กิจการของอัครสาวก 6:1-15
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
สาวกที่พูดภาษากรีก: แปลตรงตัวว่า “พวกเฮเลน” ไม่มีการใช้คำกรีก เฮ็ลเลนิสเทส เลยในหนังสือทั่วไปของชาวกรีกหรือของชาวยิวที่พูดภาษากรีก แต่ในท้องเรื่องนี้และในพจนานุกรมหลายฉบับสนับสนุนการแปลคำนี้ว่า “สาวกที่พูดภาษากรีก” ในตอนนั้น คริสเตียนทุกคนที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็มรวมทั้งคนที่พูดภาษากรีกเป็นลูกหลานของชาวยิว หรือเป็นคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว (กจ 10:28, 35, 44-48) มีการใช้คำว่า “สาวกที่พูดภาษากรีก” เพื่อแยกให้เห็นว่าเป็นคนละกลุ่มกับ “สาวกที่พูดภาษาฮีบรู” (แปลตรงตัวว่า “พวกฮีบรู” มาจากคำกรีก เฮ็บไรออส) ดังนั้น “พวกเฮเลน” ที่พูดถึงในข้อนี้คือชาวยิวที่พูดภาษากรีก คนกลุ่มนี้เดินทางมากรุงเยรูซาเล็มจากที่ต่าง ๆ ในจักรวรรดิโรมัน ซึ่งรวมถึงเดคาโปลิสด้วย แต่สาวกที่พูดภาษาฮีบรูส่วนใหญ่อาจเป็นชาวยูเดียและกาลิลี คริสเตียนชาวยิว 2 กลุ่มนี้น่าจะมีพื้นเพภูมิหลังที่แตกต่างกันอยู่บ้าง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 9:29
สาวกที่พูดภาษาฮีบรู: แปลตรงตัวว่า “พวกฮีบรู” มาจากคำกรีก เฮ็บไรออส (ในรูปเอกพจน์) ที่ปกติแล้วหมายถึงคนอิสราเอลหรือคนฮีบรู (2คร 11:22; ฟป 3:5) แต่ในท้องเรื่องนี้มีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงสาวกชาวยิวที่พูดภาษาฮีบรูซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับสาวกชาวยิวที่พูดภาษากรีก—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าสาวกที่พูดภาษากรีกในข้อนี้และข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 5:2
การแจกอาหารประจำวัน: หรือ “งานรับใช้ประจำวัน” มาจากคำกรีก เดียคอเนีย ซึ่งมักจะแปลว่า “งานรับใช้” แต่ในข้อนี้มีการใช้คำนี้เพื่อพูดถึงอีกแง่มุมหนึ่งของงานรับใช้ซึ่งก็คือการดูแลพี่น้องในประชาคมที่ขัดสน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 6:2 ซึ่งพูดถึงคำกริยา เดียคอเนะโอ ที่แปลว่า “แจกอาหาร”; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 8:3 ด้วย
ถูกต้อง: แปลตรงตัวว่า “ทำให้พอใจ” พระเจ้าและพวกอัครสาวกคงไม่พอใจถ้าต้องทิ้งการ “สอนคำสอนของพระเจ้า”—กจ 6:4
แจกอาหาร: หรือ “รับใช้” มีการใช้คำกรีก เดียคอเนะโอ ในข้อนี้เพื่อพูดถึงอีกแง่มุมหนึ่งของการรับใช้ก็คือ การดูแลเพื่อนร่วมความเชื่อในประชาคมที่ขัดสนและสมควรได้รับความช่วยเหลือ—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 6:1 ซึ่งพูดถึงคำนาม เดียคอเนีย ที่แปลว่า “การแจกอาหาร”; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 8:3 ด้วย
ผู้ชาย . . . ที่มีชื่อเสียงดี: หรือ “ผู้ชาย . . . ที่คนพูดถึงในแง่ดี” คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้คือ มาร์ทูเระโอ (“ให้หลักฐานยืนยัน”) จำเป็นต้องมีผู้ชายที่มีคุณสมบัติเพราะงานนี้ไม่ใช่แค่การแจกจ่ายอาหาร แต่ต้องดูแลเรื่องเงิน ซื้อของ และทำบันทึกอย่างละเอียดรอบคอบ ในข้อคัมภีร์นี้บอกว่าพี่น้องชายที่ถูกเลือกต้องแสดงหลักฐานให้เห็นในชีวิตว่าพวกเขาเต็มไปด้วยพลังของพระเจ้าและมีสติปัญญา ปัญหาที่เกิดขึ้นในประชาคมตอนนี้เป็นเรื่องที่จัดการได้ยาก พี่น้องต้องเจอกับความยากลำบาก และพวกเขาก็ยังมีความแตกต่างกันอย่างมาก จึงจำเป็นต้องมีพี่น้องชายที่มีประสบการณ์ มีวิจารณญาณที่ดี สุขุมรอบคอบ และมีความเข้าใจ คนหนึ่งที่ถูกเลือกก็คือสเทเฟน และคำให้การของเขาต่อหน้าศาลแซนเฮดรินก็แสดงให้เห็นว่าเขามีคุณสมบัติที่เหมาะสม—กจ 7:2-53
สอนคำสอนของพระเจ้า: คำว่า “สอน” ในข้อนี้มาจากคำกรีก เดียคอเนีย มีการใช้คำนี้ทั้งที่ กจ 6:1 และ 6:4 จึงทำให้เห็นชัดเจนว่าในท้องเรื่องนี้พูดถึงงานรับใช้ 2 อย่าง คือการแจกจ่ายอาหารให้คนที่ขัดสนอย่างเท่าเทียมกัน และการให้ความรู้ที่เสริมความเชื่อจากคำสอนของพระเจ้า พวกอัครสาวกรู้ว่าไม่เหมาะถ้าพวกเขาจะทุ่มเทเวลาไปกับการแจกจ่ายอาหาร แทนที่จะให้ความสนใจกับงานหลักของพวกเขาก็คือการช่วยประชาคมให้เข้มแข็งโดยการศึกษาอย่างจริงจัง รวมทั้งค้นคว้า สอน และบำรุงเลี้ยงพี่น้อง แต่พวกเขาก็รู้ดีว่าการช่วยเหลือแม่ม่ายที่ขัดสนในประชาคมเป็นส่วนสำคัญของงานรับใช้ด้วย ต่อมา พระยะโฮวาได้ดลใจให้ยากอบเขียนว่าถ้าใครอยากจะนมัสการพระเจ้าในแบบที่พระองค์ยอมรับ พวกเขาต้อง “ดูแลลูกกำพร้ากับแม่ม่ายที่มีความทุกข์ยาก” (ยก 1:27) แต่พวกอัครสาวกก็รู้ว่างานที่สำคัญกว่าสำหรับพวกเขาก็คือการดูแลความเชื่อของสาวกทุกคน รวมทั้งพวกแม่ม่ายด้วย
สเทเฟน . . . ฟีลิป โปรโครัส นิคาโนร์ ทิโมน ปาร์เมนัส และนิโคเลาส์: พี่น้องชายทั้ง 7 คนนี้มีชื่อกรีก แสดงให้เห็นว่าท่ามกลางพี่น้องชายที่มีคุณสมบัติทั้งหมดในกรุงเยรูซาเล็ม พวกอัครสาวกตั้งใจเลือกชาวยิวหรือคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวที่พูดภาษากรีก แต่มีนิโคเลาส์คนเดียวที่ถูกเรียกว่าชาวเมืองอันทิโอกซึ่งเคยเข้าศาสนายิว นี่แสดงให้เห็นว่าเขาอาจเป็นคนเดียวในกลุ่มนี้ที่ไม่ใช่ชาวยิวแท้ ๆ ส่วนชื่อของพี่น้องชายที่ถูกเลือกอีก 6 คนเป็นชื่อกรีกที่ใช้กันทั่วไปแม้แต่ในหมู่ชาวยิว จึงดูเหมือนว่าพวกอัครสาวกที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการปกครองในตอนนั้นได้เลือกพี่น้องชายทั้ง 7 คนนี้โดยคำนึงถึงความรู้สึกของชาวยิวที่พูดภาษากรีก—กจ 6:1-6
อันทิโอก: ที่นี่เป็นที่แรกในคัมภีร์ไบเบิลที่พูดถึงเมืองอันทิโอก เมืองนี้อยู่ห่างออกไปทางเหนือของกรุงเยรูซาเล็มประมาณ 500 กม. อันทิโอกกลายเป็นเมืองหลวงของแคว้นซีเรียในจักรวรรดิโรมันในปี 64 ก่อน ค.ศ. พอถึงศตวรรษที่ 1 เมืองนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจักรวรรดิโรมัน เป็นรองก็แค่โรมและอเล็กซานเดรีย ถึงแม้เมืองอันทิโอกของซีเรียจะเป็นเมืองที่สวยงามและมีอิทธิพลอย่างมากทางการเมือง การค้า และวัฒนธรรม แต่เมืองนี้ก็ขึ้นชื่อในเรื่องของศีลธรรมที่เสื่อมทราม ว่ากันว่าการที่มีคนยิวอยู่ในเมืองนี้เป็นจำนวนมากทำให้มีคนที่พูดภาษากรีกเปลี่ยนมานับถือศาสนายิวจำนวนมากด้วย นิโคเลาส์ก็เป็นคนหนึ่งที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว และหลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นคริสเตียน บาร์นาบัสกับอัครสาวกเปาโลเคยทำงานประกาศอยู่ที่เมืองอันทิโอกประมาณ 1 ปี เปาโลก็เคยใช้เมืองนี้เป็นฐานตอนที่เขาเดินทางในฐานะมิชชันนารี เมืองนี้เป็นเมืองที่สาวกของพระเยซู “ได้ชื่อว่าคริสเตียนเป็นครั้งแรกตามการชี้นำจากพระเจ้า” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 11:26) เมืองอันทิโอกในข้อนี้เป็นคนละเมืองกับเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดียที่พูดถึงใน กจ 13:14—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 13:14 และภาคผนวก ข13
วางมือบนพวกเขา: ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมีการวางมือทั้งบนคนและบนสัตว์ การวางมือแบบนี้มีความหมายหลายอย่าง (ปฐก 48:14; ลนต 16:21; 24:14) ปกติแล้วการวางมือบนคนหมายถึงการยอมรับว่าคนนั้นมีหน้าที่พิเศษ หรือแต่งตั้งคนนั้นให้ทำงานที่พิเศษ (กดว 8:10) ตัวอย่างเช่น โมเสสวางมือบนโยชูวาเพื่อยอมรับว่าเขาจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากโมเสส ผลคือโยชูวา “ได้รับพลังจากพระเจ้าซึ่งทำให้เขามีสติปัญญา” และสามารถนำชาติอิสราเอลได้อย่างดี (ฉธบ 34:9) ในบันทึกนี้ที่ กจ 6:6 พวกอัครสาวกวางมือบนพวกพี่น้องชายเพื่อแต่งตั้งพวกเขาให้ทำหน้าที่รับผิดชอบบางอย่าง พวกอัครสาวกทำอย่างนั้นหลังจากที่ได้อธิษฐานแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาต้องการพึ่งการชี้นำจากพระเจ้า ต่อมา คณะผู้ดูแลในประชาคมก็วางมือเพื่อแต่งตั้งทิโมธีให้ทำหน้าที่พิเศษ (1ทธ 4:14) ทิโมธีก็ได้รับอำนาจให้แต่งตั้งคนอื่นโดยการวางมือบนพวกเขา แต่เขาจะทำอย่างนั้นหลังจากเขาได้พิจารณาคุณสมบัติของพี่น้องคนนั้นแล้ว—1ทธ 5:22
การอัศจรรย์: หรือ “หมายสำคัญ”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 2:19
ที่ประชุมของเสรีชน: ช่วงที่โรมปกครอง คนที่เป็น “เสรีชน” คือคนที่ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการเป็นทาส เชื่อกันว่าคนที่เป็นสมาชิกของที่ประชุมนี้คือชาวยิวที่เคยถูกพวกโรมันจับไปเป็นเชลยแล้วหลังจากนั้นก็ถูกปล่อยตัว ส่วนคนอื่น ๆ คิดว่าเสรีชนที่พูดถึงในข้อนี้เป็นทาสที่ได้รับการปล่อยให้เป็นอิสระแล้วก็เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว
ผู้นำ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:21
ชาวนาซาเร็ธ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 10:47
เหมือนหน้าทูตสวรรค์: ทั้งคำฮีบรูและคำกรีกที่แปลว่า “ทูตสวรรค์” มีความหมายว่า “ผู้ส่งข่าว” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:51) เนื่องจากทูตสวรรค์เป็นผู้ส่งข่าวจากพระเจ้า พวกเขาจึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องกลัว แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาสงบนิ่งเพราะมั่นใจว่ามีพระเจ้าคอยหนุนหลังอยู่ หน้าของสเทเฟนก็เป็นเหมือนทูตสวรรค์ที่เป็นผู้ส่งข่าวจากพระเจ้า สีหน้าของเขาไม่ได้แสดงว่าเขาทำผิดอะไร แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เขาสงบนิ่งและสีหน้าของเขาแสดงให้เห็นว่าเขามั่นใจว่ามีพระยะโฮวา “พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่” คอยหนุนหลังอยู่—กจ 7:2
วีดีโอและรูปภาพ
ภาพที่เห็นอยู่นี้คือศิลาจารึกของทีโอโดทุสซึ่งเป็นแผ่นหินปูนที่มีข้อความจารึก แผ่นหินนี้กว้าง 42 ซม. ยาว 72 ซม. ศิลานี้ถูกพบตอนต้นศตวรรษที่ 20 ที่เนินเขาโอเฟลในกรุงเยรูซาเล็ม ข้อความบนศิลานี้เขียนเป็นภาษากรีก และพูดถึงทีโอโดทุสซึ่งเป็นปุโรหิตที่ “สร้างที่ประชุมของชาวยิวเพื่อเป็นที่อ่านและสอนกฎหมายของโมเสส” ข้อความจารึกนี้ทำขึ้นก่อนกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายในปี ค.ศ. 70 และให้หลักฐานว่ามีชาวยิวที่พูดภาษากรีกอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มในศตวรรษแรก (กจ 6:1) บางคนเชื่อว่าที่ประชุมของชาวยิวแห่งนี้เป็นที่เดียวกับที่เรียกกันว่า “ที่ประชุมของเสรีชน” (กจ 6:9) ข้อความจารึกนี้ยังบอกด้วยว่าทีโอโดทุสและพ่อกับปู่ของเขามีตำแหน่ง อาร์ฆีซูนาโกกอส (“หัวหน้าที่ประชุมของชาวยิว”) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกพูดถึงหลายครั้ง (มก 5:35; ลก 8:49; กจ 13:15; 18:8, 17) ข้อความจารึกนี้ยังบอกด้วยว่าทีโอโดทุสสร้างที่พักสำหรับคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นชาวยิวที่เดินทางมากรุงเยรูซาเล็ม โดยเฉพาะคนที่มาร่วมเทศกาลสำคัญประจำปี—กจ 2:5
นี่เป็นภาพเมืองอันทาเกียของประเทศตุรกีในปัจจุบัน เมืองนี้ตั้งอยู่ตรงที่ที่เคยเป็นเมืองอันทิโอกในสมัยโบราณ เมืองอันทิโอกเป็นเมืองหลวงของแคว้นซีเรียในจักรวรรดิโรมัน พอถึงในศตวรรษที่ 1 ว่ากันว่าเมืองนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจักรวรรดิโรมัน เป็นรองก็แค่โรมและอเล็กซานเดรีย บางคนคิดว่าเมืองนี้มีประชากรประมาณ 250,000 คนหรือมากกว่านั้น หลังจากสเทเฟนถูกฝูงชนในกรุงเยรูซาเล็มฆ่าและสาวกของพระเยซูเริ่มถูกข่มเหง สาวกบางคนก็ย้ายมาที่เมืองอันทิโอก พวกเขาประกาศข่าวดีกับคนที่พูดภาษากรีกและมีหลายคนสนใจ (กจ 11:19-21) ต่อมาอัครสาวกเปาโลใช้เมืองนี้เป็นฐานตอนที่เขาเดินทางในฐานะมิชชันนารี และ “ที่เมืองอันทิโอกนี่เองที่สาวกได้ชื่อว่าคริสเตียนเป็นครั้งแรก” (กจ 11:26) เมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรียเป็นคนละเมืองกับ “อันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย” (ซึ่งอยู่ตอนกลางของตุรกี) ที่พูดถึงใน กจ 13:14; 14:19, 21 และ 2ทธ 3:11