บท 21
ราชอาณาจักรของพระเจ้ากำจัดศัตรู
1, 2. (ก) มีหลักฐานอะไรที่แสดงว่ากษัตริย์ของเราปกครองตั้งแต่ปี 1914 แล้ว? (ข) เราจะเรียนอะไรในบทนี้?
การทบทวนเรื่องต่าง ๆ ที่ราชอาณาจักรของพระเจ้าได้ทำมาตลอดแม้มีศัตรูคอยขัดขวาง เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมความเชื่อของเราให้เข้มแข็งขึ้น (เพลง. 110:2) กษัตริย์ของเราได้รวบรวมคนที่เต็มใจประกาศเข้ามามากมาย ชำระพวกเขาให้สะอาดทั้งด้านการนมัสการและด้านศีลธรรม พวกเราในทุกวันนี้รักใคร่กลมเกลียวกันทั่วโลกแม้ว่าศัตรูพยายามจะทำให้พวกเราแตกแยกกัน สิ่งเหล่านี้รวมทั้งผลงานต่าง ๆ ของราชอาณาจักรที่เราได้เรียนในบทต้น ๆ ทำให้เรามีหลักฐานมากมายที่เชื่อว่าราชอาณาจักรปกครองท่ามกลางศัตรูมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1914 แล้ว
2 ราชอาณาจักรจะทำสิ่งที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นในอนาคตอันใกล้นี้ คือจะ “มา” ทำลายศัตรู “ให้ย่อยยับและเผาผลาญเสียสิ้น” (มัด. 6:10; ดานิ. 2:44) แต่ยังมีเหตุการณ์สำคัญอีกหลายอย่างที่จะต้องเกิดขึ้นก่อน เหตุการณ์อะไรล่ะ? คำตอบมีอยู่ในคำพยากรณ์หลายข้อในพระคัมภีร์ ให้เรามาพิจารณาคำพยากรณ์บางข้อเพื่อดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในวันข้างหน้า
ก่อนที่ “ความพินาศจะเกิดขึ้น” ทันที
3. เหตุการณ์แรกที่เรากำลังรออยู่คืออะไร?
3 การประกาศสันติภาพ ในจดหมายที่อัครสาวกเปาโลเขียนถึงพี่น้องในเมืองเทสซาโลนิเก เขาได้พูดถึงเหตุการณ์แรกที่เรากำลังรออยู่ (อ่าน 1 เทสซาโลนิเก 5:2, 3) ในจดหมายนั้น เปาโลพูดถึง “วันของพระยะโฮวา” ซึ่งจะเริ่มด้วยการโจมตี “บาบิโลนใหญ่” (วิ. 17:5) แต่วันของพระยะโฮวาจะเริ่มขึ้นทันทีหลังจากที่ชาติต่าง ๆ ประกาศว่า “สงบสุขและปลอดภัยแล้ว!” นี่อาจเป็นคำประกาศโครมเดียว หรือเป็นแถลงการณ์ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง พวกผู้นำศาสนาจะมีส่วนรู้เห็นด้วยไหม? เนื่องจากพวกเขาเป็นส่วนของโลก พวกเขาก็อาจร่วมกับชาติต่าง ๆ ที่พากันกล่าวว่ามี “สันติภาพ” แล้ว! (ยิระ. 6:14, ฉบับคิงเจมส์; 23:16, 17; วิ. 17:1, 2) คำประกาศเรื่องสันติภาพและความปลอดภัยนี้จะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าวันของพระยะโฮวากำลังจะเริ่มขึ้น ศัตรูของราชอาณาจักร “จะไม่มีทางหนีพ้น”
4. เราได้ประโยชน์อย่างไรจากการเข้าใจคำพยากรณ์ที่สำคัญของเปาโลเกี่ยวกับคำประกาศเรื่องความสงบสุขและความปลอดภัย?
4 การเข้าใจคำพยากรณ์ที่สำคัญข้อนี้มีประโยชน์ต่อเราอย่างไร? เปาโลบอกว่า “ท่านไม่ได้อยู่ในความมืดเหมือนขโมย วันนั้นจึงไม่มาถึงโดยพวกท่านไม่ทันรู้ตัวอย่างที่มีแสงสว่างส่องมาโดยที่ขโมยไม่ทันรู้ตัว” (1 เทส. 5:3, 4) ไม่เหมือนกับคนส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ เรารู้ว่าเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นจะมุ่งหน้าไปสู่อะไร แล้วคำพยากรณ์เรื่องความสงบสุขและความปลอดภัยจะเกิดขึ้นจริงอย่างไร? เราต้องรอดูว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกจะเป็นไปอย่างไร ดังนั้น ขอให้เรา “ตื่นอยู่และมีสติอยู่เสมอ”—1 เทส. 5:6; ซฟัน. 3:8
ความทุกข์ลำบากใหญ่เริ่มขึ้น
5. “ความทุกข์ลำบากใหญ่” จะเปิดฉากอย่างไร?
5 การโจมตีศาสนา ขอให้นึกถึงข้อความที่เปาโลเขียนว่า “เมื่อไรพวกเขาพูดว่า ‘สงบสุขและปลอดภัยแล้ว!’ เมื่อนั้น ความพินาศจะเกิดขึ้นกับพวกเขาทันที” เหมือนกับเสียงฟ้าผ่าดังเปรี้ยงที่ตามมาหลังฟ้าแลบ “ความพินาศ” จะเกิดขึ้น “ทันที” หลังจากที่มีการประกาศว่า “สงบสุขและปลอดภัยแล้ว!” แล้วอะไรล่ะที่จะพินาศ? สิ่งแรกคือ “บาบิโลนใหญ่” ศาสนาเท็จทั้งหมดในโลกนี้หรือที่เรียกว่า “หญิงแพศยา” (วิ. 17:5, 6, 15) ความพินาศที่เกิดขึ้นกับคริสต์ศาสนจักรและองค์การศาสนาเท็จทั้งหมดนี้เป็นการเปิดฉากของ “ความทุกข์ลำบากใหญ่” (มัด. 24:21; 2 เทส. 2:8) สำหรับหลายคนแล้ว นี่คงทำให้พวกเขาแปลกใจมาก ทำไมล่ะ? เพราะจนถึงตอนนั้น “หญิงแพศยา” ก็ยังจะคิดว่าตัวเองเป็น “ราชินี” ที่จะ “ไม่มีวันโศกเศร้า” แต่แล้วจู่ ๆ เธอก็จะรู้ตัวว่าคิดผิดที่มั่นใจในตัวเองมาตลอด เธอจะถูกกำจัด “ในวันเดียว” ซึ่งรวดเร็วจนไม่ทันตั้งตัว—วิ. 18:7, 8
6. อะไรที่จะมาทำลาย “บาบิโลนใหญ่”?
6 อะไรที่จะมาทำลาย “บาบิโลนใหญ่”? คือ “สัตว์ร้าย” ที่มี “สิบเขา” หนังสือวิวรณ์ระบุว่าสัตว์ร้ายนี้หมายถึงองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และเขาทั้งสิบหมายถึงอำนาจทางการเมืองที่สนับสนุน “สัตว์ร้ายสีแดงเข้ม” นี้ (วิ. 17:3, 5, 11, 12) แล้วการโจมตีจะรุนแรงขนาดไหน? หญิงแพศยาคนนี้จะถูกชาติต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของยูเอ็นปล้นทรัพย์ กินเนื้อ และ ‘เผาจนสิ้นซาก’—อ่านวิวรณ์ 17:16 a
7. คำพูดของพระเยซูในมัดธาย 24:21, 22 เคยเกิดขึ้นในสมัยศตวรรษแรกอย่างไร และจะเกิดขึ้นในระดับโลกในอนาคตอย่างไร?
7 การย่นเวลาให้สั้นลง กษัตริย์เยซูเปิดเผยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นเมื่อถึงจุดนี้ในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่ ท่านบอกว่า “เพราะทรงเห็นแก่เหล่าผู้ถูกเลือก จึงทรงทำให้ช่วงเวลานั้นสั้นลง” (อ่านมัดธาย 24:21, 22) คำพูดของพระเยซูเคยเกิดขึ้นในขอบเขตเล็ก ๆ เมื่อปี 66 ตอนที่พระยะโฮวาย่นเวลาหรือทำให้ช่วงเวลาที่กองทัพโรมันโจมตีกรุงเยรูซาเลม “สั้นลง” (มโก. 13:20) คริสเตียนในกรุงเยรูซาเลมและในแคว้นยูเดียจึงมีโอกาสหนีรอดได้ แล้วจะเกิดเหตุการณ์ อะไรในระดับโลกในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่ที่กำลังใกล้เข้ามา? พระยะโฮวาจะใช้กษัตริย์เยซูย่นเวลาให้ “สั้นลง” ทำให้สหประชาชาติโจมตีศาสนาต่าง ๆ ได้เพียงช่วงสั้น ๆ ศาสนาแท้จะไม่พินาศไปพร้อมกับศาสนาเท็จ ในขณะที่ศาสนาเท็จทั้งหมดถูกกวาดล้าง จะมีเพียงศาสนาแท้เท่านั้นที่เหลือรอด (เพลง. 96:5) ให้เรามาดูว่าหลังจากเหตุการณ์นี้จะมีอะไรเกิดขึ้นอีกในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่
เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามลำดับจนถึงสงครามอาร์มาเก็ดดอน
8, 9. พระเยซูอาจพูดถึงปรากฏการณ์อะไร และผู้คนจะเป็นอย่างไรเมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น?
8 คำพยากรณ์ของพระเยซูเกี่ยวกับสมัยสุดท้ายบ่งชี้ว่า จะมีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้นก่อนจะถึงสงครามอาร์มาเก็ดดอน เหตุการณ์ 2 อย่างแรกที่เราจะดูด้วยกันมีบอกไว้ในหนังสือกิตติคุณของมัดธาย มาระโก และลูกา—อ่านมัดธาย 24:29-31; มโก. 13:23-27; ลูกา 21:25-28
9 ปรากฏการณ์ในท้องฟ้า พระเยซูบอกล่วงหน้าว่า “ดวงอาทิตย์จะมืดไป ดวงจันทร์จะไม่ส่องแสง ดวงดาวจะตกจากฟ้า” ผู้คนก็จะเลิกหวังพึ่งผู้นำศาสนาที่เขาเคยถือว่าเป็นแสงสว่างนำทางชีวิต แล้วพระเยซูกำลังพูดถึงปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติบนท้องฟ้าด้วยไหม? ก็อาจเป็นได้ (ยซา. 13:9-11; โยเอล 2:1, 30, 31) ผู้คนจะเป็นอย่างไรเมื่อเห็นสิ่งเหล่านั้น? พวกเขาจะ “ทุกข์ร้อนอย่างหนัก” เพราะ “ไม่รู้ทางออก” (ลูกา 21:25; ซฟัน. 1:17) ศัตรูของราชอาณาจักรพระเจ้า ‘ตั้งแต่กษัตริย์จนถึงทาส’ ก็จะ “สลบไปเพราะความกลัวและคอยท่าสิ่งที่จะเกิดขึ้น” และพวกเขาจะวิ่งหาที่หลบซ่อน แต่ไม่มีที่ไหนที่จะปกป้องคุ้มครองเขาให้รอดพ้นจากกษัตริย์เยซูที่จะมาคิดบัญชีกับพวกเขา—ลูกา 21:26; 23:30; วิ. 6:15-17
10. พระเยซูจะประกาศคำพิพากษาเรื่องอะไร และคนที่สนับสนุนราชอาณาจักรของพระเจ้ากับคนที่ต่อต้านจะมีท่าทีต่างกันอย่างไร?
10 การประกาศคำพิพากษา ในตอนนั้นศัตรูทั้งหมดของราชอาณาจักรจะต้องจำใจทนดูเหตุการณ์ที่ทำให้เขาหวาดกลัวมาก พระเยซูบอกว่า “พวกเขาจะเห็นบุตรมนุษย์มาในเมฆด้วยอำนาจอันยิ่งใหญ่และฐานะที่มีเกียรติอันรุ่งโรจน์” (มโก. 13:26) ปรากฏการณ์ที่ว่านี้เป็นสัญญาณว่าพระเยซูจะมาเพื่อพิพากษาพวกเขา ในอีกส่วนหนึ่งของคำพยากรณ์เกี่ยวกับสมัยสุดท้ายที่เป็นเรื่องเดียวกันนี้ พระเยซูให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกาศคำพิพากษาของท่าน ซึ่งเราจะอ่านดูได้จากตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องแกะกับแพะ (อ่านมัดธาย 25:31-33, 46) คนที่สนับสนุนราชอาณาจักรของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์จะได้รับการตัดสินว่าเป็น “แกะ” และพวกเขาจะ “เงยหน้าขึ้น” เพราะรู้ว่า “การช่วยให้รอด” ใกล้เข้ามาแล้ว (ลูกา 21:28) ส่วนคนที่ต่อต้านราชอาณาจักรซึ่งจะถูกตัดสินว่าเป็น “แพะ” ก็จะ “ร่ำไห้ตีอกชกหัว” เพราะเขารู้ตัวว่ากำลังจะ “ถูกทำลายชั่วนิรันดร์”—มัด. 24:30; วิ. 1:7
11. เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังจะมาถึง เราต้องจำอะไรไว้เสมอ?
11 หลังจากพระเยซูพิพากษา “ชาติทั้งปวง” แล้ว จะมีเหตุการณ์สำคัญอีกหลายอย่างตามมาก่อนจะถึงสงครามอาร์มาเก็ดดอน (มัด. 25:32) เราจะมาดู 2 เหตุการณ์คือ การโจมตีของโกก และการรวบรวมผู้ถูกเจิมที่เหลืออยู่บนโลก ขณะที่พิจารณา 2 เหตุการณ์นี้ เราต้องจำไว้ว่าคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกเวลาที่แน่ชัดว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเริ่มหรือจบเมื่อไร ที่จริง ดูเหมือนว่า 2 เหตุการณ์นี้จะมีช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันด้วย
12. ซาตานจะโจมตีราชอาณาจักรแบบทุ่มสุดตัวอย่างไร?
12 การโจมตีแบบทุ่มสุดตัว โฆฆหรือโกกแห่งแผ่นดินมาโกกจะโจมตีผู้ถูกเจิมที่เหลืออยู่บนโลกรวมทั้งแกะอื่นซึ่งเป็นเพื่อน ๆ ของพวกเขา (อ่านยะเอศเคล 38:2, 11) การโจมตีราชอาณาจักรในครั้งนี้จะเป็นการสู้รบครั้งสุดท้ายในสงครามระหว่างซาตานกับผู้ถูกเจิมที่เหลืออยู่ นับตั้งแต่ที่มันถูกขับไล่ลงมาจากสวรรค์ (วิ. 12:7-9, 17) โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงที่ผู้ถูกเจิมเริ่มถูกรวบรวมเข้ามาในประชาคมคริสเตียนที่ได้รับการฟื้นฟูแล้ว ซาตานก็ยังพยายามทำลายความเชื่อและความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระเจ้า แต่มันก็ทำไม่สำเร็จ (มัด. 13:30) หลังจากศาสนาเท็จทั้งหมดถูกกวาดล้างไปแล้ว ประชาชนของพระเจ้าดูเหมือนกำลังอยู่ในที่ที่ “ไม่มีกำแพงและประตูและดานสลัก” ซาตานมองเห็นว่านี่เป็นโอกาสทองที่จะปลุกเร้าพวกผู้มีอำนาจที่ชั่วช้าซึ่งอยู่ฝ่ายเดียวกับมันให้ทุ่มสุดตัวในการโจมตีคนที่สนับสนุนราชอาณาจักร
13. พระยะโฮวาจะเข้าแทรกแซงอย่างไรเพื่อช่วยผู้รับใช้ของพระองค์?
13 ยะเอศเคลพยากรณ์ถึงสิ่งที่โกกจะทำดังนี้ “เจ้าจะมาจากที่ของเจ้าซึ่งอยู่ส่วนเหนือที่สุด ทั้งเจ้าและชนชาติทั้งหลายเป็นอันมากที่อยู่กับเจ้า ทุกคนขี่ม้าเป็นกองทัพมหึมา เป็นกองทัพทรงกำลังยิ่งนัก เจ้าจะมาต่อสู้อิสราเอลประชาชนของเรา เหมือนอย่างเมฆคลุมแผ่นดิน” (ยเอศ. 38:15, 16, ฉบับคิงเจมส์ ) พระยะโฮวาจะทำอย่างไรกับการรุกรานที่ดูเหมือนไม่มีอะไรจะหยุดยั้งได้นี้? พระยะโฮวาประกาศว่า “ความพิโรธของเราจะพลุ่งขึ้น” และพระองค์จะ “เรียกดาบมาต่อสู้” (ยเอศ. 38:18, 21, ฉบับคิงเจมส์; อ่านซะคาระยา 2:8) พระยะโฮวาจะยื่นมือเข้ามาช่วยผู้รับใช้ของพระองค์บนแผ่นดินโลก การแทรกแซงนี้ก็คือ สงครามอาร์มาเก็ดดอน
14, 15. หลังจากที่ซาตานเริ่มโจมตีประชาชนของพระเจ้าอย่างเต็มที่ระยะหนึ่งแล้ว จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีก?
14 ก่อนจะพูดถึงเรื่องที่ว่า พระยะโฮวาจะปกป้องประชาชนของพระองค์อย่างไรในช่วงสงครามอาร์มาเก็ดดอน ให้เรามาดูเหตุการณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงที่ซาตานเริ่มโจมตีแบบทุ่มสุดตัวกับช่วงที่พระเจ้าเข้าแทรกแซงด้วยสงครามอาร์มาเก็ดดอน อย่างที่บอกไปแล้วในวรรค 11 เหตุการณ์ที่สองนี้ก็คือ การรวบรวมผู้ถูกเจิมที่เหลืออยู่บนโลก
15 การรวบรวมผู้ถูกเจิมที่เหลืออยู่บนโลก ทั้งมัดธายและมาระโกได้บันทึกคำพูดของพระเยซูเกี่ยวกับการรวบรวม “เหล่าผู้ถูกเลือก” หรือคริสเตียนผู้ ถูกเจิมว่า นี่เป็นหนึ่งในหลาย ๆ เหตุการณ์ที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนสงครามอาร์มาเก็ดดอน (ดูวรรค 7) พระเยซูพยากรณ์ถึงตัวท่านที่จะมาเป็นกษัตริย์ในอนาคตว่า “ท่านจะส่งเหล่าทูตสวรรค์ออกไปรวบรวมเหล่าผู้ถูกเลือกของท่านจากทั้งสี่ทิศ จากสุดแผ่นดินโลกจนถึงสุดฟ้าสวรรค์” (มโก. 13:27; มัด. 24:31) การรวบรวมที่พระเยซูพูดถึงนี้หมายถึงอะไร? ท่านไม่ได้พูดถึงการประทับตราขั้นสุดท้ายของคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่เหลืออยู่บนโลก ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นไม่นานก่อน ที่ความทุกข์ลำบากใหญ่จะเริ่มขึ้น (วิ. 7:1-3) แต่พระเยซูพูดถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในช่วง ความทุกข์ลำบากใหญ่ ดังนั้น ดูเหมือนว่าหลังจากซาตานเริ่มโจมตีประชาชนของพระเจ้าอย่างเต็มที่ได้ระยะหนึ่ง ผู้ถูกเจิมที่ยังเหลืออยู่บนโลกก็จะถูกรวบรวมไปสวรรค์
16. ผู้ถูกเจิมที่ได้รับการปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายจะมีส่วนร่วมในสงครามอาร์มาเก็ดดอนอย่างไร?
16 การรวมรวมผู้ถูกเจิมที่เหลืออยู่บนโลกเกี่ยวข้องอย่างไรกับสงครามอาร์มาเก็ดดอนซึ่งจะเกิดขึ้นต่อจากนั้น? ช่วงของการรวบรวมนี้บ่งชี้ว่าผู้ถูกเจิมทั้งหมดจะขึ้นสวรรค์ไปก่อนที่สงครามอาร์มาเก็ดดอนของพระเจ้าจะเริ่มขึ้น ผู้ร่วมปกครองกับพระคริสต์ในสวรรค์ทั้ง 144,000 คนจะได้รับอำนาจร่วมกับพระเยซูในการฟาดศัตรูทั้งหมดของราชอาณาจักรให้แหลกละเอียดด้วย “คทาเหล็ก” (วิ. 2:26, 27) แล้วผู้ถูกเจิมที่ได้รับการปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายรวมทั้งทูตสวรรค์ที่มีอำนาจก็จะติดตามพระคริสต์กษัตริย์ยอดนักรบ ออกไปเผชิญหน้ากับ “กองทัพมหึมา” ของพวกศัตรูที่เกือบจะขม้ำกลืนเหยื่อ ซึ่งก็คือประชาชนของพระยะโฮวา (ยเอศ. 38:15, ฉบับคิงเจมส์ ) แล้วสงครามอาร์มาเก็ดดอนก็จะเกิดขึ้นตอนที่ทั้งสองฝ่ายปะทะกันอย่างดุเดือด!—วิ. 16:16
ฉากสุดท้ายของความทุกข์ลำบากใหญ่
17. ในสงครามอาร์มาเก็ดดอน จะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ถูกตัดสินว่าเป็น “แพะ”?
17 การพิพากษาลงโทษ สงครามอาร์มาเก็ดดอนจะเป็นฉากสุดท้ายของความทุกข์ลำบากใหญ่ เมื่อถึงตอนนี้ พระเยซูมีงานอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องทำ คือเป็นผู้พิพากษา “ชาติทั้งปวง” และท่านจะเป็นผู้ลงโทษชาติต่าง ๆ ด้วย ซึ่งหมายถึงคนที่ถูกตัดสินว่าเป็น “แพะ” (มัด. 25:32, 33) กษัตริย์ของเราจะ “ฟันนานาชาติ” ด้วย “ดาบยาวคมกริบ” ทุกคนที่เป็นเหมือนแพะซึ่งมีตั้งแต่ “กษัตริย์” จนถึง “ทาส” จะ “ถูกทำลายชั่วนิรันดร์”—วิ. 19:15, 18; มัด. 25:46
18. (ก) สถานการณ์ของคนที่พระเยซูตัดสินว่าเป็น “แกะ” จะพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างไร? (ข) พระเยซูจะได้ชัยชนะขั้นเด็ดขาดอย่างไร?
18 แล้วสถานการณ์ของคนที่พระเยซูตัดสินว่าเป็น “แกะ” ก็จะพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ! แทนที่จะถูกพวก “แพะ” หรือกองทัพมหึมาของซาตานเหยียบย่ำจนแหลกลาญ “แกะ” หรือ “ชนฝูงใหญ่” ที่ดูเหมือนไม่มีทางป้องกันตัวจะรอดพ้นจากเงื้อมมือของศัตรู และ “ผ่านความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” ได้ (วิ. 7:9, 14) หลังจากกษัตริย์เยซูปราบศัตรูของราชอาณาจักรพระเจ้าจน ราบคาบแล้ว ท่านจะจับซาตานและพวกปิศาจเหวี่ยงลงในขุมลึก ซึ่งพวกมันจะมีสภาพเหมือนตายแล้ว เพราะมันไม่สามารถออกมาก่อความเดือดร้อนวุ่นวายเป็นเวลา 1,000 ปี—อ่านวิวรณ์ 6:2, 20:1-3
เราจะเตรียมตัวให้พร้อมได้อย่างไร?
19, 20. เราจะนำบทเรียนจากยะซายา 26:20 และ 30:21 มาใช้ได้อย่างไร?
19 เราจะเตรียมพร้อมอย่างไรสำหรับเหตุการณ์สะท้านโลกซึ่งกำลังใกล้เข้ามา? หอสังเกตการณ์ เคยพูดไว้เมื่อหลายปีก่อนว่า “ความรอดจะขึ้นอยู่กับการเชื่อฟัง” ทำไมล่ะ? ลองสังเกตคำเตือนของพระยะโฮวาตอนที่พูดกับเชลยชาวยิวซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองบาบิโลนโบราณ พระยะโฮวาบอกล่วงหน้าว่าเมืองบาบิโลนจะพ่ายแพ้ยับเยิน แล้วประชาชนของพระเจ้าต้องทำอะไรบ้างเพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ครั้งนั้น? พระยะโฮวาบอกประชาชนของพระองค์ว่า “จงเข้าไปในห้องและปิดประตูเสีย จงซ่อนตัวอยู่สักหน่อยหนึ่งจนถึงพระพิโรธได้ล่วงพ้นไป” (ยซา. 26:20) ขอสังเกตว่าคำกริยา “เข้าไป” “ปิด” และ “ซ่อน” มีลักษณะเป็นคำสั่งที่กระตุ้นให้ลงมือทำ ชาวยิวที่เชื่อฟังคำสั่งก็จะอยู่แต่ในบ้าน ไม่เฉียดเข้าไปใกล้พวกทหารที่กำลังรุกเข้ามาในเมือง ดังนั้น พวกเขาจะรอดชีวิตหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการเชื่อฟังคำสั่งของพระยะโฮวา b
20 เราได้เรียนอะไรจากเรื่องนี้? เหมือนกับผู้รับใช้ของพระเจ้าในสมัยโบราณ เราจะรอดผ่านเหตุการณ์ที่จวนจะมาถึงนี้ได้หรือไม่ นั่นขึ้นอยู่กับว่าเราเชื่อฟังคำสั่งของพระยะโฮวาขนาดไหน (ยซา. 30:21) เราจะได้รับคำสั่งของพระเจ้าผ่านทางประชาคม ดังนั้น เมื่อได้รับคำแนะนำต่าง ๆ เราอยากฝึกฝนตัวเองให้มีหัวใจที่เชื่อฟัง (1 โย. 5:3) ถ้าเราเชื่อฟังตั้งแต่ตอนนี้ เราก็คงเต็มใจเชื่อฟังในวันข้างหน้าด้วย แล้วเราก็จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากพระยะโฮวาพ่อของเรา และพระเยซูกษัตริย์ของเรา (ซฟัน. 2:3) ตอนที่เราได้รับการปกป้องจากพระเจ้า เราก็จะเห็นด้วยตาตัวเองว่าราชอาณาจักรของพระเจ้ากำจัดศัตรูจนสิ้นซากอย่างไร และเหตุการณ์นั้นก็จะตราตรึงอยู่ในใจเราตลอดไป!
a ดูเหมือนมีเหตุผลที่ว่า ความพินาศที่จะเกิดขึ้นกับ “บาบิโลนใหญ่” โดยหลักแล้วหมายถึงความพินาศขององค์กรทางศาสนา ไม่ใช่การเข่นฆ่าผู้คนมากมายในศาสนาเหล่านั้น ดังนั้น คนจำนวนมากที่เคยนับถือศาสนาของบาบิโลนใหญ่จะมีโอกาสรอดจากการถูกทำลายในครั้งนี้ แล้วพวกเขาจะหันหลังให้กับศาสนาเหมือนที่มีบอกไว้ในซะคาระยา 13:4-6
b สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดดูหนังสือคำพยากรณ์ของยะซายาห์—ความสว่างสำหรับมวลมนุษยชาติ เล่ม 1 (ภาษาอังกฤษ) หน้า 282-283