คุณเห็นคุณค่ามรดกที่พระเจ้าประทานไหม?
“พระเจ้าทรงหันไปใฝ่พระทัยชนต่างชาติ ... เพื่อนำคนกลุ่มหนึ่งออกมาเป็นประชาชนสำหรับพระนามพระองค์.”—กิจ. 15:14
1, 2. (ก) “พลับพลาของดาวิด” คืออะไร และพลับพลานี้ถูกสร้างขึ้นใหม่อย่างไร? (ข) คนกลุ่มไหนที่รับใช้พระยะโฮวาในทุกวันนี้?
ขณะที่คณะกรรมการปกครองกำลังประชุมกันที่กรุงเยรูซาเลมในสากลศักราช 49 สาวกยาโกโบกล่าวว่า “ซีเมโอน [เปโตร] ได้เล่าอย่างละเอียดแล้วว่าพระเจ้าทรงหันไปใฝ่พระทัยชนต่างชาติเป็นครั้งแรกอย่างไรเพื่อนำคนกลุ่มหนึ่งออกมาเป็นประชาชนสำหรับพระนามพระองค์. หนังสือของพวกผู้พยากรณ์ก็สอดคล้องกับเรื่องนี้ ดังที่เขียนไว้ว่า ‘ภายหลังเหตุการณ์เหล่านี้ เราจะกลับมาสร้างพลับพลาของดาวิดซึ่งพังไปแล้วขึ้นใหม่ และส่วนที่หักพังไปแล้วนั้นเราจะสร้างและตั้งขึ้นใหม่ เพื่อคนที่เหลืออยู่จะแสวงหาพระยะโฮวาอย่างจริงจังร่วมกับประชาชนจากทุกชาติ คือประชาชนซึ่งมีชื่อเรียกตามนามของเรา พระยะโฮวาตรัสไว้เช่นนี้ และพระองค์ทรงทำสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นที่รู้กันแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ.’”—กิจ. 15:13-18
2 “พลับพลาของดาวิด” หมายถึงกษัตริย์องค์ต่างๆที่มาจากเชื้อวงศ์ของดาวิด. พลับพลานี้ “พังลง” เมื่อซิดคียากษัตริย์องค์สุดท้ายถูกถอดจากบัลลังก์. (อาโมศ 9:11, ฉบับคิงเจมส์) แต่คำพยากรณ์นี้บอกว่าพระเจ้าจะ “ตั้งขึ้นใหม่” อีกครั้งหนึ่ง. นี่หมายความว่าจะมีกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง ซึ่งก็คือพระเยซูที่เป็นเชื้อสายของดาวิดนั่นเอง. (ยเอศ. 21:27; กิจ. 2:29-36) ยาโกโบชี้ว่าคำพยากรณ์นี้ยังบอกล่วงหน้าด้วยว่าชาวยิวและชนต่างชาติจะได้รับการเจิมให้เป็นกษัตริย์ร่วมกับพระเยซูในสวรรค์. ในเวลานี้ คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่เหลืออยู่รวมทั้ง “แกะอื่น” ของพระเยซูหลายล้านคนกำลังประกาศความจริงในคัมภีร์ไบเบิลอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน.—โย. 10:16
ชาวยิวถูกจับไปเป็นเชลย
3, 4. อะไรช่วยชาวยิวที่อยู่ในบาบิโลนให้มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา?
3 เมื่อชาวยิวถูกจับไปเป็นเชลยในบาบิโลน เห็นได้ชัดว่า “พลับพลา ของดาวิด” ได้พังลงแล้ว. เนื่องจากบาบิโลนมีศาสนาเท็จอยู่มากมาย ประชาชนของพระเจ้าจะรักษาตัวซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าได้อย่างไรในช่วง 70 ปีที่เป็นเชลยอยู่ที่นั่น? โดยอาศัยวิธีเดียวกันกับที่ประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้รักษาตัวซื่อสัตย์ในโลกของซาตาน. (1 โย. 5:19) ผู้รับใช้ของพระเจ้ามีมรดกพิเศษอย่างหนึ่งที่ช่วยพวกเขาให้รักษาความซื่อสัตย์ได้.
4 ปัจจุบัน มรดกฝ่ายวิญญาณดังกล่าวที่เรามีคือพระคำของพระเจ้าที่เป็นลายลักษณ์อักษร. แม้ว่าชาวยิวที่เป็นเชลยในบาบิโลนไม่มีพระคัมภีร์บริสุทธิ์ครบชุด แต่พวกเขารู้พระบัญญัติของโมเซและพระบัญญัติสิบประการ. พวกเขารู้จัก ‘บทเพลงแห่งเมืองซีโอน’ จำสุภาษิตได้หลายข้อ และรู้เรื่องราวของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาที่มีชีวิตอยู่ก่อนพวกเขา. ชาวยิวเหล่านี้ร้องไห้เมื่อนึกถึงเมืองซีโอน และพวกเขาไม่ลืมพระยะโฮวา. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 137:1-6) ทั้งหมดนี้ช่วยพวกเขาให้มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา แม้ว่าพวกเขาอยู่ในบาบิโลนที่มีคำสอนและกิจปฏิบัติของศาสนาเท็จมากมาย.
ตรีเอกานุภาพไม่ใช่คำสอนใหม่
5. เราเห็นหลักฐานอะไรจากบาบิโลนและอียิปต์ที่แสดงว่าตรีเอกานุภาพมีมานานแล้ว?
5 มีการนมัสการตรีเอกานุภาพหรือเทพเจ้าสามองค์หลายชุดในบาบิโลน. ตัวอย่างเช่น ตรีเอกานุภาพชุดหนึ่งประกอบด้วย ซิน (จันทราเทพ), ชามาช (สุริยเทพ), และอิชทาร์ (เทพธิดาแห่งการเจริญพันธุ์และสงคราม). ชาวอียิปต์ในสมัยโบราณนมัสการเทพเจ้าสามองค์ที่ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก. แม้ว่าเทพเจ้าเหล่านี้เป็นตรีเอกานุภาพ แต่ชาวอียิปต์ไม่ได้ถือว่าแต่ละองค์เท่าเทียมกัน. ตรีเอกานุภาพชุดหนึ่งของชาวอียิปต์ได้แก่เทพเจ้าโอซิริส เทพธิดาไอซิส และโฮรัสซึ่งเป็นบุตรชาย.
6. ตรีเอกานุภาพคืออะไร และทำไมประชาชนของพระยะโฮวาไม่เชื่อคำสอนนี้?
6 ปัจจุบัน คริสต์ศาสนจักรก็สอนเรื่องตรีเอกานุภาพด้วย หรือคำสอนที่ว่ามีพระเจ้าหนึ่งองค์ที่ประกอบด้วยพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์. แต่คำสอนนี้ทำให้ดูเหมือนว่าพระยะโฮวาไม่ใช่พระเจ้าองค์ใหญ่ยิ่ง เพราะพระองค์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระเจ้า. ประชาชนของพระเจ้าได้รับการปกป้องจากการเชื่ออย่างผิดๆเช่นนี้. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าของเราเป็นเอกพระยะโฮวา.” (บัญ. 6:4) พระเยซูทรงยกข้อความนี้ขึ้นมาตรัส และคริสเตียนแท้เชื่อสิ่งที่พระองค์ตรัส.—มโก. 12:29
7. คนที่ต้องการรับบัพติสมาเป็นคริสเตียนแท้ต้องมีความเชื่อเช่นไรเกี่ยวกับพระเจ้า?
7 พระเยซูทรงมีบัญชาให้สาวกของพระองค์ “ไปสอนคนจากทุกชาติให้เป็นสาวก ให้พวกเขารับบัพติสมาในนามของพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (มัด. 28:19) นี่หมายความว่าคนที่ต้องการรับบัพติสมาเป็นคริสเตียนแท้และเป็นพยานพระยะโฮวาต้องเชื่อว่าพระยะโฮวา พระบิดา ทรงมีอำนาจเหนือพระเยซู และพระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าที่มายังแผ่นดินโลกเพื่อเป็นค่าไถ่. เขาต้องเชื่อด้วยว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพลังปฏิบัติการของพระเจ้า ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของตรีเอกานุภาพ. (เย. 1:2) เรารู้สึกขอบคุณจริงๆที่มรดกฝ่ายวิญญาณที่เราได้รับช่วยปกป้องเราไว้ไม่ให้เชื่อคำสอนนี้ที่หลู่เกียรติพระเจ้า!
ลัทธิผีปิศาจ
8. ชาวบาบิโลนมีความเชื่อเช่นไรเกี่ยวกับเทพเจ้าและผีปิศาจ?
8 ชาวบาบิโลนไม่เพียงเชื่อเรื่องเทพเจ้าทั้งหลาย แต่ยังเชื่อเรื่องผีปิศาจและการทรงเจ้าเข้าผีด้วย. สารานุกรม ดิ อินเตอร์แนชันแนล สแตนดาร์ด ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่าชาวบาบิโลนเชื่อว่าผี ปิศาจทำให้คนเราเจ็บป่วยได้. ผู้คนอธิษฐานขอให้เทพเจ้าช่วยปกป้องพวกเขาจากพวกผีปิศาจ.
9. (ก) ชาวยิวหลายคนรับเอาแนวคิดผิดๆเกี่ยวกับพวกผีปิศาจอย่างไร? (ข) เราได้รับการปกป้องไม่ให้ได้รับอันตรายจากการติดต่อกับพวกผีปิศาจอย่างไร?
9 เมื่อเป็นเชลยอยู่ในบาบิโลน ชาวยิวหลายคนได้รับเอาแนวคิดที่ผิดๆ. ต่อมา ชาวยิวหลายคนเริ่มเชื่อตามแนวคิดของชาวกรีกที่ว่าผีปิศาจมีทั้งพวกที่ดีและไม่ดี. แต่พระเจ้าทรงเตือนเราว่าการติดต่อกับพวกผีปิศาจเป็นอันตรายและพระองค์ไม่พอพระทัย. ความจริงในเรื่องนี้นับเป็นมรดกฝ่ายวิญญาณอย่างหนึ่ง. (ยซา. 47:1, 12-15) เราได้รับการปกป้องเพราะเราทำตามพระบัญชาของพระยะโฮวาที่ห้ามเราไม่ให้ติดต่อกับพวกผีปิศาจ.—อ่านพระบัญญัติ 18:10-12; วิวรณ์ 21:8
10. พิธีกรรมและความเชื่อของบาบิโลนใหญ่เป็นเช่นไร?
10 คล้ายกัน หลายคนในทุกวันนี้ที่อยู่ในศาสนาเท็จก็ติดต่อกับพวกผีปิศาจเช่นเดียวกับชาวบาบิโลนโบราณด้วย. นั่นเป็นเหตุที่คัมภีร์ไบเบิลเรียกศาสนาเท็จทั้งหมดที่อยู่ในโลกว่าบาบิโลนใหญ่. (วิ. 18:21-24) ศาสนาเท็จเหล่านี้เหมือนกับศาสนาของบาบิโลนโบราณจริงๆเนื่องจากความเชื่อผิดๆและพิธีกรรมที่ไม่ถูกต้องของศาสนาเหล่านี้ทั้งหมดมาจากที่นั่น. เพราะการติดต่อกับผีปิศาจ การไหว้รูปเคารพ และบาปอื่นๆ บาบิโลนใหญ่จะถูกทำลายในอีกไม่ช้า.—อ่านวิวรณ์ 18:1-5
11. เราได้รับคำเตือนอะไรเกี่ยวกับลัทธิผีปิศาจในหนังสือของเรา?
11 พระยะโฮวาตรัสว่าพระองค์ “ไม่อาจทนต่อการใช้อำนาจลึกลับ.” (ยซา. 1:13, ล.ม.) ในศตวรรษที่ 19 หลายคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับลัทธิผีปิศาจ. ด้วยเหตุนั้น หอสังเกตการณ์แห่งซีโอน ฉบับพฤษภาคม 1885 จึงกล่าวว่า “ความเชื่อที่ว่าคนตายยังมีชีวิตอยู่ในอีกภพหนึ่งหรือในอีกสภาพหนึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่. ความเชื่อนี้เป็นส่วนหนึ่งของศาสนาในสมัยโบราณ และเป็นรากเหง้าของนิยายดึกดำบรรพ์ทั้งหมด.” บทความนี้ยังกล่าวด้วยว่าพวกปิศาจแสร้งทำเป็นคนตายที่พยายามติดต่อกับคนเป็น และทำให้พวกมันสามารถครอบงำความคิดและการกระทำของผู้คนจำนวนมาก. หนังสือเล่มเล็กในยุคแรกๆที่ชื่อพระคัมภีร์กล่าวเช่นไรเกี่ยวกับลัทธิผีปิศาจ? (ภาษาอังกฤษ) ให้คำเตือนคล้ายๆ กับที่เราได้รับในหนังสือเล่มอื่นๆหลังจากนั้น.
คนตายทนทุกข์ในอีกภพหนึ่งไหม?
12. โซโลมอนได้รับการดลใจให้กล่าวไว้อย่างไรเกี่ยวกับสภาพของคนตาย?
12 “ทุกคนที่รู้จักความจริง” รู้ว่าคนตายไม่รู้สึกเป็นทุกข์. (2 โย. 1) เราเห็นด้วยกับคำกล่าวของโซโลมอนที่ว่า “สุนัขที่เป็นอยู่มันก็ยังดีกว่าสิงโตที่ตายแล้ว. เพราะว่าคนเป็นย่อมรู้ว่าเขาเองคงจะตาย, แต่คนตายแล้วก็ไม่รู้อะไรเลย ... เมื่อมือไม้ของเจ้าจับการอันใดทำ, จงกระทำการอันนั้นด้วยกำลังวังชาของเจ้าเถิด; เพราะว่าไม่มีการงาน, หรือโครงการ, หรือความรู้หรือสติปัญญาในเมืองผี [“หลุมศพ,” ล.ม.]” ที่เจ้าจะไปนั้น.”—ผู้ป. 9:4, 5, 10
13. ชาวยิวรับเอาความเชื่ออะไรจากศาสนาและวัฒนธรรมกรีก?
13 พระยะโฮวาทรงบอกความจริงแก่ชาวยิวเกี่ยวกับสภาพของคนตาย. แต่เมื่อผู้ปกครองชาวกรีกมีอำนาจเหนืออาณาจักรยูดาห์และซีเรีย พวกเขาพยายามหลอมรวมสองอาณาจักรนี้เข้าด้วยกันโดยอาศัยศาสนาและวัฒนธรรมกรีก. ผลก็คือ ชาวยิวรับเอาคำสอนเท็จที่ว่าวิญญาณมนุษย์เป็นอมตะ. พวกเขาเชื่อว่าวิญญาณนี้จะถูกทรมานในอีกโลกหนึ่ง. ชาวกรีกไม่ใช่พวกแรกที่เชื่อในเรื่องยมโลกซึ่งเป็นที่ทรมานคนตาย. หนังสือศาสนาของบาบิโลนและอัสซีเรีย (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่าชาวบาบิโลนเชื่อว่ามีเทพเจ้าและผีปิศาจซึ่งมีฤทธิ์มากและโหดร้ายในอีกภพหนึ่งที่ทรมานผู้คน. เห็นได้ชัด ชาวบาบิโลน เชื่อว่าคนเรามีวิญญาณที่ดำรงอยู่ต่อไปหลังจากที่เขาตาย.
14. โยบและอับราฮามรู้อะไรเกี่ยวกับความตายและการกลับเป็นขึ้นจากตาย?
14 แม้ว่าโยบผู้ชอบธรรมไม่มีคัมภีร์ไบเบิล แต่ท่านรู้ความจริงเกี่ยวกับสภาพของคนตาย. ท่านยังรู้ด้วยว่าถ้าท่านตายไป พระยะโฮวาพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรักจะทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะปลุกท่านให้เป็นขึ้นจากตาย. (โยบ 14:13-15, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971) อับราฮามก็เชื่อเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายด้วย. (อ่านฮีบรู 11:17-19) เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะปลุกคนที่ไม่มีวันตายให้กลับเป็นขึ้นจากตาย ชายผู้เกรงกลัวพระเจ้าทั้งสองคนจึงไม่เชื่อว่ามนุษย์มีวิญญาณที่เป็นอมตะ. พระวิญญาณของพระเจ้าคงต้องได้ช่วยโยบและอับราฮามให้เข้าใจในเรื่องสภาพของคนตายและเชื่อในเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย. ความจริงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในมรดกที่เราได้รับจากพระเจ้าด้วย.
เราจำเป็นต้อง “ได้รับการปลดเปลื้องด้วยค่าไถ่”
15, 16. เราได้รับการปลดเปลื้องจากบาปและความตายโดยวิธีใด?
15 เราควรขอบคุณพระเจ้าด้วยที่ทรงเปิดเผยให้เราทราบความจริงเกี่ยวกับวิธีช่วยเราให้หลุดพ้นจากบาปและความตายที่เป็นมรดกตกทอดมาจากอาดาม. (โรม 5:12) เรารู้ว่าพระเยซู “ไม่ได้มาให้คนอื่นรับใช้ แต่มารับใช้คนอื่น และสละชีวิตเป็นค่าไถ่เพื่อคนเป็นอันมาก.” (มโก. 10:45) เป็นเรื่องยอดเยี่ยมจริงๆที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับ “การปลดเปลื้องด้วยค่าไถ่ที่พระคริสต์เยซูทรงชำระ”!—โรม 3:22-24
16 ในศตวรรษแรก ชาวยิวและชนต่างชาติจำเป็นต้องกลับใจจากบาปและแสดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูถ้าพวกเขาต้องการจะได้รับการให้อภัย. เป็นเช่นนั้นด้วยกับเราในทุกวันนี้. (โย. 3:16, 36) ถ้าใครไม่ยอมทิ้งคำสอนเท็จ เช่น คำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพและวิญญาณมนุษย์เป็นอมตะ เขาก็ไม่สามารถได้รับประโยชน์จากค่าไถ่ได้. แต่เราได้รับประโยชน์จากค่าไถ่ได้. เรารู้ความจริงเกี่ยวกับพระบุตรที่รักของพระเจ้า “ซึ่งโดยพระบุตรนั้น เราได้รับการปลดเปลื้องด้วยค่าไถ่ซึ่งหมายความว่าเราได้รับการอภัยบาป.”—โกโล. 1:13, 14
จงรับใช้พระยะโฮวาต่อๆไป!
17, 18. เราจะเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของเราได้จากที่ไหน และทำไมจึงเป็นประโยชน์ที่เราจะเรียนรู้เรื่องนี้?
17 มรดกที่เราได้รับจากพระเจ้ารวมถึงเรื่องอื่นๆที่พระองค์ทรงสอนเราตลอดจนวิธีอื่นๆที่พระองค์ได้ช่วยและอวยพรเรา. เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่หนังสือประจำปี รายงานเรื่องที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับการงานของเราในประเทศต่างๆทั่วโลก. เราสามารถเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของพยานพระยะโฮวาได้จากวีดิทัศน์พยานพระยะโฮวา—ผู้ปฏิบัติตามความเชื่อ ภาค 1 และ 2 และในหนังสือต่างๆ เช่น พยานพระยะโฮวา—ผู้ประกาศราชอาณาจักร. (ภาษาอังกฤษ) นอกจากนั้น วารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ก็ลงประสบการณ์ของพี่น้องอยู่บ่อยๆซึ่งให้กำลังใจเรา.
18 เราได้รับประโยชน์จากการพิจารณาประวัติองค์การของพระยะโฮวา เช่นเดียวกับที่ชาวอิสราเอลได้รับประโยชน์จากการใคร่ครวญวิธีที่พระเจ้าทรงช่วยพวกเขาให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์. (เอ็ก. 12:26, 27) เมื่อโมเซชราแล้ว ท่านกระตุ้นชาวอิสราเอลว่า “จงระลึกถึงวันกาลโบราณ, จงตรึกตรองถึงปีอายุที่ล่วงพ้นไปแล้ว จงถามบิดาของเจ้า, และเขาจะสำแดงให้เจ้ารู้; จงถามพวกผู้เฒ่าผู้แก่ของเจ้า, และเขาจะบอกเล่าให้ฟัง.” (บัญ. 32:7) ในฐานะ ‘ประชากรและแกะแห่งทุ่งหญ้าของพระยะโฮวา’ เราทุกคนประกาศและยกย่องสรรเสริญพระเจ้าด้วยความยินดีและบอกคนอื่นๆให้ทราบเกี่ยวกับพระราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์. (เพลง. 79:13, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) บทเรียนที่เราได้เรียนรู้จากประวัติความเป็นมาของเราในฐานะประชาชนของพระยะโฮวาจะช่วยเราให้รับใช้พระองค์ต่อๆไป.
19. เมื่อเรารู้ความจริงแล้ว เราควรทำอะไร?
19 เรารู้สึกขอบคุณที่เราไม่ได้เดินหลงไปในความมืด แต่มีแสงสว่างฝ่ายวิญญาณจากพระเจ้า. (สุภา. 4:18, 19) ดังนั้น ขอให้เราขยันศึกษาพระคำของพระเจ้าและประกาศความจริงแก่คนอื่นต่อๆไป. เรารู้สึกเหมือนกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่กล่าวว่า “ข้าพเจ้า ... จะกล่าวถึงความชอบธรรมของพระองค์, ของพระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้น. ข้าแต่พระเจ้า, พระองค์ได้ทรงฝึกสอนข้าพเจ้าตั้งแต่เด็กๆมา; และข้าพเจ้าเคยพรรณนาถึงการอัศจรรย์ของพระองค์จนบัดนี้. ข้าแต่พระเจ้า, แม้ว่าข้าพเจ้าชราผมหงอกแล้ว, ขออย่าทรงละทิ้งข้าพเจ้าจนกว่าข้าพเจ้าจะได้พรรณนาถึงพลานุภาพของพระองค์แก่คนชั่วอายุต่อๆมา, ให้ทุกๆคนที่จะบังเกิดมานั้นรู้ถึงฤทธานุภาพของพระองค์.”—เพลง. 71:16-18
20. เมื่อเราซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาเราพิสูจน์ให้เห็นอะไร และคุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับสิทธิในการปกครองของพระยะโฮวาและการนมัสการของเรา?
20 เมื่อเราซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา เราพิสูจน์ให้เห็นว่าเราเชื่อว่าพระองค์ทรงมีสิทธิ์ในการปกครองเราและคู่ควรจะได้รับการนมัสการจากเรา. (วิ. 4:11) พระยะโฮวาประทานพระวิญญาณเพื่อช่วยเราในการประกาศข่าวดีแก่คนที่ถ่อมใจและบอกความหวังที่ให้กำลังใจพวกเขา. (ยซา. 61:1, 2) แม้ว่าซาตานพยายามครอบงำประชาชนของพระเจ้าและมนุษยชาติทั้งมวล แต่เรารู้สึกขอบคุณอย่างยิ่งที่เรามีมรดกฝ่ายวิญญาณและตั้งใจแน่วแน่ที่จะรักษาความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระเจ้าและยกย่องเชิดชูพระยะโฮวาในขณะนี้และตลอดไป.—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 26:11, ล.ม.; * 86:12
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 20 บทเพลงสรรเสริญ 26:11 (ล.ม.): “ส่วนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะประพฤติด้วยความซื่อสัตย์จงรักภักดีเสมอ ขอทรงช่วยข้าพเจ้าให้รอดและขอทรงเมตตาข้าพเจ้า.”