กิจการของอัครสาวก 1:1-26
ข้อมูลสำหรับศึกษา
กิจการของอัครสาวก: มีการพบชื่อกรีก พราคซิส อาพอสทอลอน ของหนังสือเล่มนี้ในสำเนาพระคัมภีร์บางฉบับจากศตวรรษที่ 2 แต่ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีชื่อหนังสือนี้อยู่ในต้นฉบับ ลูกาเป็นคนเขียนหนังสือกิจการและหนังสือนี้มีเรื่องราวต่อเนื่องจากหนังสือข่าวดีของลูกา (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 1:1) หลัก ๆ แล้วหนังสือนี้ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับงานรับใช้ของเปโตรกับเปาโล แต่ไม่ได้พูดถึงงานรับใช้ของอัครสาวกทุกคน หนังสือกิจการให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ละเอียดและน่าเชื่อถือเกี่ยวกับตอนเริ่มต้นที่น่าตื่นเต้นของประชาคมคริสเตียน และตอนที่ประชาคมก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากชาวยิวเป็นกลุ่มแรก จากนั้นก็ขยายไปถึงชาวสะมาเรีย และไปถึงชาวต่างชาติ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:19) หนังสือกิจการยังให้ข้อมูลพื้นฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อช่วยให้เข้าใจจดหมายที่ได้รับการดลใจอื่น ๆ ของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกด้วย
เธโอฟีลัส: ทั้งข่าวดีของลูกาและกิจการของอัครสาวกต่างก็เป็นหนังสือที่เขียนถึงผู้ชายคนนี้ ที่ ลก 1:1 เรียกเธโอฟีลัสโดยใช้คำว่า “ท่าน . . . ที่เคารพอย่างสูง”—สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเธโอฟีลัสและการใช้สำนวนนี้ ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:1
หนังสือเล่มแรก: ลูกากำลังพูดถึงหนังสือข่าวดีของเขาซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซู ในหนังสือนั้นลูกาเน้น “สิ่งที่พระเยซูสอนและทำทั้งหมดตั้งแต่ต้น” หนังสือกิจการเป็นเรื่องราวต่อจากหนังสือลูกาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่สาวกของพระเยซูพูดและทำ หนังสือทั้ง 2 เล่มของลูกาใช้คำและสไตล์การเขียนที่คล้ายกันและทั้ง 2 เล่มเขียนถึงเธโอฟีลัส แต่ลูกาไม่ได้บอกชัดว่าเธโอฟีลัสเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์หรือไม่ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:1) ลูกาเริ่มต้นหนังสือกิจการด้วยการสรุปเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เขาบันทึกไว้ในตอนท้ายของหนังสือข่าวดี ทำให้เห็นว่าหนังสือกิจการเป็นเรื่องราวต่อเนื่องจากหนังสือเล่มแรกที่เขาเขียน แต่ตอนต้นของหนังสือกิจการ ลูกาใช้คำที่ต่างจากที่ใช้ในหนังสือข่าวดีของเขาเล็กน้อย และเขายังให้รายละเอียดเพิ่มเติมบางอย่างด้วย—เปรียบเทียบข้อคัมภีร์ที่ ลก 24:49 กับ กจ 1:1-12
รัฐบาลของพระเจ้า: รัฐบาลของพระเจ้าซึ่งเป็นหัวเรื่องหลักของคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่มก็เป็นเนื้อหาหลักของหนังสือกิจการด้วย (กจ 8:12; 14:22; 19:8; 20:25; 28:31) หนังสือกิจการเน้นว่าพวกอัครสาวกประกาศอย่างทั่วถึงและ “อธิบายเพิ่มเติมอย่างละเอียด” เกี่ยวกับรัฐบาลนี้ และพวกเขาทำงานรับใช้ให้สำเร็จครบถ้วน—กจ 2:40; 5:42; 8:25; 10:42; 20:21, 24; 23:11; 26:22; 28:23
เป็นผู้กำหนด: หรือ “เป็นผู้มีสิทธิ์กำหนด” สำนวนนี้ทำให้รู้ว่าพระยะโฮวาเป็นผู้เดียวที่มีสิทธิ์กำหนด “วันเวลา” ที่จะทำให้ความประสงค์ของพระองค์เกิดขึ้นจริง พระองค์เป็นผู้รักษาเวลาองค์ยิ่งใหญ่ ก่อนพระเยซูเสียชีวิตท่านบอกว่า แม้แต่ตัวท่านเองในตอนนั้นก็ไม่รู้ “วันเวลา” ที่อวสานจะมาถึง มีแต่ “พระเจ้าผู้เป็นพ่อเท่านั้นที่รู้”—มธ 24:36; มก 13:32
วันเวลา: คำนี้มาจากคำกรีก 2 คำ คำแรกคือ ฆรอนอส (วัน) อาจหมายถึงช่วงเวลาที่ไม่ระบุชัดเจนซึ่งจะยาวหรือสั้นก็ได้ คำกรีกอีกคำคือ ไคร็อส (เวลา) มักใช้เพื่อพูดถึงช่วงเวลาในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมหรือเวลากำหนดของพระเจ้า โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการประทับของพระคริสต์และรัฐบาลของท่าน—กจ 3:19; 1ธส 5:1; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 1:15; ลก 21:24
พลังบริสุทธิ์: หรือ “พลังที่พระเจ้าใช้ในการทำงาน” ในหนังสือกิจการ มีคำว่า “พลังบริสุทธิ์” 41 ครั้ง และยังมีคำว่า “พลัง” (คำกรีก พะนือมา) อีกอย่างน้อย 15 ครั้งที่ใช้เพื่อหมายถึงพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า (ดูตัวอย่างที่ กจ 2:4, 17, 18; 5:9; 11:28; 21:4; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “พลัง”) ดังนั้น หนังสือกิจการจึงทำให้เห็นชัดเจนหลายต่อหลายครั้งว่า เพื่อที่สาวกของพระเยซูจะทำงานประกาศและงานสอนทั่วโลกให้สำเร็จได้ พวกเขาต้องได้รับความช่วยเหลือจากพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า—เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 1:12
พยานของผม: เนื่องจากสาวกรุ่นแรกของพระเยซูเป็นชาวยิวที่ซื่อสัตย์ พวกเขาจึงเป็นพยานของพระยะโฮวาอยู่แล้ว และพวกเขายืนยันว่าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว (อสย 43:10-12; 44:8) แต่ตอนนี้พวกเขาต้องเป็นทั้งพยานของพระยะโฮวาและ ของพระเยซู พวกเขาต้องทำให้ผู้คนรู้ว่าพระเยซูมีบทบาทสำคัญมากในการทำให้ชื่อของพระยะโฮวาเป็นที่เคารพนับถือโดยทางรัฐบาลเมสสิยาห์ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความประสงค์ของพระเจ้า มีการพบคำกรีกที่แปลว่า “พยาน” (มาร์ทูส) “เป็นพยานยืนยัน” (มาร์ทูเระโอ) และ “ประกาศ . . . ให้ทั่วถึง” (เดียมาร์ทูรอไม) และคำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นพยานในหนังสือกิจการมากเป็นอันดับสองรองจากหนังสือยอห์น (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:7) การเป็นพยานและการประกาศอย่างทั่วถึงเกี่ยวกับความประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งรวมถึงเรื่องรัฐบาลของพระองค์และบทบาทของพระเยซูเป็นเรื่องหลักที่อยู่ในหนังสือกิจการตลอดทั้งเล่ม (กจ 2:32, 40; 3:15; 4:33; 5:32; 8:25; 10:39; 13:31; 18:5; 20:21, 24; 22:20; 23:11; 26:16; 28:23) คริสเตียนบางคนในศตวรรษแรกเป็นพยานรู้เห็นเกี่ยวกับชีวิต ความตาย และการฟื้นขึ้นจากตายของพระเยซู และพวกเขาได้ยืนยันว่าเรื่องทั้งหมดนี้เป็นความจริง (กจ 1:21, 22; 10:40, 41) ส่วนคนที่เข้ามาเชื่อพระเยซูทีหลังก็เป็นพยานของพระเยซูในแง่ที่ว่าพวกเขาประกาศให้คนอื่นรู้ว่าชีวิต ความตาย และการฟื้นขึ้นจากตายของพระเยซูสำคัญอย่างไร—กจ 22:15; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 18:37
จนถึงสุดขอบโลก: หรือ “จนทั่วทุกมุมโลก” มีสำนวนกรีกเดียวกันนี้ที่ กจ 13:47 ซึ่งอ้างถึงคำพยากรณ์ใน อสย 49:6 และในฉบับเซปตัวจินต์ ที่ อสย 49:6 ก็ใช้สำนวนกรีกเดียวกันนี้ด้วย ดูเหมือนว่าคำพูดของพระเยซูใน กจ 1:8 ก็อ้างถึงคำพยากรณ์ข้อเดียวกันนี้ที่บอกล่วงหน้าว่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะเป็น “แสงสว่างของชาติต่าง ๆ” เพื่อที่ความรอดจะไปจน “สุดขอบโลก” นี่สอดคล้องกับคำพูดของพระเยซูที่เคยบอกว่าสาวกของท่านจะ “ทำงานใหญ่กว่า” ที่ท่านทำ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 14:12) และยังสอดคล้องกับคำพูดของพระเยซูที่บอกว่าคริสเตียนจะทำงานประกาศไปทั่วโลก—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:14; 26:13; 28:19
ผู้ชายสองคนสวมเสื้อขาว: สำนวนนี้หมายถึงทูตสวรรค์ (เทียบกับ ลก 24:4, 23) ในต้นฉบับของหนังสือกิจการมีคำว่า “ทูตสวรรค์” (คำกรีก อางเกะลอส) อยู่ 21 ครั้ง และครั้งแรกอยู่ที่ กจ 5:19
ท้องฟ้า: มาจากคำกรีก อู่รานอส คำนี้มีอยู่ 3 ครั้งในข้อนี้ อาจหมายถึงท้องฟ้าจริง ๆ หรือสวรรค์ก็ได้
มาในลักษณะเดียวกับ: มีการใช้คำกรีกที่แปลว่า “มา” (เออร์ฆอไม) บ่อย ๆ ในพระคัมภีร์และใช้ในหลายท้องเรื่อง ในบางท้องเรื่องหมายถึงการมาของพระเยซูในฐานะผู้พิพากษาในช่วงความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่ (มธ 24:30; มก 13:26; ลก 21:27) แต่ในบางครั้งก็มีการใช้คำกรีกนี้เพื่อหมายถึงการมาของพระเยซูในโอกาสอื่น ๆ ด้วย (มธ 16:28-17:2; 21:5, 9; 23:39; ลก 19:38) ดังนั้น ต้องดูท้องเรื่องเพื่อจะรู้ว่ามีการใช้คำว่า “มา” เพื่อหมายถึงอะไรในข้อนี้ ทูตสวรรค์บอกว่าพระเยซูจะ “มา” หรือกลับมา “ในลักษณะเดียวกับ” (คำกรีก ตรอพ็อส) ที่ท่านจากไป คำว่า ตรอพ็อส ไม่ได้หมายถึงการมีรูปร่างหรือร่างกายแบบเดียวกัน อย่างที่เห็นในท้องเรื่องนี้ตอนที่พระเยซูจากไปก็ไม่มีคนทั่วไปในโลกสังเกตเห็น มีแต่พวกอัครสาวกที่รู้ว่าพระเยซูจากโลกนี้ไปเพื่อกลับไปหาพ่อของท่านในสวรรค์ พระเยซูก็บอกว่าตอนที่ท่านกลับมาในฐานะกษัตริย์ของ “รัฐบาลของพระเจ้า” มนุษย์ทั่วไปก็จะไม่รู้ มีแต่สาวกของท่านเท่านั้นที่รู้ (ลก 17:20; ดูข้อมูลสำหรับศึกษา) ส่วนคำว่า “มา” ที่ใช้ใน วว 1:7 มีความหมายที่ต่างจากข้อนี้ เพราะตอนนั้น “ตาของทุกคนจะเห็น” พระเยซู (วว 1:7) ดังนั้น จากท้องเรื่องที่ กจ 1:11 คำว่า “มา” น่าจะหมายถึงการมาของพระเยซูในฐานะกษัตริย์ซึ่งจะเป็นแบบที่มนุษย์มองไม่เห็น—มธ 24:3
ประมาณ 1 กิโลเมตร: แปลตรงตัวว่า “ระยะทางเดิน 1 วันสะบาโต” คือ ระยะทางที่ชาวยิวได้รับอนุญาตให้เดินทางได้ในวันสะบาโต ซึ่งในข้อนี้บอกว่าเป็นระยะทางระหว่างภูเขามะกอกกับกรุงเยรูซาเล็ม กฎหมายของโมเสสมีคำสั่งห้ามเดินทางในวันสะบาโต แต่ไม่ได้บอกชัดเจนว่าห้ามเดินทางไกลขนาดไหน (อพย 16:29) ต่อมาแหล่งอ้างอิงของพวกรับบีกำหนดว่าชาวยิวสามารถเดินทางในวันสะบาโตได้ประมาณ 2,000 ศอก (890 เมตร) ข้อกำหนดของพวกเขาอาศัยการตีความจาก กดว 35:5 ที่บอกว่า “ความยาวของทุ่งหญ้านอกตัวเมืองจะวัดได้ 2,000 ศอก” และ ยชว 3:3, 4 ที่สั่งให้ชาวอิสราเอลอยู่ห่างจาก “หีบสัญญา” ประมาณ 2,000 ศอก พวกรับบีจึงหาเหตุผลว่านี่เป็นระยะทางที่ชาวอิสราเอลได้รับอนุญาตให้เดินทางได้เพื่อเข้าร่วมการนมัสการที่เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ในวันสะบาโต (กดว 28:9, 10) ครั้งหนึ่งโยเซฟุสพูดถึงระยะทางระหว่างกรุงเยรูซาเล็มกับภูเขามะกอกว่าอยู่ห่างกัน 925 เมตร ส่วนอีกครั้งหนึ่งเขาบอกว่าอยู่ห่างกัน 1,110 เมตร นี่อาจเป็นเพราะเขาพูดถึงจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ระยะทางที่โยเซฟุสพูดถึงก็ใกล้เคียงกับระยะทางที่พวกรับบีกำหนดให้เดินทางได้ในวันสะบาโตและสอดคล้องกับสิ่งที่ลูกาบันทึกไว้ในข้อนี้
คนกระตือรือร้น: ชื่อนี้ช่วยให้แยกออกระหว่างอัครสาวกซีโมนและอัครสาวกซีโมนเปโตร (ลก 6:14, 15) คำกรีก เศโลเทศ ที่ใช้ในข้อนี้และที่ ลก 6:15 มีความหมายว่า “คนที่มีความกระตือรือร้น, คนที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้า” ในบันทึกที่ มธ 10:4 และ มก 3:18 เรียกอัครสาวกซีโมนคนนี้ว่า “คานาไนโอส” เชื่อกันว่าชื่อนี้มาจากภาษาฮีบรูหรืออาราเมอิกที่มีความหมายว่า “คนที่มีความกระตือรือร้น, คนที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้า” อาจเป็นไปได้ว่าซีโมนคนนี้เคยเป็นพวกเซลอตซึ่งเป็นกลุ่มชาวยิวที่ต่อต้านจักรวรรดิโรม หรือเขาอาจได้ชื่อนี้เพราะเป็นคนกระตือรือร้นและมีศรัทธาอย่างแรงกล้า
พวกน้องชายของท่าน: คือน้องชายต่างพ่อของพระเยซู ในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม กิจการของอัครสาวก และจดหมาย 2 ฉบับของเปาโลพูดถึง “พวกน้องชายของผู้เป็นนาย” “พวกน้องชายของท่าน” และ “น้องสาว” และยังพูดถึงชื่อ “น้องชาย” 4 คนของพระเยซู คือ ยากอบ โยเซฟ ซีโมน และยูดาส (1คร 9:5; กท 1:19; มธ 12:46; 13:55, 56; มก 3:31; ลก 8:19; ยน 2:12) หลังจากที่พระเยซูเกิดมาอย่างอัศจรรย์แล้ว น้อง ๆ ของท่านก็เกิดมา นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่ยอมรับหลักฐานที่ว่าพระเยซูมีน้องชายอีกอย่างน้อย 4 คนกับน้องสาวอีก 2 คน และทุกคนเป็นลูกของโยเซฟกับมารีย์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:55
พี่น้องครับ: เนื่องจากคำว่า “พี่น้อง” ในข้อนี้มาจากคำกรีกที่มีคำว่า “ผู้ชาย” (อาเนร) รวมอยู่ด้วย และในท้องเรื่องนี้ก็พูดถึงการเลือกคนที่จะมาเป็นอัครสาวกแทนยูดาสอิสคาริโอท นี่จึงทำให้รู้ว่า “พี่น้อง” ที่เปโตรกำลังพูดคือพี่น้องชายเท่านั้น
หัวทิ่มตกลงมา ท้องแตกไส้ทะลักออกมา: บันทึกของมัทธิวบอกว่ายูดาส “ผูกคอตาย” ซึ่งเป็นการเน้นวิธีที่ยูดาสฆ่าตัวตาย (มธ 27:5) ส่วนบันทึกของลูกาในข้อนี้เน้นที่ผล เมื่ออ่านบันทึกทั้ง 2 ที่ก็เข้าใจได้ว่ายูดาสผูกคอตายบนหน้าผาแห่งหนึ่ง แต่เชือกอาจจะขาดหรือกิ่งไม้อาจจะหักทำให้เขาตกลงมากระแทกหินท้องแตกตาย สภาพภูมิประเทศรอบ ๆ กรุงเยรูซาเล็มที่เป็นหินและมีหน้าผาสูงชันทำให้สามารถสรุปได้แบบนั้น
หน้าที่ผู้ดูแล: หรือ “งานมอบหมายฐานะผู้ดูแล” คำกรีก เอะพิสะคอเพ ที่ใช้ในข้อนี้เกี่ยวข้องกับคำนามกรีก เอะพิสคอพ็อส (ผู้ดูแล) และคำกริยากรีก เอะพิสคอเพะโอ (ระวังให้ดี) ที่ใช้ใน ฮบ 12:15 ในข้อนี้เปโตรยก สด 109:8 เพื่อให้เหตุผลว่าทำไมเขาถึงเสนอแนะให้เลือกคนหนึ่งมาแทนที่อัครสาวกยูดาสที่ไม่ซื่อสัตย์ ซึ่งในหนังสือสดุดีใช้คำฮีบรู เพคัดดาห์ ที่แปลได้ว่า “ดูแล” “ผู้ดูแล” (กดว 4:16; อสย 60:17) และในฉบับเซปตัวจินต์ ที่ สด 108:8 (108:8, LXX) ก็ใช้คำกรีกเดียวกันกับที่ลูกาใช้ใน กจ 1:20 จากคำพูดนี้ของเปโตรที่ได้รับการดลใจเห็นได้ชัดเจนว่าพวกอัครสาวกมีหน้าที่หรือได้รับงานมอบหมายให้เป็นผู้ดูแล พวกเขาได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากพระเยซู (มก 3:14) ดังนั้น ในวันเพ็นเทคอสต์ ปี ค.ศ. 33 ซึ่งเป็นตอนเริ่มต้นของประชาคมคริสเตียนจึงมีผู้ดูแล 12 คน และประชาคมก็เติบโตจาก 120 คนเป็นประมาณ 3,000 คนในวันเดียว (กจ 1:15; 2:41) หลังจากนั้น ก็มีการแต่งตั้งผู้ดูแลคนอื่น ๆ ให้ช่วยดูแลประชาคมที่กำลังเติบโต แต่หน้าที่ในฐานะผู้ดูแลของพวกอัครสาวกก็ยังมีความพิเศษด้วย เพราะดูเหมือนว่าพระยะโฮวาตั้งใจให้อัครสาวก 12 คนเป็น “หินฐานราก 12 ก้อน” ของเยรูซาเล็มใหม่ในอนาคต—วว 21:14; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 20:28
ทำงานรับใช้กับพวกเรา: แปลตรงตัวว่า “เข้ามาและออกไปท่ามกลางพวกเรา” มาจากสำนวนภาษาเซมิติกที่หมายถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตร่วมกับคนอื่น และยังอาจแปลได้ว่า “ใช้ชีวิตอยู่กับพวกเรา”—เทียบกับ ฉธบ 28:6, 19; สด 121:8
มัทธีอัส: เป็นชื่อสั้นของ มาธ์ธาธีอาส ในภาษากรีก แต่ชื่อจริงของเขาเป็นชื่อภาษาฮีบรู คือ “มัททีธิยาห์” (1พศ 15:18) ที่มีความหมายว่า “ของขวัญจากพระยะโฮวา” และจากคำพูดของเปโตร (กจ 1:21, 22) ทำให้รู้ว่ามัทธีอัสทำงานรับใช้ร่วมกับพระเยซูตลอด 3 ปีครึ่งที่ท่านอยู่บนโลก มัทธีอัสเคยทำงานใกล้ชิดกับอัครสาวก 12 คน และเขาอาจเป็น 1 ใน 70 คนที่พระเยซูส่งไปประกาศ (ลก 10:1) หลังจากมัทธีอัสถูกแต่งตั้งเป็นอัครสาวกแล้ว เขาก็ ‘ถูกนับรวมเข้ากับอัครสาวกอีก 11 คน’ (กจ 1:26) และหลังจากนั้น ทุกครั้งที่หนังสือกิจการพูดถึง “พวกอัครสาวก” หรือ “อัครสาวก 12 คน” ก็รวมมัทธีอัสอยู่ด้วย—กจ 2:37, 43; 4:33, 36; 5:12, 29; 6:2, 6; 8:1, 14
พระยะโฮวา: สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกที่หลงเหลืออยู่ใช้คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (คำกรีก คูริออส) แต่ก็มีเหตุผลที่ดีหลายอย่างที่จะเชื่อว่าในต้นฉบับเคยมีชื่อของพระเจ้าอยู่ในข้อนี้และต่อมาถูกแทนที่ด้วยตำแหน่งองค์พระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น พระคัมภีร์ฉบับนี้จึงใช้ชื่อพระยะโฮวาในข้อนี้
พระองค์รู้จักหัวใจของทุกคน: พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมักพูดถึงพระยะโฮวาว่าเป็นพระเจ้าที่อ่านหัวใจคนได้ (ฉธบ 8:2; 1ซม 16 :7; 1พก 8:39; 1พศ 28:9; สด 44:21; ยรม 11:20; 17:10) จึงไม่แปลกที่ในข้อนี้คนยิวที่พูดภาษาฮีบรูจะอธิษฐานโดยออกชื่อของพระยะโฮวา คำกรีก คาร์ดิออกโนสเทส ที่แปลว่า “รู้จักหัวใจ” มีเฉพาะในข้อนี้ และที่ กจ 15:8 ซึ่งที่นั่นบอกว่า “พระเจ้าซึ่งรู้จักหัวใจทุกคน”
จับฉลาก: ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมีการพูดถึงการจับฉลากบ่อย ๆ ซึ่งจุดประสงค์ที่ผู้รับใช้พระยะโฮวาจับฉลากก็คืออยากรู้ว่าพระองค์คิดอย่างไร (ลนต 16:8; กดว 33:54; 1พศ 25:8; สภษ 16:33; 18:18; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ฉลาก”) ส่วนในพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกมีการพูดถึงการจับฉลากแค่ครั้งเดียวคือในข้อนี้ ซึ่งเป็นการจับฉลากเพื่อจะรู้ว่าใครจะมาแทนยูดาสอิสคาริโอท พวกสาวกรู้ว่าพวกเขาต้องพึ่งพระยะโฮวาตอนที่ตัดสินใจ เหมือนกับพระเยซูตอนที่แต่งตั้งอัครสาวก 12 คน ท่านก็ต้องอธิษฐานขอการชี้นำจากพระยะโฮวาทั้งคืน (ลก 6:12, 13) จุดที่น่าสังเกตคือ ก่อน ที่จะจับฉลาก “ได้ชื่อมัทธีอัส” พวกสาวกทบทวนดูข้อเรียกร้องต่าง ๆ ในพระคัมภีร์และอธิษฐานอย่างเจาะจงถึงพระยะโฮวาเพื่อจะ “รู้” ว่าพระองค์ คิดอย่างไร (กจ 1:20, 23, 24) แต่หลังจากวันเพ็นเทคอสต์ ปี ค.ศ. 33 ก็ไม่มีบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลที่บอกว่ามีการจับฉลากเพื่อเลือกผู้ดูแล ผู้ช่วยของพวกเขา หรือตอนที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ เพราะตั้งแต่พระเจ้าให้พลังบริสุทธิ์ช่วยประชาคมคริสเตียน ก็ไม่ต้องมีการจับฉลากอีกแล้ว (กจ 6:2-6; 13:2; 20:28; 2ทธ 3:16, 17) พวกพี่น้องชายที่ถูกเลือกให้เป็นผู้ดูแล เขาไม่ได้ถูกเลือกเพราะมีคนจับฉลากชื่อของเขาได้ แต่เพราะเขาแสดงผลที่เกิดจากพลังบริสุทธิ์ในชีวิตของเขา (1ทธ 3:1-13; ทต 1:5-9) คนชาติอื่นก็จับฉลากด้วยเหมือนกัน (อสธ 3:7; ยอล 3:3; อบด 11) เช่น ตอนที่พวกทหารโรมันแบ่งเสื้อพระเยซู พวกเขาก็จับฉลาก ถึงแม้สิ่งที่พวกเขาทำได้ทำให้คำพยากรณ์ สด 22:18 สำเร็จเป็นจริง แต่เจตนาจริง ๆ ของพวกเขาคืออยากได้เสื้อพระเยซู ไม่ได้ต้องการทำตามคำพยากรณ์—ยน 19:24; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:35
ถูกนับ . . . รวมเข้ากับ: หลังจากมัทธีอัสเข้ามาเป็นอัครสาวกแล้ว ในวันเพ็นเทคอสต์ ปี ค.ศ. 33 ก็มีอัครสาวก 12 คนที่ทำหน้าที่เป็นฐานรากของอิสราเอลของพระเจ้า และมัทธีอัสน่าจะเป็น 1 ในอัครสาวก 12 คนที่ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับสาวกที่พูดภาษากรีก—กจ 6:1, 2
วีดีโอและรูปภาพ
เหตุการณ์เรียงตามลำดับเวลา
1. บนภูเขามะกอกใกล้เมืองเบธานี พระเยซูบอกให้พวกสาวกเป็นพยานเกี่ยวกับท่าน “จนถึงสุดขอบโลก” (กจ 1:8)
2. ในวันเพ็นเทคอสต์สาวกได้รับพลังบริสุทธิ์จากพระเจ้า และประกาศในภาษาต่าง ๆ (กจ 2:1-6)
3. รักษาผู้ชายที่เป็นง่อยตรงประตูวิหารที่เรียกกันว่าประตูงาม (กจ 3:1-8)
4. พวกอัครสาวกยืนอยู่ต่อหน้าศาลแซนเฮดริน และพูดว่าพวกเขา “ต้องเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่ามนุษย์” (กจ 5:27-29)
5. สเทเฟนถูกหินขว้างตายนอกกรุงเยรูซาเล็ม (กจ 7:54-60)
6. ตอนที่พวกสาวกกระจัดกระจายไป ฟีลิปไปแคว้นสะมาเรียและเริ่มประกาศที่นั่น และมีการส่งเปโตรกับยอห์นไปที่นั่นเพื่อให้คนที่รับบัพติศมาได้รับพลังบริสุทธิ์ (กจ 8:4, 5, 14, 17)
7. ฟีลิปประกาศกับข้าราชการชาวเอธิโอเปียตรงถนนสายกรุงเยรูซาเล็มที่จะไปเมืองกาซา และให้บัพติศมากับข้าราชการคนนี้—ดูแผนที่ “งานรับใช้ของฟีลิปผู้ประกาศข่าวดี” (กจ 8:26-31, 36-38)
8. พระเยซูปรากฏตัวต่อหน้าเซาโลบนถนนที่จะไปกรุงดามัสกัส (กจ 9:1-6)
9. พระเยซูสั่งให้อานาเนียไปที่ถนนที่ชื่อถนนตรงเพื่อช่วยเซาโล แล้วเซาโลก็รับบัพติศมา (กจ 9:10, 11, 17, 18)
10. หลังจากที่โดร์คัสตายในเมืองยัฟฟา พวกสาวกขอให้เปโตรเดินทางมาจากเมืองลิดดาที่อยู่ไม่ไกล พอเปโตรมาถึงเมืองยัฟฟาเขาก็ปลุกโดร์คัสให้ฟื้นขึ้นจากตาย (กจ 9:36-41)
11. ตอนอยู่ในเมืองยัฟฟา เปโตรได้เห็นนิมิตเกี่ยวกับสัตว์ที่พระเจ้าทำให้สะอาดแล้ว (กจ 9:43; 10:9-16)
12. เปโตรเดินทางไปเมืองซีซารียา ที่นั่นเขาประกาศกับโคร์เนลิอัสและคนต่างชาติคนอื่นที่ไม่เข้าสุหนัต คนต่างชาติเหล่านั้นมีความเชื่อ ได้รับพลังบริสุทธิ์ และรับบัพติศมา (กจ 10:23, 24, 34-48)
13. พวกสาวกได้ชื่อว่าคริสเตียนเป็นครั้งแรกที่เมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรีย (กจ 11:26)
14. เฮโรดประหารยากอบ และจับเปโตรขังคุก ทูตสวรรค์มาช่วยเปโตรออกจากคุก (กจ 12:2-4, 6-10)
15. เปาโลเริ่มการเดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศรอบแรกกับบาร์นาบัสและยอห์นมาระโก—ดูแผนที่ “การเดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศรอบแรกของเปาโล” (กจ 12:25; 13:4, 5)
16. ตอนที่พี่น้องในเมืองอันทิโอกโต้เถียงกันมากเรื่องการเข้าสุหนัต เปาโลกับบาร์นาบัสก็เอาเรื่องนี้ไปถามพวกอัครสาวกและพวกผู้ดูแลที่กรุงเยรูซาเล็ม จากนั้นเปาโลกับบาร์นาบัสก็เดินทางกลับมาที่เมืองอันทิโอก (กจ 15:1-4, 6, 22-31)
17. เปาโลเริ่มการเดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศรอบที่สอง—ดูแผนที่ “การเดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศรอบที่สองของเปาโล”
18. เปาโลเริ่มการเดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศรอบที่สาม—ดูแผนที่ “การเดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศรอบที่สามของเปาโล”
19. ตอนที่เปาโลอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม เกิดการจลาจลขึ้นในวิหาร เปาโลถูกจับ และเขาได้พูดกับฝูงชนจากบันไดที่จะขึ้นไปป้อมอันโทเนีย (กจ 21:27-40)
20. เมื่อผู้บังคับกองพันรู้ว่ามีการวางแผนฆ่าเปาโล พวกทหารได้พาตัวเปาโลไปที่เมืองอันทิปาตรีส์ และจากนั้นก็ส่งตัวเขาไปที่เมืองซีซารียา (กจ 23:12-17, 23, 24, 31-35)
21. เปาโลถูกพิจารณาคดีต่อหน้าเฟสทัส และเขาก็ร้องเรียนต่อซีซาร์ (กจ 25:8-12)
22. การเดินทางไปกรุงโรมของเปาโลในช่วงแรก—ดูแผนที่ “การเดินทางของเปาโลไปกรุงโรม”
วีดีโอนี้ช่วยให้เห็นเส้นทางเข้ากรุงเยรูซาเล็มจากทิศตะวันออก โดยเริ่มจากบริเวณที่ปัจจุบันคือหมู่บ้านเอ็ททูร์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่เดียวกับหมู่บ้านเบธฟายีในสมัยพระคัมภีร์ไปจนถึงจุดที่สูงกว่าบนภูเขามะกอก ด้านตะวันออกของหมู่บ้านเบธฟายีคือหมู่บ้านเบธานี ซึ่งทั้งสองอยู่บนไหล่เขาทางตะวันออกของภูเขามะกอก ตอนที่พระเยซูกับสาวกไปที่กรุงเยรูซาเล็ม พวกเขามักจะค้างคืนที่หมู่บ้านเบธานี ปัจจุบันที่นั่นมีหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีชื่อภาษาอาหรับว่า เอล อะซาริเยห์ (El ʽEizariya) ซึ่งมีความหมายว่า “ที่อยู่ของลาซารัส” พระเยซูคงพักที่บ้านของมาร์ธา มารีย์ และลาซารัส (มธ 21:17; มก 11:11; ลก 21:37; ยน 11:1) ตอนเดินทางจากบ้านนี้ไปกรุงเยรูซาเล็ม ท่านอาจใช้เส้นทางที่เห็นในวีดีโอ และตอนที่ท่านขี่ลูกลาข้ามภูเขามะกอกไปที่กรุงนี้ในวันที่ 9 เดือนนิสาน ปี ค.ศ. 33 ท่านคงใช้เส้นทางเดียวกันนี้จากหมู่บ้านเบธฟายีไปตามถนนที่เข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม
1. ถนนจากเบธานีไปเบธฟายี
2. เบธฟายี
3. ภูเขามะกอก
4. หุบเขาขิดโรน
5. ภูเขาที่วิหารตั้งอยู่
บ้านบางหลังในอิสราเอลมีห้องชั้นบน คนที่จะขึ้นไปห้องชั้นบนอาจใช้บันไดพาดหรือบันไดไม้ที่อยู่ในบ้าน หรือเขาอาจใช้บันไดหินหรือบันไดพาดที่อยู่นอกตัวบ้าน ในห้องชั้นบนขนาดใหญ่ซึ่งอาจคล้ายกับในรูปนี้ พระเยซูได้ฉลองปัสกาครั้งสุดท้ายกับพวกสาวกและตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์ (ลก 22:12, 19, 20) ในวันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 สาวกประมาณ 120 คนก็น่าจะอยู่ในห้องชั้นบนของบ้านหลังหนึ่งในกรุงเยรูซาเล็มตอนที่พระเจ้าเทพลังบริสุทธิ์ลงมาบนพวกเขา—กจ 1:15; 2:1-4