ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ฉันควรยืมเงินไหม?

ฉันควรยืมเงินไหม?

“ตอนยืมเงินดีใจเหมือนได้แต่งงาน ตอนคืนเงินเสียใจเหมือนคนรักตาย”—ภาษิตของสวาฮิลี

คำพูดนี้เป็นที่รู้จักกันในหมู่คนที่อาศัยในแถบแอฟริกาตะวันออก และแนวคิดนี้มีอยู่ทั่วไปในหลายดินแดนทั่วโลก เมื่อพูดถึงการยืมเงินคุณรู้สึกอย่างนั้นไหม? แม้บางครั้งอาจจำเป็นต้องยืมเงิน แต่การยืมเงินเป็นทางเลือกที่ดีแล้วไหม? มีผลเสียอะไรบ้างจากการยืมเงิน?

ยังมีอีกภาษิตหนึ่งของสวาฮิลีที่แสดงให้เห็นปัญหาใหญ่ที่เกิดจากการยืมเงิน ภาษิตนี้บอกว่า “การยืมเงินและการให้ยืมทำลายความเป็นเพื่อน” ที่จริง การเป็นหนี้อาจทำให้เพื่อนผิดใจกันและเลิกคบกันได้ ถึงแม้ว่าจะวางแผนอย่างดีและตั้งใจที่จะใช้หนี้แต่ก็อาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดไว้ เช่น พอเลยเวลาที่ต้องใช้หนี้และยังไม่ใช้ คนที่ให้ยืมก็อาจโกรธและไม่พอใจ ผู้ให้ยืมและผู้ยืมอาจมีเรื่องกันและลามไปถึงครอบครัวของทั้งสองฝ่ายด้วย เนื่องจากการกู้ยืมแบบนั้นทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้ เราจึงควรให้การยืมเงินเป็นทางเลือกสุดท้ายแทนที่จะมองว่าเป็นวิธีง่าย ๆ ในการแก้ปัญหา

การยืมเงินยังทำลายมิตรภาพระหว่างเรากับพระเจ้าได้ด้วย เป็นไปได้อย่างไร? ก่อนอื่น คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าคนที่ตั้งใจยืมเงินแล้วไม่ใช้หนี้ถือว่าเป็นคนชั่ว (บทเพลงสรรเสริญ 37:21) และยังบอกชัดด้วยว่า “ลูกหนี้ก็เป็นทาสของเจ้าหนี้” (สุภาษิต 22:7, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) คนที่ยืมเงินต้องสำนึกเสมอว่าเขาต้องใช้คืนจนกว่าจะครบ มีภาษิตอีกอย่างหนึ่งของแอฟริกาที่พูดไว้ถูกต้องว่า “ยืมขาใคร ก็ต้องไปตามที่เขาสั่ง” หมายความว่า คนที่เป็นหนี้มาก ๆ ก็ต้องยอมรับว่าเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะทำอะไรตามใจชอบ

ดังนั้น ต้องถือว่าการใช้หนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่ใช้หนี้ก็จะมีปัญหาตามมา การเป็นหนี้ท่วมหัวทำให้เกิดความเครียด นอนไม่หลับ ทำงานหนักเกินไป สามีภรรยาทะเลาะกัน และอาจทำให้ครอบครัวแตกแยก บางทีอาจถึงขั้นต้องขึ้นโรงขึ้นศาลหรือติดคุกด้วยซ้ำ หนังสือโรม 13:8 ให้คำแนะนำที่ยอดเยี่ยมว่า “อย่าเป็นหนี้ผู้ใดแม้แต่สิ่งเดียว เว้นแต่ความรักที่พึงให้แก่กัน”

 มีความจำเป็นจริง ๆ ไหม?

เมื่อคิดถึงผลเสียทั้งหมดนี้ เราควรคิดให้รอบคอบก่อนจะยืมเงิน เราต้องถามตัวเองว่า มีความจำเป็นจริง ๆ ไหมที่จะยืมเงิน? ยืมเพราะครอบครัวขาดเงินจริง ๆ ไหม? หรือยืมเพราะโลภ อยากจะใช้ชีวิตเกินฐานะตัวเอง? ในหลายกรณีแล้ว ความพอใจในสิ่งที่มีอยู่ก็ดีกว่าที่จะยืมเงินแล้วทำให้ตัวเองลำบาก

แน่นอน อาจมีข้อยกเว้น เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินและดูเหมือนว่าไม่มีทางออก บางคนอาจตัดสินใจที่จะยืมเงิน แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็ควรซื่อสัตย์ เราจะซื่อสัตย์ได้อย่างไร?

อันดับแรก อย่าฉวยประโยชน์จากบางคนเพราะเห็นว่าเขาร่ำรวย เราไม่ควรคิดว่าคนรวยจะต้องช่วยเราด้านการเงิน หรือคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องคืนเงินให้เขาเพราะถึงอย่างไรเขาก็รวยอยู่แล้ว เราไม่ควรอิจฉาคนที่ร่ำรวยหรือมีฐานะการเงินที่มั่นคง—สุภาษิต 28:22

นอกจากนั้น อย่าลืมใช้คืนตามกำหนด ถ้าคนที่ให้ยืมไม่ได้กำหนดเวลาที่แน่นอน คุณก็ควรกำหนดเวลาเองว่าจะใช้หนี้ได้เมื่อไรแล้วก็ทำตามที่ตั้งใจไว้ คุณควรทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดของทั้งสองฝ่าย (ยิระมะยา 32:9, 10) ถ้าเป็นไปได้ คุณควรใช้หนี้กับผู้ให้ยืมเป็นส่วนตัวเพื่อคุณจะขอบคุณเขาด้วยตัวเอง การเป็นคนทำตามสัญญาเสมอจะทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนอื่น พระเยซูพูดในคำบรรยายครั้งหนึ่งว่า “ให้คำของเจ้าที่ว่าใช่ หมายความว่าใช่ ที่ว่าไม่ หมายความว่าไม่” (มัดธาย 5:37) นอกจากนั้น พระเยซูยังสอนอีกว่า “ด้วยเหตุนั้น สารพัดสิ่งที่เจ้าทั้งหลายต้องการให้คนอื่นทำต่อเจ้า จงทำอย่างนั้นต่อเขา”—มัดธาย 7:12

หลักการที่เป็นประโยชน์จากคัมภีร์ไบเบิล

สำหรับคนที่ชอบยืมเงิน คัมภีร์ไบเบิลบอกทางแก้ง่าย ๆ คือ “ความเลื่อมใสพระเจ้าพร้อมกับความอิ่มใจพอใจในสิ่งที่มีอยู่ทำให้ได้ประโยชน์มาก” (1 ติโมเธียว 6:6) พูดอีกอย่างหนึ่งคือการพอใจกับสิ่งที่มีเป็นวิธีดีที่สุดที่จะหนีจากผลที่น่าเศร้าของการกู้หนี้ยืมสิน แต่ก็ต้องยอมรับว่าการทำอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้คนในทุกวันนี้คิดว่าถ้าอยากได้อะไรก็ต้องได้ทันที แต่ “ความเลื่อมใสพระเจ้า” จะช่วยเราได้ เป็นไปได้อย่างไร?

ยกตัวอย่าง คู่สมรสคริสเตียนคู่หนึ่งในเอเชีย ตอนที่พวกเขายังอายุไม่มาก พวกเขาอยากมีบ้านสักหลังเหมือนคนอื่น เขาเลยตัดสินใจซื้อบ้านโดยใช้เงินเก็บที่มีและกู้จากธนาคารรวมทั้งยืมจากญาติด้วย แต่ไม่นานพวกเขาก็เริ่มรู้สึกว่าเป็นภาระหนักที่ต้องส่งเงินกู้ในแต่ละเดือนเป็นจำนวนมาก พวกเขาต้องทำงานมากขึ้น ทำงานจนดึกดื่นแทบไม่ได้อยู่กับลูกเลย คนที่เป็นสามีบอกว่า “ผมเครียด ทุกข์ใจ และอดหลับอดนอนจนรู้สึกเหมือนมีก้อนหินที่หนักอึ้งทับหัวผมอยู่ มันอึดอัดจริง ๆ”

“การเชื่อฟังพระเจ้าในเรื่องการอิ่มใจพอใจกับสิ่งที่มีช่วยปกป้องเราไว้ได้”

ต่อมา พวกเขานึกถึงคำพูดที่ 1 ติโมเธียว 6:6 และตัดสินใจว่าทางแก้เพียงอย่างเดียวคือต้องขายบ้าน แต่ก็ใช้เวลาถึงสองปีถึงจะหมดภาระหนี้สิน พวกเขาเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? พวกเขาบอกว่า “การเชื่อฟังพระเจ้าในเรื่องการอิ่มใจพอใจกับสิ่งที่มีช่วยปกป้องเราไว้ได้”

ภาษิตสวาฮิลีที่อ้างถึงตอนต้นเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนเลิกยืมเงิน แต่หลักการในคัมภีร์ไบเบิลที่เราพิจารณาน่าจะช่วยเราให้คิดจริงจังเกี่ยวกับคำถามที่ว่า ฉันควรยืมเงินไหม?