คุณรู้ไหม?
คุณรู้ไหม?
บุตรชายที่ได้สิทธิบุตรหัวปีจะมีสิทธิพิเศษและหน้าที่รับผิดชอบอะไร?
▪ นานมาแล้วตั้งแต่สมัยปฐมบรรพบุรุษของชาวยิว ผู้นมัสการพระเจ้าจะให้สิทธิพิเศษแก่บุตรชายคนโต. เมื่อบิดาเสียชีวิต บุตรชายคนโตจะทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวแทนบิดา. เขาจะดูแลครอบครัวและปกครองสมาชิกที่ยังอยู่ในครัวเรือนของเขา. เขาจะเป็นตัวแทนของครอบครัวในการนมัสการพระเจ้า. ถึงแม้ว่าบุตรชายทุกคนจะได้รับมรดก แต่บุตรชายคนโตจะได้มากกว่าเพื่อน. เขาจะได้รับส่วนแบ่งที่ดินมากกว่าบุตรคนอื่น ๆ ถึงสองเท่า.
ในสมัยปฐมบรรพบุรุษเหล่านั้น บุตรชายคนโตอาจสละสิทธิบุตรหัวปีของเขา. ตัวอย่างเช่น เอซาวได้ขายสิทธิบุตรหัวปีให้แก่น้องชาย. (เยเนซิศ 25:30-34) ยาโคบได้ยกสิทธิบุตรหัวปีซึ่งเป็นของรูเบ็นให้แก่โยเซฟ. รูเบ็นสูญเสียสิทธิพิเศษนั้นเพราะเขาประพฤติผิดประเวณี. (1 โครนิกา 5:1) อย่างไรก็ตาม พระบัญญัติของโมเซกำหนดว่าผู้ชายที่มีภรรยามากกว่าหนึ่งคนไม่สามารถยกสิทธิพิเศษและหน้าที่รับผิดชอบที่เป็นของบุตรหัวปีให้กับบุตรหัวปีของภรรยาอีกคนหนึ่งเพียงเพราะเขารักภรรยาคนนั้นมากเป็นพิเศษ. บิดาจะต้องเคารพสิทธิของบุตรหัวปีโดยไม่ยกสิทธินั้นให้บุตรคนอื่น ๆ ตามใจชอบ.—พระบัญญัติ 21:15-17
เหตุใดพวกอาลักษณ์และฟาริซายจึงสวม “กลักใส่ข้อคัมภีร์”?
▪ พระเยซูทรงตำหนิพวกอาลักษณ์และฟาริซายผู้ต่อต้านพระองค์ เนื่องจากพวกเขาทำ “กลักใส่ข้อคัมภีร์ที่สวมเป็นเครื่องราง” ให้ใหญ่ขึ้น. (มัดธาย 23:2, 5) ผู้ติดตามศาสนาของอาลักษณ์และฟาริซายจะสวมกล่องหนังสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ สีดำไว้ที่หน้าผาก. นอกจากนั้น พวกเขายังพันกล่องนี้ไว้ที่ต้นแขนด้านในใกล้กับหัวใจด้วย. ข้างในกล่องมีข้อความจากพระคัมภีร์. ธรรมเนียมสวมกลักใส่ข้อคัมภีร์เช่นนี้มีขึ้นเนื่องจากพวกเขาตีความพระบัญชาของพระเจ้าที่ให้แก่พวกอิสราเอลตามตัวอักษรที่ว่า “ถ้อยคำเหล่านี้, ซึ่งเราสั่งไว้แก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้, ก็ให้ตั้งอยู่ในใจของเจ้าทั้งหลาย . . . เอาถ้อยคำเหล่านี้พันไว้ที่มือของเจ้าเป็นของสำคัญ, และจารึกไว้ที่หว่างคิ้วของเจ้าทั้งหลาย.” (พระบัญญัติ 6:6-8) ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าธรรมเนียมนี้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อไร แต่พวกผู้เชี่ยวชาญคิดว่าธรรมเนียมนี้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่สามหรือสองก่อนสากลศักราช.
พระเยซูทรงตำหนิธรรมเนียมนี้เนื่องด้วยเหตุผลสองประการ. ประการแรก พวกอาลักษณ์และฟาริซายได้ทำกลักใส่ข้อคัมภีร์ของตนให้ใหญ่ขึ้นเพื่อจะให้คนอื่นเห็นว่าพวกเขาเคร่งศาสนามากเพียงไร. ประการที่สอง ทั้งสองกลุ่มเชื่ออย่างผิด ๆ ว่ากลักใส่ข้อคัมภีร์เป็นเครื่องรางที่จะปกป้องคุ้มครองพวกเขา. คำภาษากรีกสำหรับกลักใส่ข้อคัมภีร์นี้คือฟีลักเทริอน ซึ่งหนังสือทั่วไปใช้คำนี้ในความหมายว่า “ด่านหน้า,” “ป้อม,” หรือ “เครื่องป้องกัน.”