จุดเด่นจากพระธรรมพระบัญญัติ
พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมพระบัญญัติ
ตอนนั้นเป็นปี 1473 ก่อนสากลศักราช. เวลาผ่านไปแล้วสี่สิบปีตั้งแต่พระยะโฮวาทรงช่วยลูกหลานของอิสราเอลพ้นสภาพทาสในอียิปต์. ภายหลังการเดินทางรอนแรมในป่าทุรกันดารนานหลายปี ชาติอิสราเอลยังหาได้ครอบครองแผ่นดินใดไม่. แต่ในที่สุด พวกเขาก็มาอยู่ ณ ชายแดนแผ่นดินตามคำสัญญา. จะมีอะไรเกิดขึ้นขณะที่พวกเขาเข้ายึดแผ่นดินนั้น? พวกเขาจะเผชิญปัญหาอะไร และเขาจะแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไร?
ก่อนชาวอิสราเอลข้ามแม่น้ำจอร์แดน (ยาระเดน) เข้าไปในแผ่นดินคะนาอัน โมเซเตรียมประชาคมเพื่องานใหญ่และสำคัญซึ่งรออยู่เบื้องหน้า. ท่านทำอย่างไร? ท่านได้กล่าวปราศรัยซึ่งชูกำลัง, แนะนำ, และตักเตือน. ท่านเตือนชาวอิสราเอลทั้งปวงให้ระลึกว่าพระยะโฮวาพระเจ้าสมควรได้รับความเลื่อมใสโดยเฉพาะ และพวกเขาต้องไม่ติดตามแนวทางของชาติต่าง ๆ ที่อยู่ล้อมรอบ. คำปราศรัยต่าง ๆ เหล่านั้นประกอบกันเป็นส่วนใหญ่แห่งพระธรรมพระบัญญัติ. และคำแนะนำที่ให้ไว้ในคำปราศรัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราสมัยนี้ต้องการอยู่ทีเดียว เพราะพวกเราก็เช่นเดียวกัน มีชีวิตอยู่ในโลกซึ่งการถวายความเลื่อมใสโดยเฉพาะแด่พระยะโฮวาเป็นเรื่องที่ท้าทาย.—เฮ็บราย 4:12.
โมเซเป็นผู้เขียนพระธรรมพระบัญญัติทั้งเล่มยกเว้นบทสุดท้าย พระธรรมพระบัญญัติครอบคลุมช่วงเวลาสองเดือนเศษ. * (พระบัญญัติ 1:3; ยะโฮซูอะ 4:19) ให้เราดูซิว่าคำแนะนำในพระธรรมเล่มนี้ช่วยเราได้อย่างไรที่ให้รักพระยะโฮวาพระเจ้าด้วยสุดหัวใจของเราและรับใช้พระองค์ด้วยความซื่อสัตย์.
‘อย่าลืมสิ่งที่ตาของเจ้าได้เห็นนั้น’
ในคำปราศรัยแรก โมเซได้เล่าประสบการณ์บางเรื่องในถิ่นทุรกันดารอย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่จะเป็นประโยชน์แก่ชาวอิสราเอลขณะที่พวกเขาเตรียมเข้ายึดครองแผ่นดินตามคำสัญญา.
เรื่องราวเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้วินิจฉัยคงได้เตือนใจพวกเขาให้รู้ว่าพระยะโฮวาได้จัดระเบียบประชาชนของพระองค์เพื่อรับรองว่าพวกเขาจะได้รับการดูแลด้วยความรัก. นอกจากนั้น โมเซยังได้อ้างรายงานในแง่ลบที่ได้จากคนสอดแนมสิบคน ซึ่งเป็นเหตุให้คนรุ่นก่อนหน้านี้ไม่ได้เข้าในแผ่นดินตามคำสัญญา. ลองนึกถึงผลกระทบที่มีต่อผู้คนซึ่งได้ฟังคำเตือนสตินี้จากโมเซ ขณะที่พวกเขาเองมองเห็นแผ่นดินนั้นทอดยาวอยู่เบื้องหน้า.การเล่าเรื่องที่พระยะโฮวาได้ประทานชัยชนะแก่พวกอิสราเอลก่อนพวกเขาจะข้ามแม่น้ำจอร์แดนคงได้ปลุกเร้าความกล้าหาญของเขาขณะที่พร้อมจะเริ่มพิชิตอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ. พวกเขาจวนเข้ายึดครองแผ่นดินซึ่งเต็มไปด้วยรูปเคารพ. เหมาะสมเพียงใดที่โมเซเตือนอย่างเฉียบขาดให้ระวังการนมัสการรูปเคารพ!
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
2:4-6, 9, 19, 24, 31-35; 3:1-6—ทำไมพวกอิสราเอลทำลายล้างคนบางกลุ่มและไม่ได้ทำลายล้างอีกบางกลุ่มที่อาศัยอยู่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน? พระยะโฮวาทรงบัญชาพวกอิสราเอลไม่ให้ทำสงครามสู้รบกับลูกหลานของเอซาว. เพราะเหตุใด? เพราะพวกเขาเป็นเชื้อสายของพี่ชายยาโคบ. พวกอิสราเอลจะต้องไม่รบกวนหรือทำสงครามต่อสู้ชาวโมอาบและอัมโมน เพราะเขาเป็นเชื้อสายของโลตหลานชายอับราฮาม. อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ซีโฮนและโอฆแห่งอะโมรีไม่ใช่เชื้อสายอิสราเอลจึงไม่อาจอ้างสิทธิ์ในแผ่นดินที่เขาครอบครอง. ดังนั้น เมื่อซีโฮนไม่ยอมให้ชาวอิสราเอลเดินทางผ่านประเทศของตน และโอฆได้ออกมาสู้รบพวกอิสราเอล พระยะโฮวาทรงสั่งชาวอิสราเอลทำลายเมืองต่าง ๆ ของคนเหล่านั้น ไม่ให้มีผู้ใดเหลือรอดอยู่เลย.
4:15-20, 23, 24—การห้ามทำรูปแกะสลักจะหมายความว่าเป็นการผิดหรือไม่ หากทำวัตถุจำลองในเชิงศิลปะแทนสิ่งหนึ่งสิ่งใด? ไม่. การห้ามในที่นี้หมายถึงห้ามทำรูปบูชาเพื่อการนมัสการ ห้าม ‘นมัสการและปฏิบัติรูปเหล่านั้น.’ พระคัมภีร์ไม่ห้ามการแกะสลักหรือการวาดภาพสิ่งใดเพื่อจุดประสงค์ทำเป็นงานศิลปะ.—1 กษัตริย์ 7:18, 25.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:2, 19. พวกอิสราเอลเดินทางรอนแรมในถิ่นทุรกันดารประมาณ 38 ปี ทั้ง ๆ ที่คาเดช-บาร์เนียอยู่ห่างโฮเรบ (แถบเทือกเขารอบ ๆ ภูเขาไซนาย อันเป็นสถานที่ที่พระเจ้าประทานพระบัญญัติสิบประการ) เพียง “สิบเอ็ดวันตามทางภูเขาเซอีร.” การไม่เชื่อฟังพระยะโฮวาพระเจ้ายังผลที่ร้ายแรงเสียจริง ๆ!—อาฤธโม 14:26-34.
1:16, 17. มาตรการการพิพากษาของพระเจ้าในปัจจุบันก็เป็นแบบเดียวกัน. บรรดาผู้ได้รับมอบหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินความจะต้องไม่ยอมให้ความรู้สึกแบบเลือกที่รักมักที่ชังหรือการกลัวหน้ามนุษย์เข้ามาบิดเบือนการตัดสินของเขา.
4:9. การ ‘ไม่ลืมสิ่งทั้งหลายที่ตาของพวกเขาได้เห็น’ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวอิสราเอลเพื่อประสบความสำเร็จ. ขณะโลกใหม่ตามคำสัญญาคืบใกล้เข้ามา นับว่าสำคัญเช่นกันที่เราพึงจดจ้องดูการกระทำอันน่าพิศวงของพระยะโฮวาโดยการเป็นคนขยันหมั่นเพียรศึกษาพระคำของพระองค์.
รักพระยะโฮวา และเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์
ในคำปราศรัยที่สองของโมเซ ท่านกล่าวถึงการประทานกฎหมาย ณ ภูเขาไซนายและกล่าวซ้ำพระบัญญัติสิบประการอีกครั้งหนึ่ง. มีการระบุชื่อเจ็ดชาติที่จะต้องถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง. ชาวอิสราเอลได้รับการเตือนให้ระลึกถึงบทเรียนสำคัญระหว่างการเดินทางในป่าทุรกันดารที่ว่า “มนุษย์จะจำเริญชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้, แต่จะมีชีวิตอยู่เพราะบรรดาพระวจนะซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์พระยะโฮวา.” เมื่ออยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ เขาต้อง “รักษาบัญญัติทั้งปวง.”—พระบัญญัติ 8:3; 11:8.
เมื่อเขาตั้งหลักแหล่งในแผ่นดินตามคำสัญญา ชาวอิสราเอลจำต้องมีกฎหมาย ไม่เฉพาะกฎหมายที่ใช้สำหรับการนมัสการ แต่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีความ, การปกครอง, สงคราม, และวิถีชีวิตประจำวันของชุมชนและชีวิตส่วนตัว. โมเซได้กล่าวทบทวนข้อกฎหมายเหล่านี้และตอกย้ำความจำเป็นที่ต้องรักพระยะโฮวาและเชื่อฟังบัญญัติทั้งปวงของพระองค์.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
8:3, 4—เป็นไปได้อย่างไรที่ว่าเสื้อผ้าของชาวอิสราเอลมิได้เก่าไปและเท้าของเขาก็ไม่บวมในช่วงเดินทางผ่านถิ่นทุรกันดาร? ทั้งนี้เป็นการจัดเตรียมอย่างน่าอัศจรรย์จากพระเจ้า เช่นเดียวกับการจัดเตรียมมานาให้พวกเขาเป็นประจำ. ชาวอิสราเอลใช้เสื้อผ้าชุดเดิมและรองเท้าคู่เดิมที่เขามีอยู่แล้วก่อนรอนแรมในป่า เป็นไปได้ที่มีการให้เสื้อผ้าและรองเท้าแก่คนอื่นเพราะเด็กโตขึ้นและผู้ใหญ่ก็เสียชีวิตไป. เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงด้วยการสำรวจสำมะโนประชากรทั้งตอนเริ่มต้นและภายหลังสิ้นสุดการเดินทางในป่าก็เห็นว่าจำนวนผู้คนของอิสราเอลไม่ได้เพิ่มขึ้น สิ่งของเครื่องนุ่งห่มซึ่งมีอยู่เดิมก็น่าจะพอ.—อาฤธโม 2:32; 26:51.
14:21—ทำไมเป็นสิ่งที่ชาวอิสราเอลทำได้ ในการที่เขาให้เนื้อสัตว์ที่ตายโดยไม่มีการเอาเลือดออกแก่คนแขกเมืองหรือขายให้ชาวประเทศอื่น ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเองจะไม่กิน? ในคัมภีร์ไบเบิลคำ “คนแขกเมือง” อาจพาดพิงถึงชาวประเทศอื่นที่เปลี่ยนมาถือศาสนายิว หรือเป็นคนตั้งหลักแหล่งในแผ่นดินซึ่งยินยอมเชื่อฟังกฎหมายของประเทศ แต่ไม่ได้เปลี่ยนมาเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา. ชาวประเทศอื่นและแขกเมืองที่ไม่เปลี่ยนมาถือศาสนายิวจึงไม่อยู่ใต้พระบัญญัติ และสามารถจะเอาสัตว์ที่ตายโดยไม่มีการเอาเลือดออกนั้นไปใช้ได้หลาย ๆ ทาง. ชาวอิสราเอลได้รับอนุญาตให้ยกหรือขายสัตว์ดังกล่าวให้เขา. ในทางกลับกัน พวกที่เปลี่ยนศาสนามีข้อผูกมัดโดยสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ. ตามที่ระบุในเลวีติโก 17:10 ห้ามคนจำพวกดังกล่าวรับประทานเลือดสัตว์.
24:6 (ล.ม.)—ทำไมการยึดเอา “เครื่องโม่หรือหินโม่ชั้นบนเป็นสิ่งค้ำประกัน” จึงเทียบได้กับการยึด “จิตวิญญาณ” ทีเดียว? เครื่องโม่และหินโม่ชั้นบนถูกนำมาใช้แทน “จิตวิญญาณ” ของคนเราหรือเป็นเครื่องประกอบการเลี้ยงชีพ. การยึดเอาสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งย่อมทำให้ทั้งครอบครัวเดือดร้อนเนื่องจากขาดขนมปังอาหารประจำวัน.
25:9—อะไรคือความหมายของการถอดรองเท้าออก และถ่มน้ำลายรดหน้าผู้ชายซึ่งไม่ยอมแต่งงานกับภรรยาม่ายของพี่น้องของตน? ตาม “ธรรมเนียมโบราณในพวกยิศราเอลเมื่อมีการไถ่ [“ว่าด้วยสิทธิการซื้อคืน,” ล.ม.] . . . . คนหนึ่งต้องถอดรองเท้าของตนให้แก่เพื่อน.” (ประวัตินางรูธ 4:7) การถอดรองเท้าของชายผู้หนึ่งที่ไม่ยอมรับภาระหน้าที่เป็นเขยแทน จึงเป็นการยืนยันว่าเขาถอนตัวและสละสิทธิที่จะให้กำเนิดทายาทแก่พี่หรือน้องชายของเขาที่ล่วงลับไปแล้ว. นี่คือความอัปยศ. (พระบัญญัติ 25:10) การถ่มน้ำลายรดหน้าเป็นการแสดงอาการดูถูก.—อาฤธโม 12:14.
บทเรียนสำหรับเรา:
6:6-9. มีบัญชาแก่ชาวอิสราเอลให้รู้จักข้อกฎหมายฉันใด พวกเราจะต้องรู้บทบัญญัติต่าง ๆ ของพระเจ้าจนขึ้นใจ, จดจำใส่ใจไว้เสมอ, และพร่ำสอนบุตรหลานของเราฉันนั้น. เราต้อง ‘เอาถ้อยคำเหล่านั้นพันไว้ที่มือของเราเป็นของสำคัญ’ เพื่อว่าการกระทำของเรา—ซึ่งมือเป็นเครื่องหมายแสดงถึง—ต้องแสดงให้เห็นว่าเราเชื่อฟังพระยะโฮวา. และเหมือน “จารึกไว้ที่หว่างคิ้ว” การเชื่อฟังของเราต้องประจักษ์แจ้งแก่คนทั้งปวง.
6:16. ขออย่าให้เราทดลองพระยะโฮวาอย่างที่ชาวอิสราเอลที่ขาดความเชื่อได้กระทำที่ตำบลมาซา ซึ่งที่นั่นเขาบ่นติเตียนเรื่องการขาดแคลนน้ำ.—เอ็กโซโด 17:1-7.
8:11-18. การนิยมวัตถุอาจทำให้เราลืมพระยะโฮวาได้.
9:4-6. เราต้องระวังการถือตัวเป็นคนชอบธรรม.
13:6. เราต้องไม่ยอมให้ใครทำให้เราหันเหไปจากการนมัสการพระยะโฮวา.
14:1. การทำร้ายร่างกายตัวเองให้บาดเจ็บหรือพิการแสดงถึงการไม่นับถือร่างกาย บางทีอาจเกี่ยวข้องกับศาสนาเท็จ จึงต้องหลีกเลี่ยง. (1 กษัตริย์ 18:25-28) การแสดงความโศกเศร้าอาลัยคนตายมากเกินไปย่อมไม่เหมาะสม เนื่องจากเรามีความหวังในเรื่องการเป็นขึ้นจากตาย.
20:5-7; 24:5. สมควรแสดงการคำนึงถึงคนเหล่านั้นซึ่งอยู่ภายใต้สภาพการณ์เฉพาะอย่าง แม้ว่าสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่นั้นสำคัญ.
22:23-27. ผู้หญิงมีวิธีหนึ่งที่ใช้ป้องกันตัวได้ดีที่สุดเมื่อเธอถูกคุกคามข่มขืน คือการส่งเสียงกรีดร้องให้ดัง.
“เจ้าทั้งหลายจะเลือกเอาข้างชีวิต”
ในคำปราศรัยที่สาม โมเซกล่าวว่า ภายหลังการข้ามแม่น้ำจอร์แดน ชาวอิสราเอลต้องจารึกข้อบัญญัติบนศิลาใหญ่และกล่าวคำแช่งคนที่ไม่เชื่อฟังและอวยพรผู้เชื่อฟัง. คำปราศรัยที่สี่เริ่มด้วยการทบทวนสัญญาไมตรีระหว่างพระยะโฮวากับชาติอิสราเอล. อีกครั้งหนึ่งโมเซได้กล่าวเตือนให้ระวังการไม่เชื่อฟังและกระตุ้นเตือนผู้คนให้ “เลือกเอาข้างชีวิต.”—พระบัญญัติ 30:19.
นอกจากการปราศรัยสี่ครั้งแล้ว โมเซพิจารณาการเปลี่ยนสถานะผู้นำและสอนบทเพลงอันไพเราะแก่ชาวอิสราเอลซึ่งยกย่องพระยะโฮวา ทั้งเตือนถึงภัยพิบัติที่จะมีมาเนื่องด้วยการไม่รักษาความซื่อสัตย์. หลังจากได้อวยพรตระกูลต่าง ๆ แล้ว โมเซก็สิ้นชีพเมื่ออายุ 120 ปี และศพท่านถูกฝังไว้. ประชาชนอาลัยไว้ทุกข์ให้ท่าน 30 วัน เกือบครึ่งหนึ่งของช่วงเวลาที่มีกล่าวถึงในพระธรรมพระบัญญัติ.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
32:13, 14—เนื่องจากการสั่งห้ามชาวอิสราเอลรับประทานมันใด ๆ ของสัตว์ การที่พวกเขารับประทาน “มันลูกแกะ” นั้นจะหมายความอย่างไร? การใช้คำว่ามันสัตว์ ณ ที่นี้เป็นอุปมา และหมายถึงตัวที่ดีที่สุดในฝูง. การใช้คำนี้ในอุปมาเชิงกวีแสดงให้เห็นโดยข้อเท็จจริงที่ว่าข้อเดียวกันนี้ก็ได้พูดถึง “เลือดขององุ่น” (ฉบับแปลใหม่).
33:1-29—เหตุใดไม่ได้เจาะจงเอ่ยชื่อซิมโอนในคำอวยพรของโมเซเมื่อท่านให้พรลูกหลานอิสราเอล? ที่เป็นเช่นนั้นเพราะซิมโอนและเลวีได้ประพฤติ “ดุร้าย” และความโกรธของเขา “รุนแรง.” (เยเนซิศ 34:13-31; 49:5-7) มรดกของพวกเขาก็ได้ไม่เท่ากันกับตระกูลอื่น. ตระกูลเลวีได้รับ 48 หัวเมือง และซิมโอน (ซีโมน) ได้รับส่วนของเขาภายในเขตแดนของตระกูลยูดาห์. (ยะโฮซูอะ 19:9; 21:41, 42) ดังนั้น โมเซจึงไม่ได้อวยพรซิมโอนอย่างเจาะจง. อย่างไรก็ดี พรที่ซิมโอนได้รับก็รวมอยู่ในคำอวยพรแก่ชาวอิสราเอลทั้งชาติ.
บทเรียนสำหรับเรา:
31:12. พวกเด็กเล็กทั้งหลายควรนั่งกับผู้ใหญ่ ณ การประชุมประชาคม และตั้งใจฟังตั้งใจเรียน.
32:4. บรรดากิจการทั้งสิ้นของพระยะโฮวาสมบูรณ์พร้อม พระองค์ทรงสำแดงคุณลักษณะได้อย่างสมดุล ทั้งในด้านความยุติธรรม, สติปัญญา, ความรัก, และอำนาจ.
มีคุณค่ามากยิ่งสำหรับพวกเรา
พระธรรมพระบัญญัติพรรณนาพระยะโฮวาว่าเป็น “เอกพระยะโฮวา.” (พระบัญญัติ 6:4) พระธรรมเล่มนี้พูดถึงชนชาติหนึ่งที่มีสัมพันธภาพเป็นพิเศษกับพระเจ้า. อนึ่ง พระธรรมพระบัญญัติเตือนให้ระวังการบูชารูปเคารพและมุ่งเน้นความจำเป็นที่จะต้องถวายความเลื่อมใสโดยเฉพาะแด่พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว.
แน่นอน พระธรรมพระบัญญัติมีคุณค่ามากยิ่งสำหรับพวกเรา! ถึงแม้ไม่จำเป็นที่เราจะปฏิบัติตามพระบัญญัติของโมเซอีกต่อไป แต่เราสามารถเรียนได้มากจากพระธรรมเล่มนี้ซึ่งช่วยเสริมเราให้ ‘รักพระยะโฮวาพระเจ้าของเราสุดหัวใจ, สุดชีวิต, และสุดกำลังวังชาของเรา.’—พระบัญญัติ 6:5, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 บทสุดท้ายซึ่งเป็นบันทึกการสิ้นชีวิตของโมเซ อาจเป็นยะโฮซูอะหรือไม่ก็เอลิอาเซอร์มหาปุโรหิตที่เขียนเพิ่มเข้าไป.
[แผนที่หน้า 24]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
เซอีร์
คาเดช-บาร์เนีย
ภูเขาไซนาย (โฮเรบ)
ทะเลแดง
[ที่มาของภาพ]
Based on maps copyrighted by Pictorial Archive (Near Eastern History) Est. and Survey of Israel
[ภาพหน้า 24]
คำปราศรัยต่าง ๆ ของโมเซรวมกันเป็นส่วนใหญ่ของพระธรรมพระบัญญัติ
[ภาพหน้า 26]
เราได้บทเรียนอะไรจากการที่พระยะโฮวาทรงประทานมานา?
[ภาพหน้า 26]
การยึดเอาเครื่องโม่หรือหินโม่ชั้นบนเป็นสิ่งค้ำประกันเปรียบได้กับการยึดเอา “จิตวิญญาณ” ไว้