอน​นั้น​เป็น​ดุ๊ก​แห่ง​นอร์มังดี (แคว้น​หนึ่ง​ของ​ฝรั่งเศส). สิบ​เก้า​ปี​ต่อ​มา วิลเลียม​สั่ง​ให้​ทำ​การ​สำรวจ​ดินแดน​ที่​พิชิต​ได้. ข้อมูล​จาก​การ​สำรวจ​นั้น​ถูก​รวบ​รวม​ไว้​ใน​บันทึก​ที่​เรียก​กัน​ว่า ประมวล​ทรัพย์​สิน​และ​ที่​ดิน​ดูม​สเดย์ (the Domesday Book). เหตุ​ใด​บันทึก​นี้​ยัง​คง​เป็น​บันทึก​ทาง​ประวัติศาสตร์​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​เล่ม​หนึ่ง​ของ​อังกฤษ?

วิลเลียม​ขึ้น​ฝั่ง​ที่​เฮสติงส์ ประเทศ​อังกฤษ​ใน​เดือน​กันยายน 1066. วัน​ที่ 14 ตุลาคม เขา​เอา​ชนะ​กองทัพ​ของ​กษัตริย์​แฮโรลด์​แห่ง​อังกฤษ ซึ่ง​ถูก​สังหาร​ที่​นั่น. วัน​คริสต์มาส​ปี 1066 วิลเลียม​เถลิง​ราชย์​เป็น​กษัตริย์​ที่​วิหาร​เวสต์มินสเตอร์​ใน​กรุง​ลอนดอน. ต่อ​มา เขา​ถูก​ขนาน​นาม​ว่า​วิลเลียม​ผู้​พิชิต. ชาว​อังกฤษ​ประสบ​อะไร​บ้าง​เมื่อ​อยู่​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​กษัตริย์​องค์​ใหม่?

การ​สำรวจ​ครั้ง​ใหญ่

หลัง​จาก​กษัตริย์​วิลเลียม​ที่ 1 กวาด​ล้าง​ประชาชน​ใน​ภาค​เหนือ​ของ​ประเทศ ที่​ดิน​อัน​กว้าง​ใหญ่​จึง​ร้าง​เปล่า. เทรเวอร์ โรว์ลีย์ อดีต​อาจารย์​แห่ง​มหาวิทยาลัย​ออกซฟอร์ด เขียน​ว่า “แม้​จะ​เทียบ​กับ​มาตรฐาน​ของ​ยุค​นั้น​ซึ่ง​ค่อนข้าง​ป่า​เถื่อน ก็​ยัง​ต้อง​ถือ​ว่า ‘การ​กวาด​ล้าง​ภาค​เหนือ’ (ปี 1068-1070) เป็น​การ​กระทำ​ที่​โหด​ร้าย​ทารุณ.” ประชาชน​ลุก​ฮือ​ต่อ​ต้าน​วิลเลียม​บ่อย ๆ และ​กองทัพ​ที่​ยึด​ครอง​ประเทศ​ซึ่ง​มี​จำนวน​ราว ๆ หนึ่ง​หมื่น​คน​หรือ​น้อย​กว่า​นั้น​ต้อง​อยู่​ท่ามกลาง​ประชากร​ประมาณ​สอง​ล้าน​คน​ที่​ชิง​ชัง​พวก​เขา. ใน​ที่​สุด ชาว​นอร์มัน​สร้าง​ป้อม​ปราการ​มาก​กว่า 500 ป้อม​ทั่ว​ประเทศ. ป้อม​ที่​มี​ชื่อเสียง​ที่​สุด​คือ​หอคอย​แห่ง​ลอนดอน.

ใน​เดือน​ธันวาคม 1085 หลัง​จาก​การ​พิชิต 19 ปี วิลเลียม​ใช้​เวลา​ห้า​วัน​กับ​ข้าราชสำนัก​ที่​กลอสเตอร์ อังกฤษ เพื่อ​วาง​แผนการ​สำรวจ​ประเทศ โดย​เว้น​เฉพาะ​กรุง​ลอนดอน​และ​เมือง​วินเชสเตอร์. ต้น​ปี​ถัด​ไป เจ้าหน้าที่​จาก​ราชสำนัก​ถูก​ส่ง​ไป​ยัง​ทั้ง​เจ็ด​ภาค​พร้อม ๆ กัน​เพื่อ​สอบ​ถาม​ตัว​แทน​ของ​เทศ​มณฑล​และ​ประเมิน​ทรัพย์​สิน​ของ​แผ่นดิน.

กษัตริย์​ต้อง​หา​เงิน​มา​บำรุง​กองทัพ​ที่​ยึด​ครอง​ประเทศ. ท่าน​ยัง​ต้อง​แก้​ปัญหา​ความ​ขัด​แย้ง​เรื่อง​กรรมสิทธิ์​ที่​ดิน​ด้วย. การ​บรรลุ​เป้าหมาย​เหล่า​นี้​เป็น​มาตรการ​ที่​ช่วย​ให้​ประชาชน​จาก​แคว้น​นอร์มังดี​และ​แคว้น​อื่น ๆ ของ​ฝรั่งเศส​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​ใน​อังกฤษ​ได้ และ​จะ​เป็น​การ​รักษา​อำนาจ​ปกครอง​ของ​ชาว​นอร์มัน​ไว้.

“ดูม​สเดย์”

ไม่​นาน​หลัง​จาก​ได้​ชัย​ชนะ​เหนือ​ชาว​อังกฤษ กษัตริย์​วิลเลียม​ได้​มอบ​ที่​ดิน​ของ​ชน​ชั้น​สูง​ชาว​อังกฤษ​ให้​แก่​ขุนนาง​ชาว​นอร์มัน. การ​สำรวจ​ที่​ดิน​ใน​อังกฤษ​ของ​วิลเลียม​แสดง​ว่า พอ​ถึง​ตอน​นั้น ที่​ดิน​ครึ่ง​หนึ่ง​ของ​ประเทศ​เป็น​ทรัพย์​สิน​ของ​คน​ไม่​ถึง 200 คน ซึ่ง​ใน​จำนวน​นี้​มี​เพียง 2 คน​เป็น​ชาว​อังกฤษ. ใน​บรรดา​ผู้​เช่า​ที่​ชาว​อังกฤษ​ซึ่ง​มี​ราว ๆ 6,000 คน หลาย​คน​ไม่​มี​ทาง​เลือก​นอก​จาก​ต้อง​เช่า​ที่​ซึ่ง​พวก​เขา​เคย​เป็น​เจ้าของ​อย่าง​ถูก​ต้อง​ก่อน​ปี 1066. ส่วน​คน​ยาก​จน​และ​ผู้​ถูก​ไล่​ที่​ก็​ต้อง​หา​ทาง​อยู่​รอด​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้.

การ​สำรวจ​ทำ​ให้​การ​ยึด​ครอง​ที่​ดิน​ของ​ชาว​นอร์มัน​เป็น​เรื่อง​ถูก​ต้อง​ตาม​กฎหมาย. การ​สำรวจ​ยัง​ประเมิน​มูลค่า​ของ​ที่​ดิน​และ​บ้าน​เรือน​ของ​ผู้​เช่า​เพื่อ​สามารถ​เก็บ​ภาษี​ได้ และ​มี​การ​สำรวจ​พื้น​ที่​ที่​เป็น​ป่า​และ​ทุ่ง​หญ้า​ด้วย. แม้​แต่​สัตว์ เช่น วัว​และ​หมู ก็​ถูก​สำรวจ​ด้วย. ชาว​อังกฤษ​ที่​ถูก​กดขี่​กังวล​มาก​กับ​การ​สำรวจ​นี้ เพราะ​รู้​ว่า​ไม่​มี​ทาง​คัดค้าน​บันทึก​นี้​ได้. พวก​เขา​เปรียบ​การ​สำรวจ​ครั้ง​ใหญ่​ว่า​เป็น​เหมือน “วัน​พิพากษา” หรือ “วัน​สิ้น​โลก” (Day of Doom). ดัง​นั้น ต่อ​มา​การ​สำรวจ​นี้​จึง​ถูก​เรียก​ว่า การ​สำรวจ​ทรัพย์​สิน​และ​ที่​ดิน​ดูม​สเดย์.

ประมวล​ทรัพย์​สิน​และ​ที่​ดิน​ดูม​สเดย์​มี​สอง​เล่ม ซึ่ง​เขียน​ด้วย​ภาษา​ละติน​บน​แผ่น​หนัง. เล่ม​ที่​มี​ขนาด​หน้า​ใหญ่​กว่า​มี 413 แผ่น; ส่วน​เล่ม​ที่​มี​ขนาด​หน้า​เล็ก​กว่า​มี 475 แผ่น. * บันทึก​นี้​ยัง​ไม่​เสร็จ​สมบูรณ์​เมื่อ​วิลเลียม​สิ้น​พระ​ชนม์​ใน​ปี 1087 และ​ไม่​มี​ใคร​ดำเนิน​การ​ต่อ. ทั้ง​หมด​นี้​เกิด​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร​ใน​เวลา​เพียง​หนึ่ง​ปี?

ชาว​นอร์มัน​สืบ​ทอด​โครง​สร้าง​การ​ปกครอง​แบบ​อังกฤษ อีก​ทั้ง​ได้​ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​เจ้าของ​ที่​ดิน ผู้​เช่า และ​บันทึก​เรื่อง​ภาษี​มา​ด้วย. โดย​ใช้​ข้อมูล​เหล่า​นี้ ชาว​นอร์มัน​จึง​ประเมิน​ภาษี​ใหม่​โดย​ส่ง​เจ้าหน้าที่​ไป​ยัง​เทศ​มณฑล​แต่​ละ​แห่ง​เพื่อ​สอบ​ถาม​ประชาชน.

บันทึก​ดูม​สเดย์​ใน​ปัจจุบัน

ใน​ยุค​กลาง บันทึก​ดูม​สเดย์​มัก​จะ​อยู่​กับ​กษัตริย์. แรก​ที​เดียว มี​การ​ใช้​บันทึก​นี้​เพื่อ​แก้​ข้อ​พิพาท​เรื่อง​กรรมสิทธิ์​ที่​ดิน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ศตวรรษ​ที่ 18 เซอร์​วิลเลียม แบล็กสโตน นัก​กฎหมาย​ที่​มี​ชื่อเสียง​ชาว​อังกฤษ ได้​อ้าง​ถึง​บันทึก​นี้​เพื่อ​ตัดสิน​ว่า​ผู้​เช่า​ที่​ดิน​ราย​ใด​มี​สิทธิ์​จะ​ลง​คะแนน​เสียง. มี​การ​เก็บ​บันทึก​นี้​ไว้​ใน​หลาย​ที่ แต่​ปัจจุบัน มัน​อยู่​ที่​หอ​เอกสาร​แห่ง​สหราชอาณาจักร.

เนื่อง​ใน​วาระ​ครบ​รอบ 900 ปี​ของ​เอกสาร​นี้​ใน​ปี 1986 มี​การ​แบ่ง​เอกสาร​เป็น​ห้า​เล่ม. นัก​วิชาการ​และ​นัก​ประวัติศาสตร์​สามารถ​ดู​คำ​แปล​ฉบับ​ปรับ​ปรุง​ใหม่​ได้. บท​วิเคราะห์​ของ​บี​บี​ซี​เรียก​มัน​ว่า “เอกสาร​ที่​เป็น​รากฐาน​ของ​หอ​เอกสาร​แห่ง​ชาติ​และ . . . ยัง​คง​เป็น​หลักฐาน​ที่​ใช้​ได้​ใน​การ​ยืน​ยัน​กรรมสิทธิ์​ที่​ดิน.” ใน​ปี 1958 มี​การ​ใช้​บันทึก​นี้​เพื่อ​ยืน​ยัน​สิทธิ​ที่​จะ​มี​ตลาด​ของ​เมือง​เก่า​แก่​เมือง​หนึ่ง.

นัก​โบราณคดี​ยัง​คง​ค้นคว้า​บันทึก​ดูม​สเดย์​เพื่อ​หา​ที่​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​ของ​ชาว​อังกฤษ​และ​ชาว​นอร์มัน​ใน​ยุค​กลาง. ทุก​วัน​นี้ บันทึก​นี้​ยัง​คง​เป็น​แหล่ง​ข้อมูล​ที่​ประเมิน​ค่า​มิ​ได้​อัน​เป็น​รากฐาน​ของ​การ​ก่อ​ตั้ง​ประเทศ​อังกฤษ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 11 เล่ม​ที่​มี​ขนาด​หน้า​ใหญ่​กว่า​มี​รายการ​ทรัพย์​สิน​ที่​เก็บ​ภาษี​ได้​แบบ​ย่อ ส่วน​เล่ม​ที่​มี​ขนาด​หน้า​เล็ก​กว่า​ยัง​ไม่​ถูก​ย่อ​และ​ไม่​ได้​รวม​ไว้​ใน​เล่ม​ใหญ่.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 23]

สงคราม​ครูเสด​ของ​วิลเลียม

วิลเลียม​เสนอ​ให้​สันตะปาปา​ยก​ระดับ​การ​รุกราน​ของ​เขา​เป็น​สงคราม​ครูเสด และ​สัญญา​ว่า​สันตะปาปา​จะ​ได้​อำนาจ​มาก​ขึ้น​ใน​การ​ควบคุม​คริสตจักร​แห่ง​อังกฤษ​ซึ่ง​มัก​ออก​นอก​ลู่​นอก​ทาง. สันตะปาปา​ตก​ลง​ทันที. ศาสตราจารย์​เดวิด ซี. ดักลาส​เขียน​ว่า เรื่อง​นี้​เป็น “ชัย​ชนะ​ทาง​การ​ทูต” ของ​วิลเลียม. นัก​ประวัติศาสตร์​ผู้​มี​ชื่อเสียง​อีก​คน​หนึ่ง​ชื่อ​จอร์จ เอ็ม. เทรเวลยัน ลง​ความ​เห็น​ใน​หนังสือ​ชื่อ​ประวัติศาสตร์​อังกฤษ (ภาษา​อังกฤษ) ว่า “ธง​และ​การ​ให้​พร​ของ​สันตะปาปา​มี​ประโยชน์​สำหรับ​วิลเลียม​เพื่อ​จะ​ทำ​สิ่ง​ที่​ดู​เหมือน​เป็น​การ​ปล้น​โดย​ใช้​อาวุธ​ขู่เข็ญ​มาก​กว่า​เป็น​สงคราม​ครูเสด.”

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© The Bridgeman Art Library

[แผนที่​หน้า 22]

(ดู​ราย​ละเอียด​จาก​วารสาร)

อังกฤษ

ลอนดอน

เฮสติงส์

ช่องแคบ​อังกฤษ ช่องแคบ​อังกฤษ

นอร์มังดี

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 22]

Book: Mary Evans/The National Archives London England