จากปก
การประท้วงคือคำตอบสุดท้ายไหม?
พยานพระยะโฮวาผู้จัดพิมพ์วารสารนี้ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทางการเมือง. (โยฮัน 17:16; 18:36) ดังนั้น แม้บทความนี้จะอ้างถึงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองหลายตัวอย่าง แต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะยกย่องชาติใดชาติหนึ่งหรือสนับสนุนนโยบายใด ๆ ทางการเมือง.
วันที่ 17 ธันวาคม 2010 ความอดทนอดกลั้นของโมฮัมเหม็ด บูอาซีซี มาถึงขีดสุด. พ่อค้าขายผลไม้ริมถนนวัย 26 ปีชาวตูนิเซียคนนี้เครียดจัดเพราะไม่สามารถหางานที่ดีกว่านี้ได้. เขายังรู้ด้วยว่ามีเจ้าหน้าที่บางคนของรัฐชอบรีดไถเงินจากประชาชน. เช้าวันนั้นเอง เจ้าหน้าที่ได้มายึดลูกแพร์ กล้วย และแอปเปิลที่เขาขาย. เมื่อเจ้าหน้าที่พยายามยึดตาชั่งของโมฮัมเหม็ด เขาไม่ยอมให้ และพยานผู้เห็นเหตุการณ์บางคนบอกว่าเขาถูกตำรวจหญิงคนหนึ่งตบหน้า.
โมฮัมเหม็ดทั้งโกรธทั้งอาย เขาจึงไปร้องเรียนที่ศาลากลางจังหวัด แต่ไม่มีใครรับฟัง. มีรายงานว่าเขาเดินออกมาหน้าที่ทำการแล้วตะโกนว่า “แล้วอย่างนี้จะให้ผมทำมาหากินยังไง?” จากนั้นเขาก็เอาน้ำมันราดตัวแล้วจุดไฟเผา. เขาเสียชีวิตในอีกสามสัปดาห์ต่อมา.
การต่อสู้ที่จบลงด้วยความตายอันน่าหดหู่ของโมฮัมเหม็ด บูอาซีซี ปลุกกระแสต่อต้านในตูนิเซียและอีกหลายประเทศ. หลายคนมองว่าการกระทำของเขาเป็นชนวนเหตุของการลุกฮือโค่นล้มรัฐบาลตูนิเซีย และหลังจากนั้นการประท้วงก็ลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ ในแถบอาหรับ. รัฐสภาแห่งสหภาพยุโรปได้มอบรางวัลซาคารอฟประจำปี 2011 ซึ่งเป็นรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่บูอาซีซีกับคนอื่น ๆ อีกสี่คน และหนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ แห่งลอนดอนได้ประกาศยกย่องเขาเป็นบุคคลแห่งปี 2011.
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าการประท้วงมีพลังมาก. แต่อะไรอยู่เบื้องหลังคลื่นการประท้วงในหลายภูมิภาคเมื่อ
ไม่นานมานี้? และมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ไหม?ทำไมจึงเกิดคลื่นการประท้วง?
การประท้วงส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ต่อไปนี้:
-
ไม่พอใจระบบสังคม. ถ้าประชาชนเชื่อว่ารัฐบาลสามารถดูแลพวกเขาและเศรษฐกิจของประเทศได้ ก็แทบไม่มีใครคิดที่จะประท้วง ต่างคนต่างก็ทำส่วนของตนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตามกลไกของสังคม. แต่เมื่อไรก็ตามที่ประชาชนรู้สึกว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันหรือความเหลื่อมล้ำในสังคมและระบบต่าง ๆ เอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่มเท่านั้น พวกเขาก็พร้อมจะลุกขึ้นประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม.
-
ชนวนเหตุ. บ่อยครั้งเหตุการณ์บางอย่างอาจกระตุ้นให้ประชาชนออกมาแสดงพลัง จากที่เคยเป็นฝ่ายยินยอมกลายเป็นการต่อต้าน. ตัวอย่างเช่น การตายของโมฮัมเหม็ด บูอาซีซี ได้ปลุกกระแสการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในตูนิเซีย. ในอินเดีย การอดอาหารประท้วงของนักเคลื่อนไหวชื่ออานา อาซาเร ส่งผลให้ผู้สนับสนุนของเขาตามเมืองต่าง ๆ 450 แห่งออกมาชุมนุมประท้วง.
-
คัมภีร์ไบเบิลยอมรับมานานแล้วว่าเราอยู่ในโลกที่ “มนุษย์ใช้อำนาจปกครองมนุษย์อย่างที่ก่อผลเสียหายแก่มนุษย์.” (ท่านผู้ประกาศ 8:9, ล.ม.) การทุจริตคดโกงและความอยุติธรรมในสมัยนี้ยิ่งแพร่ระบาดมากกว่ายุคที่ผ่าน ๆ มา. ที่จริง ผู้คนเห็นหลักฐานชัดเจนกว่าแต่ก่อนว่าระบอบการเมืองและเศรษฐกิจน่าผิดหวังเพียงไร. สมัยนี้การรายงานข่าวตลอด 24 ชั่วโมงรวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น สมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ต ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซีกโลกที่ห่างไกลกลายเป็นชนวนเหตุทำให้เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวางได้.
ผลสำเร็จของการประท้วง
กลุ่มผู้สนับสนุนการก่อความไม่สงบอาจอ้างว่าการประท้วงบรรลุเป้าหมายต่อไปนี้:
-
บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ยากไร้. ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930 ประชาชนในชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ได้ลุกฮือขึ้นประท้วงเจ้าของบ้านเช่าที่ขับไล่พวกเขาออกจากที่พักอาศัยของตน. หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลได้เข้ามาไกล่เกลี่ยและขอให้เจ้าของที่ดินยอมให้ผู้เช่าอาศัยอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง พร้อมทั้งหางานให้ผู้ประท้วงบางคนทำ. การประท้วงคล้าย ๆ กันที่เกิดขึ้นในนครนิวยอร์กช่วยให้ประชาชน 77,000 ครอบครัวที่ถูกขับไล่ออกจากบ้านเช่าได้กลับไปอาศัยอยู่ที่เดิม.
-
แก้ไขปัญหาความอยุติธรรม. ในที่สุดการคว่ำบาตรรถโดยสารประจำทางในเมืองมอนต์กอเมอรี
รัฐแอละแบมา สหรัฐอเมริกาในปี 1955/1956 ได้นำไปสู่การยกเลิกกฎหมายแบ่งแยกที่นั่งของคนผิวขาวและผิวดำบนรถโดยสาร. -
ล้มโครงการก่อสร้าง. ในเดือนธันวาคมปี 2011 ผู้ชุมนุมประท้วงหลายหมื่นคนออกมาเดินขบวนต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ใกล้เกาะฮ่องกงเนื่องจากเป็นห่วงเรื่องปัญหามลพิษ ซึ่งส่งผลให้โครงการนี้ต้องล้มเลิกไป.
จริงอยู่ ผู้ประท้วงอาจไม่ได้รับสิ่งที่ตนเรียกร้องเสมอไป. ตัวอย่างเช่น พวกผู้นำประเทศอาจเลือกใช้กำลังเพื่อยุติการประท้วงแทนที่จะยอมทำตามข้อเรียกร้องของคนเหล่านั้น. ไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีของประเทศหนึ่งในแถบตะวันออกกลางพูดถึงการชุมนุมประท้วงในประเทศของเขาว่า “เราต้องจัดการด้วยกำปั้นเหล็ก.” ผลก็คือมีประชาชนนับพันเสียชีวิตในการประท้วงครั้งนั้น.
แม้ว่าผู้ชุมนุมจะเรียกร้องได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ก็มีปัญหาใหม่ ๆ ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้. ชายคนหนึ่งที่มีบทบาทในการขับไล่ผู้นำของประเทศหนึ่งในแถบแอฟริกาให้สัมภาษณ์กับวารสารไทม์ เกี่ยวกับรัฐบาลใหม่ว่า “นี่คือรัฐในอุดมคติซึ่งไม่นานก็กลับกลายเป็นความโกลาหลวุ่นวาย.”
มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ไหม?
ผู้มีชื่อเสียงในสังคมหลายคนคิดว่าการต่อต้านระบบที่กดขี่เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคน. ตัวอย่างเช่น วาสลาฟ ฮาเวล อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐเช็กซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เคยติดคุกหลายปีเนื่องจากพยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชน. เขาเขียนไว้ในปี 1985 ว่า “[ผู้ต่อต้านอำนาจรัฐ] อย่างมากที่สุดก็ให้ได้แค่ชีวิตของตน
เพราะนี่เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะยืนยันอุดมการณ์ของพวกเขา.”คำพูดของฮาเวลเป็นเหมือนคำทำนายล่วงหน้าถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมของโมฮัมเหม็ด บูอาซีซีและอีกหลาย ๆ คน. ในประเทศหนึ่งแถบเอเชียเมื่อไม่นานมานี้ หลายคนยอมจุดไฟเผาตัวเองเพื่อประท้วงการกดขี่ทางศาสนาและการเมือง. ชายคนหนึ่งกล่าวถึงความรู้สึกของคนที่ยอมพลีชีพเช่นนั้นในวารสารนิวส์วีก ว่า “เราไม่มีปืน. เราไม่ต้องการทำร้ายเพื่อนมนุษย์. คนธรรมดาอย่างเราจะทำอะไรได้มากกว่านี้ล่ะ?”
คัมภีร์ไบเบิลบอกให้รู้ว่ามีวิธีแก้ปัญหาความอยุติธรรม การทุจริตคอร์รัปชัน และการกดขี่. พระคัมภีร์อธิบายว่าพระเจ้าได้ตั้งรัฐบาลหนึ่งขึ้นในสวรรค์. รัฐบาลนี้จะเข้ามาแทนที่ระบอบการเมืองและเศรษฐกิจที่ล้มเหลวซึ่งทำให้เกิดการประท้วง. คัมภีร์ไบเบิลพยากรณ์เกี่ยวกับผู้ปกครองของรัฐบาลนี้ว่า “พระองค์จะทรงช่วยคนขัดสนเมื่อเขาร้องทุกข์, และจะทรงช่วยคนอนาถา, ที่ไม่มีผู้อุปถัมภ์. . . . พระองค์จะไถ่ชีวิตของเขาให้พ้นจากการข่มเหงและการร้ายกาจ.”—บทเพลงสรรเสริญ 72:12, 14
พยานพระยะโฮวาเชื่อว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นเพียงความหวังเดียวของมนุษย์ที่จะทำให้โลกมีความสงบสุขอย่างแท้จริง. (มัดธาย 6:9, 10) ด้วยเหตุนี้ พยานพระยะโฮวาจึงไม่เข้าร่วมในการชุมนุมประท้วง. แต่ความคิดที่ว่ารัฐบาลของพระเจ้าสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างที่ทำให้เกิดการประท้วงเป็นเรื่องเพ้อฝันไหม? ดูเผิน ๆ ก็อาจเป็นเช่นนั้น. แต่หลายล้านคนเชื่อมั่นว่าการปกครองของพระเจ้าเป็นเรื่องจริง. คุณอยากตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยตัวคุณเองไหม?