“เมื่อพวกเจ้าอธิษฐาน ให้กล่าวว่า ‘ข้าแต่พระบิดา’”
“เมื่อพวกเจ้าอธิษฐาน ให้กล่าวว่า ‘ข้าแต่พระบิดา’ ”
เมื่อได้ยินคำว่า “พ่อ” คุณนึกถึงอะไร? คุณนึกถึงผู้ชายที่ให้ความรัก ความห่วงใย และคอยเอาใจใส่ดูแลสวัสดิภาพของคนในครอบครัวไหม? หรือคุณนึกถึงผู้ชายที่ไม่สนใจไยดี หรือถึงกับทำร้ายคนในครอบครัวด้วยซ้ำ? คำตอบของคุณส่วนใหญ่คงขึ้นอยู่กับว่าพ่อของคุณเป็นคนแบบไหน.
“พระบิดา” เป็นคำที่พระเยซูมักใช้บ่อย ๆ เมื่อพระองค์อธิษฐานหรือพูดถึงพระเจ้า. * เมื่อสอนเหล่าสาวกให้อธิษฐาน พระเยซูตรัสว่า “เมื่อพวกเจ้าอธิษฐาน ให้กล่าวว่า ข้าแต่พระบิดา.” (ลูกา 11:2) แต่พระยะโฮวาเป็นพระบิดาหรือพ่อแบบไหน? คำตอบสำหรับคำถามนี้นับว่าสำคัญมาก. เพราะเหตุใด? ยิ่งเราเข้าใจมากเท่าไรว่าพระยะโฮวาเป็นพระบิดาแบบไหน เราก็ยิ่งอยากเข้าใกล้พระองค์และรักพระองค์มากเท่านั้น.
ไม่มีใครสามารถบอกเราเกี่ยวกับพระบิดาในสวรรค์ได้ดีกว่าพระเยซู. พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระบิดา. พระเยซูตรัสว่า “ไม่มีใครรู้จักพระมัดธาย 11:27) ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดที่จะเรียนรู้จักพระบิดาคือโดยทางพระบุตรของพระองค์.
บุตรอย่างถ่องแท้นอกจากพระบิดา และไม่มีใครรู้จักพระบิดาอย่างถ่องแท้นอกจากพระบุตรกับผู้ที่พระบุตรทรงประสงค์จะเปิดเผยเรื่องพระบิดาแก่เขา.” (เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากพระเยซูเกี่ยวกับพระบิดาในสวรรค์? ขอให้พิจารณาคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “พระเจ้าทรงรัก โลกมาก จนถึงกับประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบุตรจะไม่ถูกทำลาย แต่จะมีชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 3:16) ถ้อยคำของพระเยซูในข้อนี้ชี้ให้เห็นคุณลักษณะเด่นของพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ นั่นคือความรัก. (1 โยฮัน 4:8) พระยะโฮวาทรงแสดงความรักต่อเราในหลายวิธี เช่น โดยแสดงความพอพระทัยในตัวเรา เมตตาสงสาร ปกป้องดูแล และตีสอน รวมทั้งจัดหาสิ่งจำเป็นให้เรา.
มั่นใจว่าเราเป็นที่พอพระทัยของพระบิดา
เด็ก ๆ จะรู้สึกมั่นใจและมีความกล้าเมื่อได้รับคำชมเชยจากพ่อ. ลองนึกภาพว่าพระเยซูคงต้องรู้สึกมีกำลังใจสักเพียงไรเมื่อได้ยินพระบิดาตรัสว่า “นี่คือบุตรที่รักของเราซึ่งเราพอใจมาก.” (มัดธาย 3:17) พระเยซูเองก็ให้คำรับรองแก่เราว่าพระบิดาทรงรักและพอพระทัยเราเช่นกัน. พระเยซูตรัสว่า “พระบิดาของเราจะทรงรักผู้ที่รักเรา.” (โยฮัน 14:21) นี่เป็นถ้อยคำที่ให้กำลังใจจริง ๆ! อย่างไรก็ตาม มีผู้หนึ่งที่ไม่อยากให้คุณรู้สึกเช่นนั้น.
ซาตานพยายามเพาะความสงสัยขึ้นในหัวใจเราและทำให้เราคิดว่าพระบิดาในสวรรค์คงไม่พอพระทัยเรา. มันพยายามทำให้เราเชื่อว่าเราไม่คู่ควรที่จะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า. ซาตานมักจะฉวยโอกาสตอนที่เราอยู่ในสภาพอ่อนแอที่สุด เช่น เมื่อเราเจ็บป่วย แก่ชรา ท้อแท้ หรือเป็นทุกข์เพราะความล้มเหลวและความผิดหวัง. ขอให้เราพิจารณาตัวอย่างของชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อลูคัส ซึ่งรู้สึกว่าเขาไม่คู่ควรที่จะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า. ลูคัสเล่าว่าพ่อแม่ของเขาเปลี่ยนไปเป็นคนละคนในช่วงที่เขาเป็นวัยรุ่น. พวกท่านไม่ได้ยึดมั่นกับค่านิยมแบบคริสเตียนที่เคยปลูกฝังให้เขา. อาจเป็นเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้เขารู้สึกว่ายากที่จะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระบิดาในสวรรค์. นอกจากนี้ นิสัยใจร้อนและโมโหง่ายของลูคัสเองก็ทำให้เขามักมีปัญหาอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น. อย่างไรก็ตาม ด้วยกำลังใจที่ได้รับจากภรรยาที่น่ารักและอดทน ซึ่งลูคัสเรียกว่า “พรอันวิเศษและของขวัญจากพระเจ้า” ทำให้เขาค่อย ๆ ควบคุมอารมณ์ได้. ลูคัสได้เข้าใจว่า “พระคริสต์เยซูทรงเข้ามาในโลกเพื่อช่วยคนบาปให้รอด.” (1 ติโมเธียว 1:15) ลูคัสพูดว่าเมื่อใคร่ครวญถึงความรักและความพอพระทัยที่ได้รับจากพระเจ้า เขารู้สึกมีความสุขและอิ่มใจจริง ๆ.
ถ้าบางครั้งคุณรู้สึกไม่แน่ใจว่าพระยะโฮวาทรงรักและพอพระทัยคุณหรือไม่ คุณอาจได้กำลังใจเมื่ออ่านและใคร่ครวญถ้อยคำที่กล่าวในโรม 8:31-39. ในข้อคัมภีร์เหล่านี้ อัครสาวกเปาโลรับรองกับเราด้วยความรักว่าไม่มีอะไรจะ “พรากเราจากความรักที่พระเจ้าทรงแสดงต่อเราโดยทางพระคริสต์เยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้.” *
พระบิดาที่เปี่ยมด้วยความเอ็นดูสงสาร
พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ทรงไวต่อความทุกข์ร้อนของเรา. พระองค์เป็นพระเจ้าที่เปี่ยมด้วย “ความเอ็นดูสงสาร.” (ลูกา 1:78) พระเยซูทรงสะท้อนความเมตตาสงสารที่พระบิดาของพระองค์มีต่อมนุษย์ไม่สมบูรณ์. (มาระโก 1:40-42; 6:30-34) คริสเตียนแท้ก็พยายามเลียนแบบความเมตตาสงสารของพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์เช่นกัน. พวกเขาทำตามคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลที่ให้ ‘กรุณาต่อกันและเห็นใจกัน.’—เอเฟโซส์ 4:32
ให้เรามาพิจารณาประสบการณ์ของชายคนหนึ่งชื่อเฟลีเป. วันหนึ่งขณะที่กำลังเดินทางไปทำงาน จู่ ๆ เขาก็รู้สึกปวดแปลบขึ้นมากลางหลังเหมือนมีอะไรมาแทง. เขารีบไปโรงพยาบาลทันที. หลังจากใช้เวลาตรวจนานถึงแปดชั่วโมง ในที่สุดหมอก็ลงความเห็นว่าผนังชั้นในของหลอดเลือดแดงใหญ่ของเขาฉีกขาด. หมอบอกว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้อีกแค่ 25 นาทีและไม่มีประโยชน์ที่จะผ่าตัดเพราะถึงอย่างไรเขาก็ไม่รอด.
ตอนนั้นมีเพื่อนคริสเตียนบางคนอยู่กับเฟลีเป และด้วยความสงสาร พวกเขาจึงตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง. พวกเขารีบนำตัวเฟลีเปไปรักษาในโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง และหมอที่นั่นก็ผ่าตัดให้เขาทันที. นอกจากนั้น พวกเพื่อน ๆ ยังคอยอยู่ที่โรงพยาบาลจนกระทั่งการผ่าตัดเสร็จสิ้น. น่าดีใจที่เฟลีเปรอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด. เมื่อมองย้อนกลับไป เฟลีเปรู้สึกขอบคุณเหลือเกินสำหรับความเมตตาสงสารของเพื่อนคริสเตียน. แต่เฟลีเปมั่นใจว่าพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์นั่นเองที่กระตุ้นให้เพื่อน ๆ แสดงความเมตตาต่อเขา. เฟลีเปพูดว่า “ผมรู้สึกราวกับว่าพระเจ้าทรงยืนอยู่ข้าง ๆ และประทานกำลังให้ผมเหมือนพ่อที่รักและห่วงใยลูก.” จริงทีเดียว บ่อยครั้งพระยะโฮวาทรงแสดงความเมตตาสงสารโดยกระตุ้นผู้รับใช้ของพระองค์บนแผ่นดินโลกให้สะท้อนคุณลักษณะของพระองค์ออกมา.
พระบิดาที่ให้การปกป้องดูแล
เมื่อเด็กเล็ก ๆ รู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่เป็นอันตราย เขาจะวิ่งไปหาพ่อ. เด็กน้อยรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในอ้อมแขนของพ่อที่รักเขา. พระเยซูทรงวางใจอย่างเต็มที่ว่าพระยะโฮวาจะคอยปกป้องดูแลพระองค์. (มัดธาย 26:53; โยฮัน 17:15) เราก็รู้สึกปลอดภัยได้เช่นกันถ้าเราอยู่ภายใต้การปกป้องของพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์. การปกป้องของพระยะโฮวาในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่เป็นการปกป้องเราไว้จากสิ่งที่อาจทำให้เราสูญเสียสัมพันธภาพที่ดีกับพระองค์. พระเจ้าทรงให้การปกป้องโดยเตรียมเราให้พร้อมเพื่อจะสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายและรักษาสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระองค์ได้ต่อ ๆ ไป. วิธีหนึ่งที่พระองค์ปกป้องเราคือโดยทางคำแนะนำที่มาจากคัมภีร์ไบเบิล. เมื่อเราได้รับคำแนะนำเช่นนั้น ก็เหมือนกับว่าพระยะโฮวาทรงเดินอยู่ข้างหลังเราและตรัสว่า “ทางนี้แหละ; เดินไปเถอะ!”—ยะซายา 30:21
ขอพิจารณาตัวอย่างของติแอกูและพี่ชายอีกสองคนคือเฟอร์นังดูและราฟาเอลซึ่งเป็นสมาชิกวงดนตรีร็อกแอนด์โรล. พวกเขาตื่นเต้นมากเมื่อได้รับเลือกให้ไปเล่นดนตรีในหอแสดงดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในรัฐเซาเปาลู ประเทศบราซิล. ดูเหมือนว่าความสำเร็จของพวกเขาอยู่แค่เอื้อม. อย่างไรก็ตาม เพื่อนคริสเตียนคนหนึ่งเตือนพวกเขาให้ระวังอันตรายจากการคลุกคลีกับคนที่ดำเนินชีวิตแบบที่ไม่แยแสพระเจ้า. (สุภาษิต 13:20) เพื่อนคนนั้นย้ำให้เห็นความสำคัญของคำแนะนำนี้โดยเล่าเรื่องของพี่ชายให้พวกเขาฟัง. ครั้งหนึ่งพี่ชายของเขาเคยพลาดพลั้งทำสิ่งที่พระเจ้าไม่พอพระทัยเพราะการคบหาสมาคมที่ไม่ดี. ติแอกูกับพี่ ๆ จึงตัดสินใจเลิกอาชีพนักดนตรี. ตอนนี้พวกเขาทั้งสามคนเป็นผู้เผยแพร่ศาสนาเต็มเวลา. พวกเขาเชื่อว่าการทำตามคำแนะนำในพระคำของพระเจ้าช่วยปกป้องและรักษาสัมพันธภาพของพวกเขากับพระเจ้าไว้ได้.
พระบิดาในสวรรค์ทรงตีสอนเรา
พ่อที่รักลูกย่อมอบรมสั่งสอนลูกเพราะเขาเป็นห่วงว่าลูกจะเป็นคนแบบไหนเมื่อโตขึ้น. (เอเฟโซส์ 6:4) พ่อที่รักลูก เช่นนี้จะว่ากล่าวแก้ไขลูกอย่างหนักแน่นแต่ก็ไม่เกรี้ยวกราด. ทำนองเดียวกัน บางครั้งพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จำเป็นต้องว่ากล่าวแก้ไขเรา. แต่พระองค์ทำเช่นนั้นด้วยความรักเสมอ และไม่เคยโหดร้ายทารุณกับเรา. พระเยซูก็เช่นกัน พระองค์ไม่เคยดุด่าสาวกอย่างรุนแรงถึงแม้พวกเขาไม่ปรับปรุงตัวทั้ง ๆ ที่ถูกว่ากล่าวแก้ไขหลายครั้ง.—มัดธาย 20:20-28; ลูกา 22:24-30
ให้เรามาดูตัวอย่างของชายคนหนึ่งชื่อริคาร์ดูซึ่งได้มาเข้าใจว่าพระยะโฮวาทรงตีสอนเขาด้วยความรักอย่างไร. เขาถูกพ่อทิ้งตั้งแต่อายุได้เพียงเจ็ดเดือน. พอโตเป็นวัยรุ่น ริคาร์ดูรู้สึกเสียใจที่ตัวเองไม่มีพ่อ. เขาประพฤติตัวไม่ดีหลายอย่างและสติรู้สึกผิดชอบก็เริ่มรบกวนใจเขา. เมื่อเห็นว่าตัวเองกำลังใช้ชีวิตขัดกับหลักศีลธรรมของคริสเตียน ริคาร์ดูจึงตัดสินใจไปปรึกษาผู้ปกครองในประชาคมที่เขาสมทบอยู่. ผู้ปกครองให้คำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์ด้วยความรักแต่ก็หนักแน่น. ริคาร์ดูรู้สึกขอบคุณสำหรับการว่ากล่าวแก้ไขเช่นนั้น แต่เขาก็ยังต้องรับผลจากการกระทำผิดของตนเอง. เขานอนไม่หลับ ร้องไห้บ่อย ๆ และซึมเศร้า. ในที่สุดเขาก็เข้าใจว่าการตีสอนที่เขาได้รับนั้นแสดงว่าพระยะโฮวายังรักเขาอยู่. ริคาร์ดูนึกถึงถ้อยคำในฮีบรู 12:6 ซึ่งกล่าวว่า “พระยะโฮวาทรงรักผู้ใด พระองค์ทรงตีสอนผู้นั้น.”
ขอให้เราจำไว้เสมอว่า การตีสอนไม่ใช่แค่การลงโทษหรือการว่ากล่าวเมื่อทำผิดเท่านั้น. คัมภีร์ไบเบิลแสดงว่าการตีสอนเกี่ยวข้องกับการฝึกด้วย. ดังนั้น พระบิดาในสวรรค์ที่รักเราอาจตีสอนโดยปล่อยให้เราได้รับผลเสียหายจากการกระทำผิดของเราอยู่ระยะหนึ่ง. แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกให้รู้ว่าพระองค์ทรงทำเช่นนั้นเพื่อฝึกเราและช่วยเราให้เดินในแนวทางที่ถูกต้อง. (ฮีบรู 12:7, 11) ใช่แล้ว พระบิดาของเราทรงเป็นห่วงสวัสดิภาพของเรา และทรงตีสอนเราเพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง.
พระบิดาผู้จัดหาสิ่งจำเป็นให้เรา
พ่อที่เปี่ยมด้วยความรักจะคอยดูแลให้ทุกคนในครอบครัวมีสิ่งจำเป็นทั้งด้านร่างกายและวัตถุ. พระยะโฮวาก็ทรงเป็นเช่นนั้น. พระเยซูตรัสว่า “พระบิดาของเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบว่าพวกเจ้าต้องมีสิ่งทั้งปวงนี้.” (มัดธาย 6:25-34) พระยะโฮวาทรงสัญญาว่า “เราจะไม่มีวันละทิ้งเจ้าและไม่มีวันทอดทิ้งเจ้า.”—ฮีบรู 13:5
ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อนีเซได้มาเข้าใจความจริงข้อนี้อย่างถ่องแท้เมื่อสามีของเธอตกงาน. เธอเองก็เพิ่งลาออกจากงานที่มีรายได้ดีเพราะเธออยากมีเวลาดูแลลูกสาวสองคนและรับใช้พระเจ้าให้มากขึ้น. แล้วตอนนี้พวกเขาจะอยู่อย่างไร? นีเซทูลอธิษฐานถึงพระยะโฮวา. วันถัดไป สามีของเธอกลับไปที่ทำงานเพื่อเก็บของ. เขาแปลกใจมากเมื่อเจ้านายบอกว่าเพิ่งมีงานตำแหน่งหนึ่งว่างและอยากให้เขาทำงานนั้น! ดังนั้น สามีของนีเซจึงตกงานแค่วันเดียว แล้ววันรุ่งขึ้นก็ได้งานใหม่. นีเซกับสามีของเธอรู้สึกขอบคุณพระบิดาในสวรรค์สำหรับเรื่องที่น่ายินดีนี้. ประสบการณ์ของพวกเขาเตือนใจเราว่าพระยะโฮวาผู้ทรงจัดหาสิ่งจำเป็นให้เราด้วยความรักจะไม่ลืมผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์เลย.
สำนึกถึงความรักของพระบิดา
จริงทีเดียว ไม่มีถ้อยคำใดอาจพรรณนาความรักอันยิ่งใหญ่ของพระบิดาในสวรรค์ได้! เมื่อคิดถึงวิธีต่าง ๆ ที่พระเจ้าแสดงความรักต่อเราเหมือนที่พ่อแสดงต่อลูก ไม่ว่าโดยแสดงความพอพระทัยในตัวเรา เมตตาสงสาร ปกป้องดูแล หรือตีสอน รวมทั้งจัดหาสิ่งจำเป็นให้เรา ทำให้เราได้ข้อสรุปว่าพระองค์ทรงเป็นพ่อที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะมีได้!
เราจะแสดงให้เห็นโดยวิธีใดว่าเราสำนึกและซาบซึ้งในความรักที่พระบิดาในสวรรค์ทรงแสดงต่อเรา? เราน่าจะพยายามเรียนรู้ให้มากขึ้นเกี่ยวกับพระองค์และพระประสงค์ของพระองค์. (โยฮัน 17:3) เราสามารถดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับพระประสงค์และแนวทางของพระองค์. (1 โยฮัน 5:3) เราสามารถสะท้อนความรักของพระองค์ได้โดยวิธีที่เราปฏิบัติต่อคนอื่น. (1 โยฮัน 4:11) เมื่อเราทำสิ่งเหล่านี้ เราสามารถแสดงให้เห็นว่าเรานับถือพระยะโฮวาเป็นพระบิดาของเรา และถือว่าเป็นเกียรติอันสูงส่งที่เราได้เป็นบุตรของพระองค์.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 คัมภีร์ไบเบิลเน้นเสมอว่าพระยะโฮวาเป็นพระบิดาของเรา. ตัวอย่างเช่น ในกิตติคุณของมัดธาย มาระโก และลูกา เราพบว่าพระเยซูทรงใช้คำว่า “พระบิดา” ประมาณ 65 ครั้ง ส่วนในกิตติคุณของโยฮันมีการใช้คำนี้มากกว่า 100 ครั้ง. นอกจากนี้ เปาโลยังเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” มากกว่า 40 ครั้งในจดหมายของท่าน. พระยะโฮวาทรงเป็นพระบิดาของเราในแง่ที่ว่าพระองค์เป็นผู้ประทานชีวิตแก่เรา.
^ วรรค 9 โปรดดูบท 24 เรื่อง “ไม่มีสิ่งใดสามารถ ‘พรากเราจากความรักของพระเจ้า’ ” ในหนังสือจงเข้าใกล้พระยะโฮวา จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[คำโปรยหน้า 19]
ยิ่งเราเข้าใจมากเท่าไรว่าพระยะโฮวาเป็นพระบิดาแบบไหน เราก็ยิ่งอยากเข้าใกล้พระองค์และรักพระองค์มากเท่านั้น
[คำโปรยหน้า 22]
เราสามารถแสดงให้เห็นว่าเรานับถือพระยะโฮวาเป็นพระบิดาของเรา และถือว่าเป็นเกียรติอันสูงส่งที่เราได้เป็นบุตรของพระองค์
[กรอบ/ภาพหน้า 21]
พระยะโฮวาทรงแสดงว่าพระองค์เป็นพระบิดาที่เปี่ยมด้วยความรักในหลายวิธี
ชมเชย
เมตตาสงสาร
ปกป้องดูแล
อบรมสั่งสอน
จัดหาสิ่งจำเป็น