ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงกล้าหาญ พระยะโฮวาทรงอยู่กับคุณ!

จงกล้าหาญ พระยะโฮวาทรงอยู่กับคุณ!

“จงกล้าหาญและเข้มแข็งเถิด ... พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าอยู่กับเจ้า.”—ยโฮ. 1:9, ล.ม.

1, 2. (ก) อะไรจะช่วยเราให้รับมือความทุกข์ลำบากได้? (ข) ความเชื่อคืออะไร? จงยกตัวอย่าง.

การรับใช้พระยะโฮวาทำให้เรายินดี. ถึงกระนั้น เราก็ยังคงประสบปัญหาเช่นเดียวกับคนอื่นๆ และเราอาจ “ต้องทนทุกข์เพราะเห็นแก่ความชอบธรรม.” (1 เป. 3:14; 5:8, 9; 1 โค. 10:13) เพื่อจะรับมือความทุกข์ลำบากเช่นนั้นได้ เราต้องมีความเชื่อและความกล้าหาญ.

2 ความเชื่อคืออะไร? อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ความเชื่อคือความมั่นใจโดยมีเหตุผลหนักแน่นว่าสิ่งที่หวังไว้จะเกิดขึ้น และเป็นความแน่ใจโดยมีหลักฐานชัดเจนว่าสิ่งที่มองไม่เห็นนั้นมีจริง.” (ฮีบรู 11:1) อีกฉบับแปลหนึ่งแปลข้อนี้ไว้ว่า “ความเชื่อเป็นเหมือนกับหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในสิ่งที่หวังไว้. ความเชื่อคือความแน่ใจในสิ่งที่เรามองไม่เห็น.” (เดอะ ซิมเพิล อิงลิช ไบเบิล) หากมีใครมอบหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอย่างหนึ่งให้เรา เราย่อมเชื่อมั่นได้ว่าเราเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น. เนื่องจากเราเชื่อว่าพระเจ้าทรงทำตามคำสัญญาของพระองค์เสมอ จึงเหมือนกับว่าเรามีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่มีค่าอยู่ในมือ. เราเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่าสิ่งที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้จะเกิดขึ้น และทุกสิ่งที่ทรงบอกไว้ในพระคำของพระองค์เป็นความจริง แม้แต่ “สิ่งที่เรามองไม่เห็น.”

3, 4. (ก) ความกล้าหาญคืออะไร? (ข) วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เรามีความเชื่อและความกล้าหาญมากขึ้นได้คืออะไร?

3 ความกล้าหาญคือความเข้มแข็งที่จะพูดและทำโดยไม่หวั่นกลัวเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากและอันตราย. เพื่อจะมีความกล้าเราต้องเชื่อมั่นและแม้แต่พร้อมจะทนทุกข์เพราะสิ่งที่เราเชื่อ.—มโก. 6:49, 50; 2 ติโม. 1:7

4 เราทุกคนอยากมีความเชื่อและความกล้าหาญ. แต่เราอาจรู้สึกว่าเรายังมีความเชื่อและความกล้าหาญไม่มากพอ. คัมภีร์ไบเบิลมีบันทึกเรื่องราวของผู้รับใช้พระเจ้าจำนวนมากซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความเชื่อและความกล้าหาญ. ดังนั้น วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เรามีความเชื่อและความกล้าหาญมากขึ้นก็คือการพิจารณาตัวอย่างของผู้รับใช้เหล่านั้น.

 พระยะโฮวาทรงอยู่กับยะโฮซูอะ

5. ยะโฮซูอะต้องมีอะไรเพื่อจะประสบความสำเร็จในการนำชาติอิสราเอล?

5 ขอให้เราย้อนเวลากลับไปเมื่อ 3,500 ปีที่แล้ว หลังจากที่พระยะโฮวาทรงช่วยชาวอิสราเอลให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสของชาวอียิปต์. ในเวลานั้นผู้พยากรณ์โมเซอายุ 120 ปีและได้นำชาตินี้มาสี่สิบปีแล้ว. ท่านขึ้นไปที่ยอดเขาเนโบแล้วมองไปยังแผ่นดินที่ทรงสัญญาก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิต. ผู้นำชาติอิสราเอลคนถัดไปคือยะโฮซูอะ ซึ่งเป็นชายที่ “ประกอบไปด้วยสติปัญญา.” (บัญ. 34:1-9) ชาวอิสราเอลกำลังจะเข้าครอบครองแผ่นดินคะนาอัน. เพื่อจะประสบความสำเร็จในการนำชาตินี้ ยะโฮซูอะต้องได้รับสติปัญญาจากพระเจ้า มีความเชื่อ ความกล้าหาญ และความมั่นใจ.—บัญ. 31:22, 23

6. (ก) ตามที่กล่าวในยะโฮซูอะ 23:6 เราต้องมีความกล้าหาญเพื่อจะทำอะไร? (ข) เราเรียนอะไรได้จากกิจการ 4:18-20 และกิจการ 5:29?

6 สติปัญญา ความกล้าหาญ และความเชื่อของยะโฮซูอะคงต้องเสริมกำลังชาติอิสราเอลให้เข้มแข็งในช่วงเวลาหลายปีที่พวกเขาพิชิตดินแดนคะนาอัน. ชาตินี้จำเป็นต้องมีความกล้าหาญไม่เพียงแค่ในการสู้รบ แต่ต้องกล้าหาญในการเชื่อฟังพระเจ้าด้วย. ก่อนยะโฮซูอะสิ้นชีวิต ท่านกล่าวกระตุ้นพวกเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงมีใจกล้าหาญเพื่อจะได้รักษากระทำตามสรรพสิ่งซึ่งจารึกไว้ในหนังสือโอวาทของโมเซ, อย่าให้หลีกเลี่ยงไปข้างขวาหรือข้างซ้าย.” (ยโฮ. 23:6) เราเองก็ต้องมีความกล้าหาญในการเชื่อฟังพระยะโฮวาอยู่เสมอด้วย โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์สั่งให้เราทำสิ่งที่ขัดกับพระประสงค์ของพระเจ้า. (อ่านกิจการ 4:18-20; 5:29) ถ้าเราอธิษฐานขอการชี้นำจากพระยะโฮวาและไว้วางใจพระองค์ พระองค์จะทรงช่วยเราให้มีความกล้าหาญที่จำเป็น.

วิธีประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต

7. เพื่อจะดำเนินชีวิตอย่างกล้าหาญและประสบความสำเร็จ ยะโฮซูอะต้องทำอะไร?

7 เพื่อจะมีความกล้าหาญในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า เราต้องศึกษาและทำตามพระคำของพระองค์. นี่คือสิ่งที่พระยะโฮวาทรงบอกให้ยะโฮซูอะทำเมื่อท่านรับหน้าที่สืบต่อจากโมเซ. พระองค์ตรัสกับท่านว่า “จงมีกำลังเข้มแข็งและใจกล้าหาญโดยแท้, รักษาประพฤติตามกฎหมายซึ่งโมเซผู้รับใช้ของเราได้บัญชาไว้แก่เจ้าแล้วทุกประการ. ... หนังสือกฎหมายนี้อย่าให้ขาดจากปากของเจ้า; แต่เจ้าจงตรึกตรองในข้อกฎหมายนั้นทั้งวันและคืน, เพื่อเจ้าจะได้รักษาประพฤติตามสรรพสิ่งจารึกไว้ในกฎหมายนั้น; แล้วทางที่เจ้าดำเนินไปนั้นจะมีความเจริญ, ถึงกับสำเร็จประโยชน์.” (ยโฮ. 1:7, 8) ยะโฮซูอะทำตามคำแนะนำนี้ และ ‘ทางของท่านก็มีความเจริญ.’ ถ้าเราทำแบบเดียวกันนั้น เราจะมีความกล้าหาญมากขึ้นและประสบความสำเร็จในการรับใช้พระเจ้า.

ข้อคัมภีร์ประจำปี 2013: จงกล้าหาญและเข้มแข็ง พระยะโฮวาพระเจ้าอยู่กับเจ้า.—ยะโฮซูอะ 1:9

8. ข้อคัมภีร์ประจำปี 2013 มาจากพระคัมภีร์ข้อใด และคุณคิดว่าข้อคัมภีร์นี้จะช่วยคุณอย่างไร?

8 ถัดจากนั้น พระยะโฮวาทรงบอกยะโฮซูอะว่า “จงมีกำลังเข้มแข็งและมีใจมั่นคง; อย่าสะดุ้งตกใจกลัวเลย, เพราะว่าเจ้าจะไปทางใดๆ: ยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าจะสถิตอยู่ด้วย.” (ยโฮ. 1:9) พระยะโฮวาทรงอยู่กับเราด้วย. ดังนั้น ไม่ว่าเราอาจจะประสบความทุกข์ลำบากเช่นไรก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องกลัว. ถ้อยคำที่เราสนใจเป็นพิเศษคือ: จงกล้าหาญและเข้มแข็ง พระยะโฮวาพระเจ้าอยู่กับเจ้า. ข้อความดังกล่าวจากยะโฮซูอะ 1:9 ถูกเลือกให้เป็นข้อคัมภีร์ประจำปี 2013. ถ้อยคำที่พระยะโฮวาตรัสกับยะโฮซูอะนี้และตัวอย่างคำพูดและการกระทำ ของคนอื่นๆที่แสดงความเชื่อและความกล้าหาญจะเสริมความเชื่อมั่นให้เราในช่วงหลายเดือนต่อจากนี้.

พวกเขาเลือกทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างกล้าหาญ

9. ราฮาบแสดงความเชื่อและความกล้าหาญอย่างไร?

9 เมื่อยะโฮซูอะส่งคนสอดแนมสองคนเข้าไปในคะนาอัน ราฮาบหญิงโสเภณีช่วยซ่อนทั้งสองไว้และชี้ให้ศัตรูไปอีกทางหนึ่ง. เพราะความเชื่อและความกล้าหาญของราฮาบ นางกับครอบครัวจึงรอดชีวิตเมื่อชาวอิสราเอลทำลายเมืองเยริโค. (ฮีบรู 11:30, 31; ยโก. 2:25) แน่นอน ราฮาบเลิกใช้ชีวิตแบบผิดศีลธรรมเพื่อนางจะเป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวาได้. บางคนที่ได้เข้ามาเป็นคริสเตียนมีความเชื่อ ความกล้าหาญ และความเข้มแข็งด้านศีลธรรมที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนคล้ายๆกันเพื่อจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า.

10. เหตุการณ์ในชีวิตของรูทเป็นเช่นไรตอนที่นางเลือกจะนมัสการพระยะโฮวา และพระองค์ทรงอวยพรนางอย่างไร?

10 รูธชาวโมอาบมีชีวิตอยู่หลังสมัยของยะโฮซูอะ. นางคงรู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับพระยะโฮวาเพราะสามีนางเป็นชาวอิสราเอล. นางมีความกล้าหาญที่จะนมัสการพระยะโฮวา. นาอะมีซึ่งเป็นแม่สามีได้ไปอาศัยในแผ่นดินโมอาบ และเมื่อสามีกับลูกชายสองคนตาย นางตัดสินใจย้ายกลับไปเมืองเบทเลเฮมในประเทศอิสราเอล. ขณะเดินทาง นาอะมีบอกให้รูทกลับไปหาชนร่วมชาติของนาง แต่รูทตอบว่า “ขออย่าสั่งให้ฉันละทิ้ง, หรือกลับจากติดตามแม่เลย ... ญาติพี่น้องของแม่, จะเป็นญาติพี่น้องของฉัน, และพระเจ้าของแม่จะเป็นพระเจ้าของฉันด้วย.” (รูธ. 1:16) รูททำตามที่นางพูดจริงๆ. ในเวลาต่อมา รูทได้แต่งงานกับโบอัศซึ่งเป็นญาติของนาอะมี มีบุตรชาย และกลายมาเป็นบรรพสตรีของดาวิดและพระเยซู. เห็นได้ชัดว่าพระยะโฮวาทรงอวยพรคนที่มีความเชื่อและความกล้าหาญ.—รูธ. 2:12; 4:17-22; มัด. 1:1-6

หลายคนเสี่ยงชีวิต!

11. ยะโฮยาดากับยะโฮเชบาแสดงความกล้าหาญอย่างไร และนั่นทำให้เกิดผลเช่นไร?

11 เรามีความเชื่อและความกล้าหาญมากขึ้นเมื่อเราเห็นว่าพระเจ้าทรงอยู่กับคนที่เสี่ยงชีวิตเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระองค์และเพื่อปกป้องพี่น้องของตน. ตัวอย่างเช่น ขอให้คิดถึงมหาปุโรหิตยะโฮยาดากับยะโฮเชบาภรรยาของเขา. หลังจากกษัตริย์อาฮัศยาสิ้นพระชนม์ อะธัลยาราชมารดาได้สังหารเชื้อวงศ์ทั้งหมดที่จะสืบราชสมบัติ ยกเว้นยะโฮอาศ (โยอาศ) แล้วยึดครองบัลลังก์เป็นราชินี. ยะโฮยาดากับยะโฮเชบาได้เสี่ยงชีวิตซ่อนยะโฮอาศราชโอรสของอาฮัศยาไว้หกปี. ในปีที่เจ็ด ยะโฮยาดาก็ประกาศแต่งตั้งยะโฮอาศเป็นกษัตริย์และสั่งให้ประหารชีวิตอะธัลยา. (2 กษัต. 11:1-16) ในเวลาต่อมา ยะโฮยาดาสนับสนุนกษัตริย์ยะโฮอาศให้บูรณะซ่อมแซมพระวิหาร. และเมื่อยะโฮยาดาสิ้นชีวิตตอนที่เขาอายุ 130 ปี ศพของเขาถูกฝังไว้กับบรรดากษัตริย์ “ด้วยท่านได้ประพฤติเป็นการชอบต่อแผ่นดินยิศราเอลและต่อพระเจ้า, และต่อโบสถ์วิหารของพระองค์.” (2 โคร. 24:15, 16) เนื่องจากยะโฮยาดาและภรรยากระทำอย่างกล้าหาญ เชื้อวงศ์ที่พระมาซีฮาจะมาประสูติในภายหลังจึงได้รับการปกป้องไว้.

12. เอเบ็ดเมเล็กลงมือทำอะไรอย่างกล้าหาญ?

12 เอเบ็ดเมเล็ก ข้าราชสำนักของกษัตริย์ซิดคียา เสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยยิระมะยาห์. กษัตริย์มอบยิระมะยาห์ไว้ในมือของพวกเจ้าชายแห่งยูดาห์ซึ่งตั้งข้อกล่าวหาท่านอย่างผิดๆว่าปลุกปั่นมวลชนและโยนท่านลงในบ่อที่มีแต่โคลนเพื่อทิ้งท่านไว้ให้ตาย. (ยิระ. 38:4-6) เอเบ็ดเมเล็กขออนุญาตกษัตริย์ซิดคียาเพื่อจะช่วยยิระมะยาห์. สิ่งที่เอเบ็ดเมเล็กทำเป็นเรื่องเสี่ยงอันตราย เพราะมีหลายคนเกลียดยิระมะยาห์. ซิดคียาอนุญาตและบอกเอเบ็ดเมเล็กให้พาคนไปด้วย 30 คนเพื่อช่วยยิระมะยาห์ขึ้นมาจากบ่อ. พระเจ้าทรงรับรองกับเอเบ็ดเมเล็กผ่านทางท่านผู้พยากรณ์ว่าเขาจะไม่เสียชีวิตเมื่อชาว บาบิโลนมาล้อมกรุงเยรูซาเลม. (ยิระ. 39:15-18) พระเจ้าประทานบำเหน็จแก่คนที่แสดงความกล้าหาญในการทำตามพระประสงค์ของพระองค์.

13. ชายชาวฮีบรูสามคนแสดงความกล้าหาญอย่างไร และเราอาจเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?

13 ประมาณ 600 ปีก่อนพระคริสต์ พระเจ้าประทานบำเหน็จแก่ชาวฮีบรูสามคนที่เป็นผู้รับใช้ของพระองค์เนื่องด้วยความเชื่อและความกล้าหาญของพวกเขา. กษัตริย์นะบูคัดเนซัรเรียกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบาบิโลนมาประชุมกันและสั่งให้พวกเขากราบนมัสการรูปเคารพทองคำที่สูงตระหง่าน. ใครก็ตามที่ไม่ทำตามคำสั่งนี้ต้องถูกโยนเข้าในเตาที่มีไฟลุกโพลงอยู่. ชายชาวฮีบรูสามคนทูลกษัตริย์นะบูคัดเนซัรด้วยความนับถือว่า “หากข้าพระบาทถูกโยนเข้าไปในเตาไฟลุกโชน ข้าแต่กษัตริย์ พระเจ้าที่ข้าพระบาททั้งหลายปรนนิบัตินั้นจะทรงกอบกู้และทรงช่วยข้าพระบาททั้งหลายให้พ้นจากเงื้อมพระหัตถ์ของฝ่าพระบาทได้ แต่ถึงแม้พระองค์ไม่ทรงช่วย ข้าแต่กษัตริย์ ก็ขอฝ่าพระบาททรงทราบเถิดว่าข้าพระบาทจะไม่ยอมปรนนิบัติเทพเจ้าของฝ่าพระบาทหรือนมัสการเทวรูปทองคำที่ทรงตั้งขึ้นเป็นอันขาด.” (ดานิ. 3:16-18, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) ดานิเอล 3:19-30 พรรณนาวิธีที่พระยะโฮวาทรงช่วยชาวฮีบรูสามคนนี้อย่างน่าตื่นเต้น. ถึงแม้ศัตรูคงไม่ขู่ว่าจะโยนเราเข้าไปในเตาไฟที่ลุกไหม้อย่างนี้ แต่บางครั้งเราต้องเชื่อฟังพระเจ้าในสถานการณ์ที่ยากเป็นพิเศษ. เรามั่นใจได้ว่าพระเจ้าทรงอวยพรเราถ้าเราแสดงความเชื่อและความกล้าหาญ.

14. ตามที่บันทึกไว้ในดานิเอลบท 6 ดานิเอลแสดงความกล้าหาญอย่างไร และผลเป็นเช่นไร?

14 ศัตรูของดานิเอลเกลี้ยกล่อมกษัตริย์ดาระยาศให้ออกกฎหมายข้อหนึ่งที่จะทำให้ท่านได้รับอันตราย. พวกเขาทูลกษัตริย์ว่า “ถ้าผู้ใดขอสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อพระหรือมนุษย์ภายในสามสิบวันนี้, ยกเว้นขอต่อราชา, ข้าแต่ราชัน, ผู้นั้นต้องถูกทิ้งลงในถ้ำสิงห์.” เมื่ออยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ดานิเอลแสดงให้เห็นว่าท่านมีความเชื่อและความกล้าหาญ. ทันทีที่รู้ว่ามีการออกกฎหมายข้อนี้ ท่าน ‘ก็ยังคงเข้าไปในเรือนของท่าน, ซึ่งมีหน้าต่างบนห้องชั้นบนด้านกรุงยะรูซาเลมเปิดไว้; ท่านได้คุกเข่าลงอธิษฐานและขอบคุณพระเจ้าของท่านวันละสามครั้งตามเคย.’ (ดานิ. 6:6-10) ดานิเอลผู้กล้าหาญถูกโยนลงไปในบ่อสิงโต. แต่พระยะโฮวาทรงช่วยท่านให้ปลอดภัย.—ดานิ. 6:16-23

15. (ก) อะคีลัสและปริสกิลลาวางตัวอย่างในเรื่องความเชื่อและความกล้าหาญไว้อย่างไร? (ข) คำตรัสของพระเยซูที่บันทึกไว้ในโยฮัน 13:34 หมายความเช่นไร และคริสเตียนหลายคนได้แสดงความรักเช่นนั้นอย่างไร?

15 เปาโลบอกว่าอะคีลัสกับปริสกิลลา “ได้เสี่ยงชีวิตเพื่อข้าพเจ้า.” (กิจ. 18:2; โรม 16:3, 4) ทั้งสองแสดงความกล้าหาญและทำอย่างที่พระเยซูทรงบัญชาไว้ ที่ว่า “เราให้บัญญัติใหม่แก่เจ้าทั้งหลาย คือ ให้พวกเจ้ารักกัน เรารักพวกเจ้ามาแล้วอย่าง ไร ก็ให้พวกเจ้ารักกันอย่างนั้นด้วย.” (โย. 13:34) พระบัญญัติของโมเซกำหนดไว้ว่าต้องรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง. (เลวี. 19:18) ทำไมบัญญัติของพระเยซูจึงเป็นบัญญัติ “ใหม่”? เพราะบัญญัติของพระเยซูเรียกร้องให้เราแสดงความรักถึงขั้นที่พร้อมจะสละชีวิตเพื่อผู้อื่น เหมือนกับที่พระองค์ทรงทำ. คริสเตียนหลายคนได้แสดงความรักอย่างกล้าหาญโดย “เสี่ยงชีวิต” เพื่อปกป้องเพื่อนร่วมความเชื่อไม่ให้ถูกศัตรูทำร้ายหรือฆ่า.—อ่าน 1 โยฮัน 3:16

คริสเตียนยุคแรกปฏิเสธที่จะนมัสการจักรพรรดิโรมัน

16, 17. คริสเตียนในยุคแรกถูกทดสอบความเชื่ออย่างไร และคริสเตียนบางคนในสมัยของเราถูกทดสอบความเชื่ออย่างไร?

16 เช่นเดียวกับพระเยซู คริสเตียนในยุคแรกนมัสการพระยะโฮวาแต่เพียงผู้เดียว. (มัด. 4:8-10) พวกเขาปฏิเสธที่จะเผาเครื่องหอมเพื่อยกย่องเชิดชูจักรพรรดิโรมัน. (โปรดดูรูป) แดเนียล พี. แมนนิกส์เขียนว่า “มีคริสเตียนเพียงไม่กี่คนยอมทำเช่นนั้น แม้ว่าตามปกติแล้วแท่นบูชาที่มีไฟลุกอยู่จะตั้งไว้ในสนามกีฬาเพื่อความสะดวก. สิ่งที่นักโทษต้องทำก็เพียงแค่หยิบเครื่องหอมขึ้นมาโปรยลงบนเปลวไฟเท่านั้น แล้วเขาก็จะได้ใบรับรองการถวายบูชาและถูกปล่อยตัว. นอกจากนั้น นักโทษยังได้รับการชี้แจงอย่างชัดเจนว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ใช่การนมัสการจักรพรรดิ แต่เป็นเพียงการยอมรับสถานภาพของจักรพรรดิโรมันว่าเป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง. ถึงกระนั้น แทบไม่มีคริสเตียนคนใดเลยที่ยอมทำอย่างนั้นเพื่อจะรอดชีวิต.”—หนังสือคนเหล่านั้นกำลังจะตาย (ภาษาอังกฤษ)

17 คริสเตียนที่อยู่ในค่ายกักกันของนาซีได้รับโอกาสหลายครั้งที่จะถูกปล่อยตัวและไม่ต้องตาย. สิ่งที่พวกเขาต้องทำก็เพียงแค่ลงลายมือชื่อในเอกสารที่ระบุว่าพวกเขาจะไม่นมัสการพระยะโฮวาอีกต่อไป. แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ลงลายมือชื่อ. ในช่วงที่เกิดสงครามในประเทศรวันดา พยานพระยะโฮวาชาวทุตซีและฮูตูเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องกันและกัน. ประชาชนของพระเจ้าต้องมีความกล้าหาญและความเชื่อในสถานการณ์เช่นนั้น.

อย่าลืมว่าพระยะโฮวาทรงอยู่กับเรา!

18, 19. ตัวอย่างเกี่ยวกับความเชื่อและความกล้าหาญอะไรบ้างในคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยเราให้ทำงานประกาศได้?

18 ปัจจุบัน เราได้รับสิทธิพิเศษที่มีส่วนร่วมในงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่พระเจ้าเคยประทานแก่ผู้รับใช้ที่เป็นมนุษย์ คือการประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรและสอนคนให้เป็นสาวก. (มัด. 24:14; 28:19, 20) เรารู้สึกขอบคุณจริงๆสำหรับตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของพระเยซู! พระองค์ “ทรงเดินทางไปตามเมืองและตามหมู่บ้านเพื่อประกาศเผยแพร่ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า.” (ลูกา 8:1) เช่นเดียวกับพระองค์ เราต้องมีความเชื่อและความกล้าหาญเพื่อจะประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร. ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า เราสามารถกล้าหาญเหมือนกับโนอาห์. ท่านเป็น “ผู้ประกาศความชอบธรรม” ใน “โลกที่มีแต่คนดูหมิ่นพระเจ้า” ซึ่งกำลังจะถูกทำลายโดยน้ำท่วม.—2 เป. 2:4, 5

19 การอธิษฐานช่วยเราให้ทำงานประกาศได้. สาวกบางคนของพระคริสต์ที่ถูกข่มเหงอธิษฐานขอให้พวกเขา “กล่าวพระคำของพระเจ้าด้วยความกล้าหาญ” และคำอธิษฐานของพวกเขาได้รับคำตอบ. (อ่านกิจการ 4:29-31) ถ้าคุณกลัวที่จะประกาศตามบ้าน จงอธิษฐานขอพระยะโฮวาเพื่อจะมีความเชื่อและความกล้าหาญมากขึ้น และพระองค์จะทรงช่วยคุณ.—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 66:19, 20 *

20. เราได้รับความช่วยเหลือจากใครให้รับใช้พระยะโฮวา?

20 การทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าอยู่เสมอในโลกที่ชั่วช้านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย. แต่เราไม่ได้อยู่เพียงลำพัง. พระเจ้าทรงอยู่กับเรา. พระบุตรของพระองค์ผู้ทรงเป็นประมุขของประชาคมคริสเตียนก็กำลังช่วยเราด้วย. นอกจากนั้น เรามีเพื่อนพยานพระยะโฮวามากกว่า 7,000,000 คนทั่วโลก. ขอให้เราทุกคนแสดงความเชื่อและประกาศข่าวดีต่อๆไปในขณะที่เราระลึกถึงข้อคัมภีร์ประจำปี 2013 ที่ว่า จงกล้าหาญและเข้มแข็ง พระยะโฮวาพระเจ้าอยู่กับเจ้า.—ยโฮ. 1:9

^ วรรค 19 โปรดดูตัวอย่างเพิ่มเติมเกี่ยวกับความกล้าหาญในบทความ “จงมีกำลังเข้มแข็งและใจกล้าหาญ” ในหอสังเกตการณ์ 15 กุมภาพันธ์ 2012.