คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
ที่โรม 12:19 (ล.ม.) อัครสาวกเปาโลบ่งชี้ไหมว่าคริสเตียนไม่ควรโกรธเมื่อท่านบอกว่า “อย่าทำการแก้แค้นเสียเอง พี่น้องที่รัก แต่จงละความโกรธไว้”?
พูดตรง ๆ คือ ไม่. ในข้อนี้อัครสาวกเปาโลพาดพิงถึงพระพิโรธของพระเจ้า. แน่นอน นี่ไม่ได้หมายความว่าที่คริสเตียนยอมแพ้แก่ความโกรธหรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ. คัมภีร์ไบเบิลแนะนำเราอย่างชัดเจนไม่ให้โกรธ. ขอพิจารณาตัวอย่างคำแนะนำจากพระเจ้าสักส่วนหนึ่ง.
“จงอดกลั้นความโกรธไว้, และระงับความโทโสเสีย: อย่าให้ใจเดือดร้อน, มีแต่จะเป็นเหตุให้ทำการชั่วเท่านั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:8) “ผู้ใดโกรธพี่น้องของตน ผู้นั้นจะต้องถูกปรับโทษ.” (มัดธาย 5:22) “การของเนื้อหนังปรากฏแล้ว ได้แก่ การผิดประเวณี, การโสโครก, การประพฤติหละหลวม, การไหว้รูปเคารพ, การถือผี, การเป็นศัตรูกัน, การต่อสู้, การริษยา, การบันดาลโทสะ.” (ฆะลาเตีย 5:19, 20, ล.ม.) “จงให้บรรดาความขมขื่นอย่างมุ่งร้ายและความโกรธและความขุ่นแค้นและการตวาดและคำพูดหยาบหยามอยู่ห่างจากท่านทั้งหลาย.” (เอเฟโซ 4:31, ล.ม.) “ทุกคนจำต้องไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ” (ยาโกโบ 1:19, ล.ม.) นอกจากนี้ พระธรรมสุภาษิตยังแนะนำเราหลายครั้งหลายหนไม่ให้เปิดช่องให้เกิดความโกรธหรือมีแนวโน้มจะโมโหในเรื่องความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ และความผิดพลาดของมนุษย์ด้วยกัน.—สุภาษิต 12:16; 14:17, 29; 15:1; 16:32; 17:14; 19:11, 19; 22:24; 25:28; 29:22.
บริบทของโรม 12:19 ประสานกับคำแนะนำดังกล่าว. เปาโลแนะว่า ให้ความรักของเราปราศจากความหน้าซื่อใจคด, ให้เราอวยพรผู้ที่กดขี่ข่มเหงเรา, ให้เราพยายามคิดถึงคนอื่นในแง่ดี, ให้เราไม่ทำชั่วตอบแทนชั่ว และให้เราพยายามอยู่อย่างสงบสุขกับทุกคน. แล้วท่านกระตุ้นเราว่า “อย่าทำการแก้แค้นเสียเอง พี่น้องที่รัก แต่จงละความโกรธไว้; เพราะมีเขียนไว้ว่า ‘การแก้แค้นเป็นของเรา; เราจะตอบแทน พระยะโฮวาตรัส.’ ”—โรม 12:9, 14, 16-19, ล.ม.
ถูกแล้ว เราไม่ควรปล่อยให้ความโกรธกระตุ้นเราให้ตอบโต้ด้วยการแก้แค้น. ความรู้ของเราในเรื่องสภาพการณ์ต่าง ๆ และความรู้สึกในเรื่องความยุติธรรมของเราไม่เพียบพร้อมสมบูรณ์. ถ้าเราปล่อยให้ความโกรธกระตุ้นเราให้ลงมือแก้แค้น เรามักจะทำผิด. การทำเช่นนั้นจะส่งเสริมจุดมุ่งหมายของศัตรูของพระเจ้า คือพญามาร. เปาโลเขียนไว้อีกที่หนึ่งว่า “โกรธเถิด และถึงกระนั้นก็อย่าทำบาป; อย่าให้ตะวันตกโดยที่ท่านยังขุ่นเคืองอยู่ และอย่าเปิดช่องแก่พญามาร.”—เอเฟโซ 4:26, 27, ล.ม.
แนวทางที่ดีกว่าและสุขุมกว่าคือ ให้พระเจ้าตัดสินว่าจะทำการแก้แค้นเมื่อไรและต่อใคร. พระองค์สามารถทำเช่นนั้นได้โดยรู้ข้อเท็จจริงครบถ้วน และการตอบแทนใด ๆ ที่พระองค์ทรงทำจะสะท้อนให้เห็นความยุติธรรมอันสมบูรณ์ของพระองค์. เราเห็นได้ว่านี่แหละคือจุดที่เปาโลชี้ถึงในโรม 12:19 เมื่อเราสังเกตข้อที่ท่านอ้างถึงพระบัญญัติ 32:35, 41 ซึ่งรวมถ้อยคำนี้ไว้ด้วยคือว่า “การแก้แค้นและการตอบแทนเป็นหน้าที่ของเรา.” (เทียบกับเฮ็บราย 10:30.) ดังนั้น แม้ว่าไม่พบคำ “ของพระเจ้า” ในข้อความภาษากรีก แต่ผู้แปลสมัยใหม่หลายคนได้ใส่คำนี้ในโรม 12:19 ซึ่งทำให้ได้ข้อความอย่างเช่น “ให้พระเจ้าทรงแก้แค้น” (ฉบับแปลภาษาอังกฤษร่วมสมัย ); “เปิดทางให้พระพิโรธของพระเจ้า” (อเมริกัน สแตนดาร์ด เวอร์ชัน); “ให้พระเจ้าทรงลงโทษหากพระองค์ทรงประสงค์” (พันธสัญญาใหม่ในภาษาอังกฤษสมัยใหม่); “ปล่อยให้พระเจ้าทรงตอบแทน.”—เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล.
แม้แต่เมื่อถูกทำร้ายหรือกดขี่ข่มเหงจากเหล่าศัตรูของความจริง เราก็สามารถสำแดงความไว้วางใจในคำพรรณนาเกี่ยวกับพระยะโฮวาพระเจ้าที่โมเซเคยได้ยินที่ว่า “พระยะโฮวา พระยะโฮวา พระเจ้าผู้ทรงเมตตาและอุดมด้วยพระคุณ ช้าในการโกรธ และบริบูรณ์ด้วยความรักกรุณาและความจริง คงรักษาความรักกรุณาไว้ให้กับคนนับพัน ทรงโปรดยกโทษความผิดพลาดและการล่วงละเมิดและบาป แต่พระองค์ไม่ทรงละเว้นการลงโทษเป็นอันขาด.”—เอ็กโซโด 34:6, 7, ล.ม.