อะไรถูกอะไรผิดคุณควรตัดสินอย่างไร?
อะไรถูกอะไรผิดคุณควรตัดสินอย่างไร?
ใครมีอำนาจที่จะกำหนดมาตรฐานว่าอะไรถูกอะไรผิด? มีการยกคำถามนั้นขึ้นมาในตอนต้นแห่งประวัติศาสตร์ของมนุษย์ทีเดียว. ตามที่กล่าวในพระธรรมเยเนซิศ พระเจ้าทรงเรียกต้นไม้ต้นหนึ่งที่งอกขึ้นในสวนเอเดนว่าเป็น “ต้นไม้ที่รู้จักความดีและชั่ว.” (เยเนซิศ 2:9) พระเจ้าทรงสั่งห้ามมนุษย์คู่แรกไม่ให้กินผลไม้จากต้นนี้. อย่างไรก็ดี ซาตานพญามาร ศัตรูของพระเจ้าได้แนะว่าหากเขากินผลจากต้นนี้แล้ว ตาของเขา “จะสว่างขึ้น” และเขา “จะเป็นเหมือนพระ [“พระเจ้า,” ล.ม.], จะรู้จักความดีและชั่ว.”—เยเนซิศ 2:16, 17; 3:1, 5; วิวรณ์ 12:9.
อาดามและฮาวาเผชิญการตัดสินใจ—เขาควรยอมรับมาตรฐานของพระเจ้าในเรื่องความดีและความชั่วไหม หรือว่าควรทำตามมาตรฐานของตัวเอง? (เยเนซิศ 3:6) เขาเลือกที่จะไม่เชื่อฟังพระเจ้าและกินผลไม้จากต้นนั้น. การกระทำง่าย ๆ เช่นนี้แสดงนัยถึงอะไร? โดยปฏิเสธที่จะแสดงความนับถือต่อข้อจำกัดที่ พระเจ้าวางไว้ให้เขา ทั้งสองยืนยันว่าตัวเขาเองกับลูกหลานคงจะมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าโดยการกำหนดมาตรฐานของตนเองขึ้นในเรื่องอะไรถูกอะไรผิด. มนุษยชาติได้ประสบผลสำเร็จเพียงไรในการพยายามใช้อำนาจเหมือนพระเจ้าเช่นนี้?
ความคิดเห็นที่ต่างกัน
หลังจากทบทวนคำสอนของนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงตลอดศตวรรษต่าง ๆ สารานุกรมบริแทนนิกา (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยของโสกราตีส นักปรัชญากรีกมาจนถึงศตวรรษที่ 20 มี “การถกเถียงกันครั้งแล้วครั้งเล่าในเรื่องคำจำกัดความที่แน่ชัดเกี่ยวกับความดีและมาตรฐานเรื่องความถูกผิด.”
ตัวอย่างเช่น พวกโซฟิสท์เป็นกลุ่มนักปรัชญากรีกที่มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ห้าก่อนสากลศักราช. พวกเขาสอนว่ามาตรฐานเรื่องความถูกผิดได้รับการกำหนดโดยความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่. นักปรัชญาคนหนึ่งในกลุ่มนั้นกล่าวว่า “อะไรก็ตามที่ดูเหมือนว่าถูกต้องทางด้านศีลธรรมและเป็นที่ยอมรับได้สำหรับแต่ละเมือง ก็ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับสำหรับเมืองนั้น ๆ ตราบใดที่ชาวเมืองคิดอย่างนั้น.” โดยอาศัยมาตรฐานนี้ โจดีที่กล่าวถึงในบทความก่อน ควรเก็บเงินไว้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในชุมชน หรือ “เมือง” ของเขาคงจะทำเช่นนั้น.
อิมมานูเอล คานท์ นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงโด่งดังในศตวรรษที่ 18 ได้แสดงทัศนะที่ต่างออกไป. วารสารประเด็นในเรื่องหลักจรรยา (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “อิมมานูเอล คานท์และคนอื่นที่เป็นเหมือนเขา . . . เพ่งเล็งไปที่สิทธิส่วนบุคคลที่จะตัดสินใจเลือกเอง.” ตามปรัชญาของคานท์แล้ว โจดีจะทำอะไรคงจะขึ้นอยู่กับตัวเขาทั้งสิ้น ตราบใดที่เขาไม่ได้ละเมิดสิทธิของผู้อื่น. เขาไม่ควรปล่อยให้ความเห็นของคนส่วนใหญ่มากำหนดมาตรฐานให้เขา.
ดังนั้น โจดีจัดการอย่างไรกับความลำบากใจของเขา? เขาใช้ทางเลือกที่สาม. เขานำคำสอนของพระเยซูคริสต์มาใช้ ซึ่งมาตรฐานทางศีลธรรมของพระองค์ได้รับการยกย่องจากทั้งคนที่เป็นคริสเตียนและไม่ได้เป็นคริสเตียนด้วย. พระเยซูสอนว่า “เหตุฉะนั้นสิ่งสารพัตรซึ่งท่านปรารถนาให้มนุษย์ทำแก่ท่าน, จงกระทำอย่างนั้นแก่เขาเหมือนกัน.” (มัดธาย 7:12) ลูกค้าของโจดีรู้สึกประหลาดใจ เมื่อเขายื่นเงินให้เธอ 82,000 ดอลลาร์. เมื่อถามว่าทำไมเขาไม่เอาเงินนี้ไป โจดีอธิบายว่าเขาเป็นพยานพระยะโฮวาและบอกว่า “นี่ไม่ใช่เงินของผม.” โจดีถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะเชื่อฟังคำตรัสของพระเยซูที่บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลที่มัดธาย 19:18 ที่ว่า “อย่าลักทรัพย์.”
ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่เป็นเครื่องนำทางที่ไว้ใจได้ไหม?
บางคนคงจะบอกว่า โจดีเป็นคนโง่ที่ซื่อสัตย์อย่างนั้น. แต่ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ไม่ใช่เครื่องนำทางที่ไว้ใจได้. ตัวอย่างเช่น หากคุณมีชีวิตอยู่ในสังคมที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการบูชายัญเด็กเป็นที่ยอมรับ เหมือนกับที่บางสังคมในอดีตเคยคิดอย่างนั้น นั่นจะทำให้กิจปฏิบัตินี้ถูกต้องไหม? (2 กษัตริย์ 16:3) จะว่าอย่างไรหากคุณเกิดมาในสังคมที่ถือว่าการกินเนื้อมนุษย์เป็นการกระทำที่ไม่ผิดทำนองคลองธรรม? นั่นจะหมายความว่า ที่แท้แล้ว การกินเนื้อมนุษย์ไม่ได้ผิดจริง อย่างนั้นหรือ? การที่คนส่วนใหญ่นิยมชมชอบกิจปฏิบัติอย่างหนึ่งก็มิได้ทำให้กิจปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งถูกต้อง. คัมภีร์ไบเบิลได้เตือนให้ระวังหลุมพรางนี้นานมาแล้วโดยกล่าว ว่า “เจ้าอย่าได้กระทำการชั่วตามอย่างคนส่วนมากที่เขากระทำกันนั้นเลย.”—เอ็กโซโด 23:2.
พระเยซูคริสต์ได้ระบุเหตุผลอีกประการหนึ่งที่พึงระวังในการรับเอาความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่เป็นเครื่องนำทางในเรื่องว่าอะไรถูกอะไรผิด. พระองค์ได้เปิดโปงว่าซาตานเป็น “ผู้ครองโลก.” (โยฮัน 14:30; ลูกา 4:6) ซาตานใช้ตำแหน่งของมันชักนำ “มนุษย์โลกทั้งปวง” ให้หลง. (วิวรณ์ 12:9) เพราะฉะนั้น หากคุณกำหนดมาตรฐานความถูกผิดของคุณโดยอาศัยสิ่งที่คนส่วนใหญ่นิยมชมชอบเท่านั้น คุณก็อาจรับเอาทัศนะของซาตานในเรื่องหลักศีลธรรม และนั่นจะนำไปสู่ความหายนะอย่างเห็นได้ชัด.
คุณจะไว้ใจการตัดสินของตัวเองได้ไหม?
ถ้าเช่นนั้น แต่ละคนควรตัดสินใจเอาเองว่าอะไรถูกอะไรผิดไหม? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง.” (สุภาษิต 3:5) เพราะเหตุใด? เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมีข้อบกพร่องพื้นฐานที่สืบทอดมาซึ่งอาจบิดเบือนการตัดสินของเขา. เมื่ออาดามและฮาวาขัดขืนพระเจ้า เขาทั้งสองได้รับเอามาตรฐานของซาตานผู้ทรยศที่เห็นแก่ตัวและเลือกมันเป็นบิดาฝ่ายวิญญาณของตน. แล้วเขาได้ถ่ายทอดลักษณะนิสัยประจำครอบครัวให้ลูกหลานของตน นั่นคือหัวใจที่ทรยศพร้อมกับความสามารถที่จะมองออกว่าอะไรถูก แต่ก็มีแนวโน้มที่จะติดตามสิ่งที่ผิด.—เยเนซิศ 6:5; โรม 5:12; 7:21-24.
ในการพิจารณาหลักจริยธรรม สารานุกรมบริแทนนิกา ให้ข้อสังเกตว่า “ดูเหมือนว่าไม่น่าแปลกใจถ้าคนเรารู้ว่าควรทำอะไรทางด้านศีลธรรม แต่แล้วก็ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับตนเองต่อไปแทน. การจะให้เหตุผลอย่างไรดีแก่คนเช่นนั้นเพื่อให้ทำสิ่งที่ถูกต้องเป็นปัญหาใหญ่สำหรับหลักจริยธรรมของโลกตะวันตก.” คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า “หัวใจทรยศยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดและสิ้นคิด. ใครจะรู้จักหัวใจได้เล่า?” (ยิระมะยา 17:9, ล.ม.) คุณจะไว้ใจคนที่คุณรู้จักว่าเป็นผู้ซึ่งทั้งทรยศและสิ้นคิดไหม?
จริงอยู่ แม้แต่คนที่ไม่มีความเชื่อในพระเจ้าก็ยังมีความสามารถที่จะประพฤติอย่างซื่อตรงทางด้านศีลธรรมและพัฒนาหลักศีลธรรมที่ใช้ได้จริงและน่านับถือ. แต่บ่อยครั้ง หลักการที่ดีเลิศซึ่งฝังอยู่ในประมวลกฎหมายของพวกเขาเพียงแต่สะท้อนให้เห็นมาตรฐานด้านศีลธรรมของคัมภีร์ไบเบิล. ถึงแม้คนเช่นนั้นอาจปฏิเสธการดำรงอยู่ของพระเจ้า แต่ความคิดของเขาแสดงให้เห็นว่าเขามีศักยภาพที่ติดตัวมาแต่กำเนิดในการสะท้อนบุคลิกลักษณะของพระเจ้าออกมา. นี่พิสูจน์ว่าเป็นดังที่คัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยคือ เดิมทีมนุษยชาติถูกสร้างขึ้น “ตามแบบพระเจ้า.” (เยเนซิศ 1:27, ล.ม.; กิจการ 17:26-28) อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “เขาสำแดงการของกฎหมายนั้นที่จารึกไว้ในใจของเขา.”—โรม 2:15.
แน่นอน การรู้ ว่าอะไรเป็นสิ่งถูกต้องเป็นเรื่องหนึ่ง; แต่การมีพลังด้านศีลธรรมที่จะทำ สิ่งถูกต้องนั้นเป็นคนละเรื่องกันเลย. คนเราพัฒนาพลังด้านศีลธรรมที่จำเป็นนั้นโดยวิธีใด? เนื่องจากการกระทำได้รับการกระตุ้นจากหัวใจ การปลูกฝังความรักต่อพระยะโฮวาพระเจ้า ผู้ประพันธ์คัมภีร์ไบเบิล สามารถช่วยคนเราให้พัฒนาพลังนั้น.—บทเพลงสรรเสริญ 25:4, 5.
การพบพลังที่จะทำดี
ขั้นแรกในการเรียนรู้ที่จะรักพระเจ้าคือการตระหนักว่าพระบัญญัติของพระองค์มีเหตุผลและใช้ได้จริงสักเพียงไร. อัครสาวกโยฮันกล่าวว่า “นี่แหละเป็นความรักพระเจ้า, คือว่าให้เราทั้งหลายประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์และพระบัญญัติของพระองค์หาหนักใจไม่.” (1 โยฮัน 5:3) ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลมีคำแนะนำที่ใช้ได้จริงซึ่งสามารถช่วยคนหนุ่มสาวให้แยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิดเมื่อตัดสินใจว่าควรจะดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือไม่, ควรใช้ยาเสพติด, หรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานหรือไม่. คัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยคู่สมรสให้สังเกตเข้าใจวิธีขจัดความขัดแย้ง, ทั้งยังให้แนวชี้นำแก่บิดามารดาในการเลี้ยงดูบุตร. * เมื่อมี การนำมาตรฐานด้านศีลธรรมของคัมภีร์ไบเบิลมาใช้แล้ว ทั้งหนุ่มสาวและคนสูงอายุต่างก็ได้รับประโยชน์ ไม่ว่าภูมิหลังทางสังคม, การศึกษา, หรือทางวัฒนธรรมจะเป็นเช่นไรก็ตาม.
เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการทำให้คุณมีกำลังที่จะทำงาน การอ่านพระคำของพระเจ้าทำให้คุณมีพลังที่จะดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของพระองค์. พระเยซูทรงเปรียบโอวาทของพระเจ้ากับอาหารที่ค้ำจุนชีวิต. (มัดธาย 4:4) พระองค์ยังตรัสด้วยว่า “อาหารของเราคือที่จะกระทำตามพระทัยของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา.” (โยฮัน 4:34) การบำรุงเลี้ยงด้วยพระคำของพระเจ้าช่วยเตรียมพระเยซูที่จะต้านทานการล่อใจและตัดสินใจอย่างฉลาดสุขุม.—ลูกา 4:1-13.
ทีแรก คุณอาจพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะบำรุงเลี้ยงจิตใจของคุณด้วยพระคำของพระเจ้าและรับเอามาตรฐานของพระองค์. แต่ขอให้หวนคิดถึงตอนที่คุณเป็นเด็ก คุณอาจไม่ชอบรสชาติอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายคุณ. เพื่อจะเติบโตแข็งแรง คุณต้องหัดชอบอาหารที่มีประโยชน์เช่นนั้น. ในทำนองเดียวกัน อาจต้องใช้เวลาเพื่อคุณจะมีความชื่นชอบในมาตรฐานของพระเจ้า. หากคุณบากบั่น คุณจะพัฒนาความรักต่อมาตรฐานเหล่านั้นและเป็นคนเข้มแข็งทางฝ่ายวิญญาณ. (บทเพลงสรรเสริญ 34:8; 2 ติโมเธียว 3:15-17) คุณจะเรียนรู้ที่จะวางใจพระยะโฮวาและได้รับแรงจูงใจที่จะ “ทำการดี.”—บทเพลงสรรเสริญ 37:3, ล.ม.
คุณอาจไม่เคยเผชิญกับสถานการณ์เหมือนอย่างโจดี. ถึงกระนั้น แต่ละวันคุณมีเรื่องที่ต้องตัดสินใจซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักจริยธรรม ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่. เพราะฉะนั้น คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นคุณว่า “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า, อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง: จงรับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า, และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง.” (สุภาษิต 3:5, 6) การเรียนรู้ที่จะวางใจในพระยะโฮวาจะเป็นประโยชน์ต่อคุณไม่เพียงในขณะนี้เท่านั้น แต่จะเปิดโอกาสให้คุณมีชีวิตอยู่ตลอดไปด้วย เพราะแนวทางแห่งการเชื่อฟังพระยะโฮวาพระเจ้านำไปสู่ชีวิต.—มัดธาย 7:13, 14.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 18 คำแนะนำที่ใช้ได้จริงจากคัมภีร์ไบเบิลในเรื่องเหล่านี้และเรื่องสำคัญอื่น ๆ จะพบได้ในหนังสือคำถามที่หนุ่มสาวถาม—คำตอบที่ได้ผลและเคล็ดลับสำหรับความสุขในครอบครัว จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[คำโปรยหน้า 6]
ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่อาจได้รับอิทธิพลจากพลังอำนาจที่ไม่ประจักษ์แก่ตา
[ภาพหน้า 5]
ตลอดยุคต่าง ๆ นักปรัชญาได้ถกเถียงกันในประเด็นเรื่องอะไรถูกอะไรผิด
โสกราตีส
คานท์
ขงจื๊อ
[ที่มาของภาพ]
Kant: From the book The Historian’s History of the World; Socrates: From the book A General History for Colleges and High Schools; Confucius: Sung Kyun Kwan University, Seoul, Korea
[ภาพหน้า 7]
คัมภีร์ไบเบิลไม่เพียงช่วยเราให้แยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่ยังกระตุ้นเราให้ทำสิ่งถูกต้อง