ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

‘ขอโปรดให้พวกข้าพเจ้ามีความเชื่อมากขึ้น’

‘ขอโปรดให้พวกข้าพเจ้ามีความเชื่อมากขึ้น’

“ช่วยเพิ่มความเชื่อให้กับเราด้วยครับ”—มโก. 9:24, ฉบับอ่านเข้าใจง่าย

เพลง 81, 135

1. ความเชื่อสำคัญอย่างไร? (ดูภาพแรก)

คุณเคยสงสัยไหมว่า ‘พระยะโฮวาจะปกป้องฉันไหมในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่?’ อัครสาวกเปาโลพูดว่าเราต้องมีความเชื่อเพื่อจะรอดได้ เขาบอกว่า “ถ้าไม่มีความเชื่อก็ไม่อาจทำให้พระเจ้าพอพระทัยได้เลย” (ฮีบรู 11:6) อาจดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่จริง ๆ แล้ว “ไม่ใช่ทุกคนมีความเชื่อ” (2 เทส. 3:2) ข้อคัมภีร์สองข้อนี้ช่วยเราให้เข้าใจว่าทำไมเราต้องทำให้ความเชื่อของเราเพิ่มมากขึ้น

2, 3. (ก) ทำไมความเชื่อของเราจึงสำคัญมาก? (ข) คำถามอะไรบ้างที่เราจะหาคำตอบด้วยกันในบทความนี้?

2 อัครสาวกเปโตรพูดถึง “การทดสอบ” ความเชื่อ (อ่าน 1 เปโตร 1:7) เนื่องจากความทุกข์ลำบากใหญ่ใกล้เข้ามามากแล้ว เราจึงอยากเป็น “คนที่มีความเชื่อซึ่งจะรักษาชีวิตไว้” (ฮีบรู 10:39) ดังนั้น เราต้องพยายามอย่างหนักเพื่อทำให้ความเชื่อของเราเพิ่มมากขึ้น เราอยากอยู่ในกลุ่มคนที่ได้รับรางวัลเมื่อพระเยซูคริสต์กษัตริย์ของเรามาปรากฏ เราอยากพูดเหมือนผู้ชายที่ขอพระเยซูช่วยเขาให้มีความเชื่อมากขึ้น เขาบอกว่า “ช่วยเพิ่มความเชื่อให้กับเราด้วยครับ” (มโก. 9:24, ฉบับอ่านเข้าใจง่าย ) และเหมือนกับพวกอัครสาวกที่พูดว่า ‘ขอโปรดให้พวกข้าพเจ้ามีความเชื่อมากขึ้น’—ลูกา 17:5

3 ในบทความนี้เราจะเรียนรู้จุดต่าง ๆ ต่อไปนี้ เราจะทำให้ความเชื่อของเราเพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร? เราจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเรามีความเชื่อมาก? และทำไมเรามั่นใจได้ว่าพระเจ้าจะตอบคำอธิษฐานเมื่อเราขอให้มีความเชื่อมากขึ้น?

พระเจ้ามีความสุขเมื่อเราทำให้ความเชื่อของเราเพิ่มมากขึ้น

4. ตัวอย่างของใครบ้างที่กระตุ้นเราให้พยายามมีความเชื่อมากขึ้น?

4 เนื่องจากความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญมาก พระยะโฮวาจึงให้มีตัวอย่างของคนที่มีความเชื่อหลายคนในคัมภีร์ไบเบิล ตัวอย่างเหล่านี้ “เขียนไว้เพื่อสั่งสอนเรา” (โรม 15:4) ตัวอย่างของอับราฮาม ซาราห์ ยิศฮาค ยาโคบ โมเซ ราฮาบ กิดโอน บาราค และอีกหลายคนกระตุ้นเราให้พยายามมีความเชื่อมากขึ้นได้ (ฮีบรู 11:32-35) นอกจากตัวอย่างต่าง ๆ ในอดีตแล้ว เรายังมีตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของพี่น้องชายหญิงในทุกวันนี้ด้วย *

5. เอลียาห์แสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขาเชื่อมั่นในพระยะโฮวา? เราควรถามตัวเองอย่างไร?

5 ตัวอย่างหนึ่งจากคัมภีร์ไบเบิลคือผู้พยากรณ์เอลียาห์ เมื่อคุณใคร่ครวญตัวอย่างของเขาขอสังเกต 5 สถานการณ์ที่แสดงว่าเขาเชื่อมั่นในพระยะโฮวา (1) เมื่อเอลียาห์บอกกษัตริย์อาฮาบว่า พระยะโฮวาจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง เขาพูดอย่างมั่นใจว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าแห่งยิศราเอลซึ่งข้าพเจ้าได้ปฏิบัติทรงพระชนม์อยู่แน่ฉันใด จะไม่มีน้ำค้างหรือน้ำในปีเหล่านี้ เว้นแต่ข้าพเจ้าจะทูลขอ” (1 กษัต. 17:1) (2) เอลียาห์มั่นใจว่าพระยะโฮวาจะให้สิ่งจำเป็นกับเขาและคนอื่น ๆ ในช่วงที่เกิดความแห้งแล้ง (1 กษัต. 17:4, 5, 13, 14) (3) เอลียาห์มั่นใจด้วยว่าพระยะโฮวาจะปลุกลูกชายของหญิงม่ายให้ฟื้นจากตายได้ (1 กษัต. 17:21) (4) ตอนที่อยู่บนภูเขาคาร์เมลเขามั่นใจว่าพระยะโฮวาจะให้ไฟมาเผาเครื่องบูชา (1 กษัต. 18:24, 37) (5) เอลียาห์บอกอาฮาบอย่างมั่นใจแม้แต่ก่อนที่ฝนจะตกด้วยซ้ำว่า “เชิญไปรับประทานและดื่มเถิดเพราะมีเสียงฝนห่าใหญ่” (1 กษัต. 18:41, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) ดังนั้น หลังจากใคร่ครวญประสบการณ์เหล่านี้เราอาจถามตัวเองว่า ‘ฉันมีความเชื่อมากเหมือนเอลียาห์ไหม?’

เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้ความเชื่อของเราเพิ่มมากขึ้น?

6. เราต้องขออะไรจากพระยะโฮวาเพื่อมีความเชื่อมากขึ้น?

6 เนื่องจากเรามีความเชื่อมากขึ้นด้วยตัวเองไม่ได้ เราจึงต้องขอพลังบริสุทธิ์จากพระเจ้าเพราะความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งในผลของพลังของพระเจ้า (กลา. 5:22) เราน่าจะทำตามคำแนะนำของพระเยซูที่ให้อธิษฐานขอพลังบริสุทธิ์มากขึ้น เพราะพระเยซูสัญญาว่าพระยะโฮวาจะให้ “พระวิญญาณบริสุทธิ์แก่ผู้ที่ทูลขอพระองค์!”—ลูกา 11: 13

7. ขออธิบายวิธีที่เราจะรักษาความเชื่อให้มั่นคงอยู่เสมอ

7 เมื่อเรามีความเชื่อในพระเจ้ามากขึ้นแล้ว เราก็ต้องรักษาความเชื่อนั้นเอาไว้ด้วย เราอาจเปรียบความเชื่อเหมือนกับไฟ ตอนที่เราเริ่มจุดไฟ เปลวไฟอาจจะลุกโชน แต่ถ้าเราไม่ใส่ฟืนเข้าไปเรื่อย ๆ ในที่สุดไฟก็จะดับและจะเหลือแต่เถ้าถ่าน ตรงกันข้าม ถ้าเราใส่ฟืนอยู่เรื่อย ๆ ไฟก็จะลุกโชนอยู่ตลอดเวลา คล้ายกันกับความเชื่อของเรา ถ้าเราอ่านและศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำทุกวัน ความรักที่เรามีต่อคัมภีร์ไบเบิลและพระยะโฮวาจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ผลคือ เราจะรักษาความเชื่อไว้และมีความเชื่อมากขึ้นเรื่อย ๆ

8. อะไรจะช่วยคุณให้รักษาความเชื่อไว้และมีความเชื่อเพิ่มมากขึ้น?

8 คุณไม่ควรพอใจกับความรู้ที่ได้เรียนก่อนรับบัพติสมาเท่านั้น (ฮีบรู 6:1, 2) แต่คุณต้องเรียนรู้ต่อ ๆ ไป เช่น ถ้าคุณศึกษาคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลที่เกิดขึ้นแล้ว นั่นก็จะช่วยรักษาความเชื่อของคุณและทำให้ความเชื่อของคุณมากขึ้น นอกจากนั้น คุณยังสามารถใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่อตรวจดูว่าความเชื่อของคุณมั่นคงจริง ๆ ไหม—อ่านยาโกโบ 1:25; 2:24, 26

9, 10. เราจะทำให้ความเชื่อเพิ่มมากขึ้นได้อย่างไรโดย (ก) มีเพื่อนที่ดี? (ข) การประชุมประชาคม? (ค) การประกาศ?

9 อัครสาวกเปาโลบอกว่าคริสเตียนสามารถ “ให้กำลังใจซึ่งกันและกันโดยความเชื่อของเราทั้งสองฝ่าย” (โรม 1:12 ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) นั่นหมายความว่าเมื่อเราใช้เวลาอยู่กับพี่น้องชายหญิงของเรา เราช่วยกันให้มีความเชื่อมากขึ้นได้ เป็นอย่างนั้นจริง โดยเฉพาะเมื่อเราให้เวลากับคนที่เจอ “การทดสอบ” ความเชื่อ (ยโก. 1:3) ที่จริง เพื่อนที่ไม่ดีจะทำลายความเชื่อของเรา แต่เพื่อนที่ดีจะช่วยเราให้มีความเชื่อมากขึ้น (1 โค. 15:33) นี่เป็นเหตุผลที่เราได้รับคำแนะนำให้เข้าร่วมประชุมเป็นประจำ เพราะในการประชุมเราสามารถ “ชูใจกัน” ต่อ ๆ ไปได้ (อ่านฮีบรู 10:24, 25) นอกจากนั้น คำแนะนำที่เราได้รับจากการประชุมจะช่วยเสริมความเชื่อของเราให้เข้มแข็ง คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ความเชื่อเกิดจากสิ่งที่ได้ยิน” (โรม 10:17) ดังนั้น ขอให้ถามตัวเองว่า ‘การเข้าร่วมประชุมคริสเตียนเป็นประจำเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของฉันไหม?’

10 เมื่อเราประกาศและสอนข่าวดีจากคัมภีร์ไบเบิลให้คนอื่น ๆ เราก็กำลังทำให้ความเชื่อของตัวเองเพิ่มมากขึ้น เพราะการทำอย่างนั้นช่วยเราให้เรียนรู้ที่จะไว้วางใจพระยะโฮวา และพูดอย่างกล้าหาญในทุกสถานการณ์เหมือนคริสเตียนในศตวรรษแรก—กิจ. 4:17-20; 13:46

11. ทำไมคาเลบและยะโฮซูอะมีความเชื่อมาก? เราจะมีความเชื่อเหมือนพวกเขาได้อย่างไร?

11 ความเชื่อของเราในพระยะโฮวาจะมีมากขึ้นเมื่อเราเห็นวิธีที่พระองค์ช่วยเราและตอบคำอธิษฐานของเรา เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับคาเลบและยะโฮซูอะ พวกเขาแสดงความเชื่อในพระยะโฮวาตอนไปสอดแนมในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา เมื่อเวลาผ่านไปความเชื่อของพวกเขาก็เพิ่มมากขึ้นทุกครั้งที่เห็นว่าพระยะโฮวาช่วยพวกเขาอย่างไร ยะโฮซูอะบอกกับชาวอิสราเอลได้อย่างมั่นใจว่า “ซึ่งยะโฮวาพระเจ้าของท่านทรงตรัสถึงท่านแล้วหาได้ขาดสักสิ่งเดียวไม่” และเขาพูดในเวลาต่อมาว่า “เหตุฉะนี้ จงเกรงพระยะโฮวา และปฏิบัติพระองค์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต” แล้วเขาก็เพิ่มเติมอีกว่า “แต่ฝ่ายเราทั้งครอบครัวจะปฏิบัติพระยะโฮวา” (ยโฮ. 23:14; 24:14, 15) ดังนั้น เมื่อเราไว้วางใจพระยะโฮวาและเห็นวิธีที่พระองค์ช่วยเราเป็นส่วนตัว เราก็จะมีความเชื่อเพิ่มมากขึ้น—เพลง. 34:8

วิธีที่เราจะแสดงความเชื่อ

12. เราจะแสดงอย่างไรว่าเรามีความเชื่อมาก?

12 เราจะแสดงอย่างไรว่าเรามีความเชื่อมาก? สาวกยาโกโบบอกว่า “ผมจะแสดงความเชื่อที่คู่กับการกระทำของผมให้คุณดู” (ยโก. 2:18, ฉบับอ่านเข้าใจง่าย ) การกระทำของเราจะแสดงให้เห็นว่าเรามีความเชื่อมาก ให้เรามาดูว่าเป็นไปได้อย่างไร

คนที่ทำทุกสิ่งที่ทำได้ในงานรับใช้แสดงให้เห็นว่าเขามีความเชื่อมาก (ดูข้อ 13)

13. การประกาศแสดงให้เห็นความเชื่อของเราอย่างไร?

13 การประกาศเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมที่จะแสดงความเชื่อของเรา เพราะการประกาศแสดงว่าเราเชื่อว่าอวสานมาใกล้แล้วและจะ “ไม่ล่าช้า” (ฮบา. 2:3, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) เพื่อจะรู้ว่าเรามีความเชื่อมากขนาดไหน เราควรถามตัวเองว่า ‘การประกาศสำคัญต่อฉันมากขนาดไหน? ฉันกำลังทำทุกสิ่งที่ทำได้ไหมเพื่อบอกคนอื่นเกี่ยวกับพระเจ้า? ฉันมองหาวิธีที่จะทำงานรับใช้พระยะโฮวามากขึ้นไหม?’ (2 โค. 13:5) ขอให้เราแสดงความเชื่อที่มั่นคงโดย “การประกาศความเชื่อด้วยปากอย่างเปิดเผย” นั่นคือการประกาศข่าวดี—อ่านโรม 10:10

14, 15. (ก) เราจะแสดงความเชื่อในชีวิตประจำวันได้อย่างไร? (ข) ขอเล่าประสบการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นความเชื่อที่มั่นคง

14 เราแสดงความเชื่อของเราในพระยะโฮวาด้วยเมื่อเราอดทนกับปัญหาต่าง ๆ ที่เจอในโลกนี้ เมื่อเรา เจ็บป่วย ท้อใจ ซึมเศร้า ยากจน หรือมีปัญหาอื่น ๆ เราต้องเชื่อว่าพระยะโฮวาและพระเยซูจะ “ช่วยเราในเวลาที่เราต้องการความช่วยเหลือ” (ฮีบรู 4:16, ฉบับอ่านเข้าใจง่าย ) นอกจากนั้น เราแสดงความเชื่อในพระยะโฮวาเมื่อเราขอความช่วยเหลือจากพระองค์ พระเยซูบอกว่าเราสามารถขอพระยะโฮวา “ช่วยให้เรามีอาหารกินในทุก ๆ วัน” (ลูกา 11:3, ฉบับอ่านเข้าใจง่าย ) เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาสามารถให้ทุกสิ่งที่จำเป็นแก่เรา เช่น ในช่วงที่เกิดความแห้งแล้งอย่างหนักในประเทศอิสราเอล พระยะโฮวาจัดหาน้ำและอาหารให้เอลียาห์ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “อีกาทั้งหลายก็ส่งขนมปังและเนื้อให้เวลาเช้าเวลาเย็น และท่านได้ดื่มน้ำที่ลำธาร” (1 กษัต. 17:3-6) เราก็เชื่อว่าพระยะโฮวาให้สิ่งจำเป็นกับเราได้เหมือนกัน

เราแสดงความเชื่อเมื่อเราอดทนกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต (ดูข้อ 14)

15 เรามั่นใจว่าเมื่อเราทำตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิล เราจะเลี้ยงดูครอบครัวของเราได้ พี่น้องหญิงในเอเชียคนหนึ่งที่แต่งงานแล้วชื่อรีเบกกา เธออธิบายวิธีที่เธอและครอบครัวทำตามหลักการในมัดธาย 6:33 และสุภาษิต 10:4 เธอเล่าว่า สามีของเธอรู้สึกว่างานของเขาทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระยะโฮวาแย่ลง เขาจึงลาออกจากงาน แต่พวกเขามีลูก 4 คนที่ต้องดูแล พวกเขาจึงเริ่มทำอาหารขาย เนื่องจากพวกเขาทำงานหนัก พวกเขาจึงมีเงินพอใช้จ่ายในครอบครัวอยู่เสมอ รีเบกกาบอกว่า “เราเห็นว่าพระยะโฮวาไม่เคยทอดทิ้งเรา เราไม่เคยอดแม้แต่มื้อเดียว” แล้วคุณล่ะ มีประสบการณ์ที่เสริมความเชื่อคล้าย ๆ กันไหม?

16. จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไว้วางใจพระยะโฮวา?

16 เราไม่ควรสงสัยว่า ถ้าเราทำตามคำแนะนำของพระยะโฮวาพระองค์จะช่วยเราไหม เปาโลได้ยกคำพูดของฮะบาฆูคมาที่บอกว่า “คนชอบธรรมจะมีชีวิตอยู่โดยความเชื่อ” (กลา. 3:11, ฉบับมาตรฐาน; ฮบา. 2:4) นั่นเป็นเหตุผลที่เราควรมีความเชื่อที่มั่นคงในพระเจ้าผู้ที่ช่วยเราได้จริง ๆ เปาโลบอกว่า “พระเจ้าสามารถทำได้ทุกสิ่งมากยิ่งกว่าที่เราจะขอหรือคิดได้ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระองค์ที่กำลังทำงานอยู่ในตัวเรา” (เอเฟ. 3:20, ฉบับอ่านเข้าใจง่าย ) ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อทำตามความประสงค์ของพระเจ้า แต่พวกเขาก็รู้ว่าตัวเองมีขีดจำกัด เราจึงยินดีที่พระเจ้าอยู่กับเราและอวยพรความพยายามทั้งหมดของเรา

ได้รับคำตอบเมื่อขอให้มีความเชื่อมากขึ้น

17. (ก) พระเยซูตอบพวกอัครสาวกอย่างไร? (ข) ทำไมเรามั่นใจว่าพระยะโฮวาจะตอบคำขอของเราที่ให้มีความเชื่อมากขึ้น?

17 จากที่เราได้เรียนรู้ เราอาจรู้สึกเหมือนอัครสาวกที่ขอพระเยซูว่า ‘ขอโปรดให้พวกข้าพเจ้ามีความเชื่อมากขึ้น’ (ลูกา 17:5) พระเยซูตอบอัครสาวกของท่านด้วยวิธีที่พิเศษในวันเพนเทคอสต์ ค.ศ. 33 เมื่อพวกเขาได้รับพลังบริสุทธิ์และเข้าใจความประสงค์ของพระเจ้าอย่างลึกซึ้ง ความเชื่อของพวกเขาจึงมั่นคงขึ้น ผลคือ พวกเขาเริ่มรณรงค์ประกาศครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน (โกโล. 1:23) เรามั่นใจไหมว่าถ้าเราขอให้มีความเชื่อมากขึ้น คำขอของเราจะได้รับคำตอบด้วย? ที่จริง พระยะโฮวาสัญญากับเราว่า “ถ้าเราขออะไรตามที่พระเจ้าต้องการ” เราก็จะได้รับ—1 โย. 5:14, ฉบับอ่านเข้าใจง่าย

18. พระยะโฮวาอวยพรคนที่ทำให้ความเชื่อของเขามั่นคงขึ้นอย่างไร?

18 เมื่อเราไว้วางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ พระองค์จะพอใจเราและจะตอบคำขอของเราที่ให้มีความเชื่อมากขึ้น แล้วความเชื่อของเราก็จะมั่นคงขึ้น และเราจะ “คู่ควรกับราชอาณาจักรของพระเจ้า”—2 เทส. 1:3, 5

^ วรรค 4 เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอดูเรื่องราวชีวิตจริงของลิลเลียน โกไบทาส โคลเซ (ตื่นเถิด! 22 กรกฎาคม 1993, ภาษาอังกฤษ) เฟลิกส์ บอเรส (ตื่นเถิด! 8 มีนาคม 1994) และโจเซฟีน เอเลียส (ตื่นเถิด! กันยายน 2009)