เขียนโดยยอห์น 18:1-40
ข้อมูลสำหรับศึกษา
หุบเขาขิดโรน: หรือ “ลำธารขิดโรน” มีการพูดถึงหุบเขาขิดโรนครั้งเดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกคือในข้อนี้ หุบเขานี้คั่นระหว่างภูเขามะกอกกับกรุงเยรูซาเล็ม หุบเขานี้ทอดยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้และอยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงนี้ ปกติแล้วหุบเขาขิดโรนมักไม่มีน้ำแม้แต่ในฤดูหนาวยกเว้นในช่วงที่มีฝนตกหนัก คำกรีก เฆ่มาร์รอส ที่แปลว่า “หุบเขา” ในข้อนี้มีความหมายตรงตัวว่า “ลำธารฤดูหนาว” ซึ่งก็คือลำธารที่มีน้ำไหลเชี่ยวในช่วงที่ฝนตกหนักในฤดูหนาว มีการใช้คำกรีกนี้มากกว่า 80 ครั้งในฉบับเซปตัวจินต์ เพื่อแปลคำฮีบรู นาคาล ที่มีความหมายว่า “หุบเขา” เมื่อพูดถึงหุบเขาขิดโรนในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู (2ซม 15:23; 1พก 2:37) คำฮีบรูและกรีกที่แปลว่า “หุบเขา” อาจหมายถึงลำธารได้ด้วย (ฉธบ 10:7; โยบ 6:15; อสย 66:12; อสค 47:5) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักใช้คำนี้เพื่อหมายถึงหุบเขาที่เกิดจากการกัดเซาะของกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวจนกลายเป็นทางน้ำไหลในช่วงฤดูหนาวที่มีฝนตกหนัก (กดว 34:5; ยชว 13:9; 17:9; 1ซม 17:40; 1พก 15:13; 2พศ 33:14; นหม 2:15; พซม 6:11) และหลายครั้งก็มีการแปล 2 คำนี้ว่า “ลำน้ำ”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ลำน้ำ”
ทหารกลุ่มหนึ่ง: คำกรีก สเพ่รา ที่ใช้ในข้อนี้ทำให้รู้ว่ากำลังพูดถึงทหารโรมัน ในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม ยอห์นเป็นคนเดียวที่บอกว่าตอนพระเยซูถูกจับมีทหารโรมันกลุ่มหนึ่งอยู่ที่นั่นด้วย—ยน 18:12
ฟันทาสของมหาปุโรหิต: เหตุการณ์นี้มีบันทึกอยู่ในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม และบันทึกทั้งหมดก็ให้ข้อมูลที่เสริมกัน (มธ 26:51; มก 14:47; ลก 22:50) ลูกาซึ่งเป็น “หมอที่พี่น้องรัก” (คส 4:14) เป็นคนเดียวที่บอกว่าพระเยซู “แตะใบหูของคนนั้นและเขาก็หาย” (ลก 22:51) ส่วนยอห์นก็เป็นผู้เขียนหนังสือข่าวดีคนเดียวที่บอกว่าซีโมนเปโตรเป็นคนชักดาบขึ้นมาฟันทาสคนนั้นที่ชื่อมัลคัสจนหูขาด ดูเหมือนว่ายอห์นคือสาวกที่ “รู้จักกับมหาปุโรหิต” และคนในบ้านของเขา (ยน 18:15, 16) จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะบอกได้ว่าทาสคนที่บาดเจ็บชื่ออะไร บันทึกใน ยน 18:26 ก็ทำให้เห็นด้วยว่ายอห์นคุ้นเคยกับคนในบ้านของมหาปุโรหิตเป็นอย่างดี เพราะในข้อนั้นยอห์นบันทึกว่าทาสที่บอกว่าเปโตรเป็นสาวกของพระเยซูเป็น “ญาติกับคนที่ถูกเปโตรฟันหูขาด”
ถ้วยที่พ่อให้ผมดื่ม: ในคัมภีร์ไบเบิล คำว่า “ถ้วย” มักใช้ในความหมายเป็นนัยหมายถึงความต้องการของพระเจ้า หรือ “ส่วนแบ่งที่ให้” กับคนหนึ่ง (สด 11:6; 16:5; 23:5) การดื่มจากถ้วยในข้อนี้หมายถึงการยอมทำตามความต้องการของพระเจ้า สำหรับพระเยซู “ถ้วย” ไม่ได้หมายถึงการที่ท่านต้องทนทุกข์และตายเพราะถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่ท่านถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายและมีชีวิตอมตะในสวรรค์อีกด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:22; 26:39
ผู้บังคับบัญชา: คำกรีก ฆิลีอาร์ฆอส (ผู้บังคับกองพัน) แปลตรงตัวว่า “ผู้ปกครองคน 1,000 คน” ซึ่งหมายถึงทหาร 1,000 นาย คำกรีกนี้เป็นตำแหน่งหัวหน้าหน่วยทหารโรมัน ทหารโรมัน 1 กองพันมี 6 หน่วย แต่ทหาร 1 กองพันไม่ได้มีผู้บัญชาการ 6 คนปกครองพร้อม ๆ กัน แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ผู้บัญชาการของแต่ละหน่วยจะผลัดเปลี่ยนกันปกครองทหารทั้งกองพันเป็นเวลา 1 ใน 6 ของปี ผู้บัญชาการหน่วยหรือนายทหารชั้นผู้ใหญ่แบบนี้มีอำนาจมาก รวมทั้งมีสิทธิ์จะแต่งตั้งและมอบหมายงานให้กับนายร้อย คำกรีกนี้ยังอาจหมายถึงนายทหารระดับสูงทั่ว ๆ ไป ตอนที่จับพระเยซูผู้บังคับบัญชาทหารโรมันก็ไปกับพวกทหารด้วย
พาไปหาอันนาสก่อน: มีแต่ยอห์นเท่านั้นที่บอกว่าพระเยซูถูกพาไปหาอันนาส ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาปุโรหิตประมาณปี ค.ศ. 6 หรือ 7 โดยคีรินิอัสผู้ว่าราชการชาวโรมันที่ปกครองแคว้นซีเรีย อันนาสอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงประมาณปี ค.ศ. 15 ต่อมาแม้เขาจะถูกโรมปลดออกจากตำแหน่งมหาปุโรหิตแล้ว แต่ดูเหมือนเขายังมีอิทธิพลมากในฐานะปุโรหิตใหญ่และยังมีสิทธิ์มีเสียงมากในกลุ่มผู้นำระดับสูงของชาวยิว ลูกชาย 5 คนของอันนาสเคยเป็นมหาปุโรหิต และเคยาฟาสลูกเขยของเขาก็เป็นมหาปุโรหิตตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 18 จนถึงประมาณปี ค.ศ. 36 ซึ่งรวมปีนั้นคือปี ค.ศ. 33 ที่พระเยซูถูกประหารด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 3:2
สาวกอีกคนหนึ่ง: น่าจะเป็นอัครสาวกยอห์น ดูได้จากสไตล์การเขียนของเขาที่ไม่บอกชื่อของตัวเองในหนังสือข่าวดีที่เขาเขียน (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 13:23; 19:26; 20:2; 21:7; 21:20) นอกจากนั้น ในบันทึกที่ ยน 20:2-8 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังพระเยซูฟื้นขึ้นจากตายมีการพูดถึงยอห์นกับเปโตรคู่กัน คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่ายอห์นซึ่งเป็นสาวกจากแคว้นกาลิลีมารู้จักกับมหาปุโรหิตได้อย่างไร แต่การที่ยอห์นคุ้นเคยกับคนในบ้านของมหาปุโรหิตทำให้เขาสามารถคุยกับคนเฝ้าประตูเพื่อจะเข้าไปที่ลานบ้านของมหาปุโรหิตได้ และยังสามารถพาเปโตรเข้าไปข้างในได้ด้วย—ยน 18:16
ถ่าน: หมายถึงถ่านคาร์บอนที่มีสีดำ เนื้อเปราะ และมีรูพรุน มักจะได้จากการเผาไม้ คนในสมัยโบราณเผาถ่านโดยเอาไม้มาสุม เอาดินกลบ แล้วเผาไม้ช้า ๆ เป็นเวลาหลายวัน โดยจะมีการปล่อยอากาศเข้าไปเล็กน้อยพอที่จะเผาไล่ก๊าซออกไป หลังจากเผาเสร็จก็จะได้ถ่านคาร์บอนที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ ถึงแม้การเผาถ่านเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานานและต้องคอยเฝ้าตลอด แต่ถ้าได้รับความร้อนที่มากพออย่างต่อเนื่องก็จะได้เชื้อเพลิงที่ไม่มีควัน มีการใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงสำหรับก่อไฟเพื่อให้ความอบอุ่น (อสย 47:14; ยรม 36:22) ถ่านยังเหมาะเป็นเชื้อเพลิงสำหรับทำอาหารด้วยเพราะให้ความร้อนสม่ำเสมอและไม่มีควันกับเปลวไฟ—ยน 21:9
ปุโรหิตใหญ่: คืออันนาส—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 18:13; กจ 4:6
ไปให้มหาปุโรหิตเคยาฟาส: ดูภาคผนวก ข12 เพื่อจะเห็นตำแหน่งที่น่าจะเป็นบ้านของเคยาฟาส
ไก่ก็ขัน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 14:72
ตอนเช้าตรู่: คือเช้าของวันที่ 14 เดือนนิสานซึ่งเป็นวันที่พระเยซูถูกสอบสวนและถูกประหาร วันปัสกาเริ่มต้นแล้วในตอนเย็นก่อนหน้านั้น และอย่างที่บอกไว้ในหนังสือข่าวดีเล่มอื่น ๆ พระเยซูกับอัครสาวกได้กินอาหารปัสกากันไปแล้ว (มธ 26:18-20; มก 14:14-17; ลก 22:15) ดังนั้น การกินอาหารปัสกาในข้อนี้ต้องหมายถึงการกินอาหารในวันที่ 15 เดือนนิสานซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อ ในสมัยพระเยซูบางครั้งมีการเรียกวันปัสกา (วันที่ 14 เดือนนิสาน) และเทศกาลขนมปังไม่ใส่เชื้อ (วันที่ 15-21 เดือนนิสาน) รวมกันว่า “ปัสกา”—ลก 22:1
บ้านผู้ว่าราชการ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:27
คุณเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ?: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:11
รัฐบาลของผมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้: คำตอบนี้ของพระเยซูไม่ได้ตอบคำถามของปีลาตที่ถามว่า “คุณไปทำอะไรมา?” (ยน 18:35) แต่ท่านตอบคำถามแรกที่ปีลาตถามว่า “คุณเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ?” (ยน 18:33) ในคำตอบสั้น ๆ นี้ของพระเยซู ท่านพูดถึงรัฐบาลของพระเจ้าถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ การที่พระเยซูบอกว่ารัฐบาลของท่าน “ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้” แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากมนุษย์ นี่สอดคล้องกับคำพูดก่อนหน้านี้ของท่านที่พูดถึง “รัฐบาลสวรรค์” หรือ “รัฐบาลของพระเจ้า” (มธ 3:2; มก 1:15) และพระเยซูก็เคยพูดว่าสาวกของท่าน “ไม่ได้เป็นคนของโลก” ซึ่งก็คือสังคมมนุษย์ที่ไม่นมัสการพระเจ้า ไม่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระองค์ และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้รับใช้พระองค์ (ยน 17:14, 16) คำพูดที่พระเยซูพูดกับเปโตรก่อนหน้านี้ในตอนเย็นแสดงว่าสาวกของท่านต้องไม่ต่อสู้เพื่อปกป้องท่านเหมือนกับที่คนทั่วไปต่อสู้เพื่อปกป้องกษัตริย์ของตัวเอง—มธ 26:51, 52; ยน 18:11
ผมเป็นกษัตริย์อย่างที่คุณว่า: คำตอบนี้ของพระเยซูเป็นการยืนยันว่าท่านเป็นกษัตริย์ (มธ 27:11; เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:25, 64) แต่การเป็นกษัตริย์ของพระเยซูไม่ได้เป็นแบบที่ปีลาตคิด เพราะรัฐบาลของพระเยซู “ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้” จึงไม่เป็นภัยต่อโรม—ยน 18:33-36
เป็นพยานยืนยัน: คำกรีกที่แปลว่า “เป็นพยานยืนยัน” (มาร์ทูเระโอ) และ “พยาน” (มาร์ทูเรีย; มาร์ทูส) ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีความหมายกว้าง ทั้งสองคำมีความหมายหลักว่า การยืนยันเกี่ยวกับความจริงที่ได้รู้เห็นมาด้วยตัวเอง แต่บางครั้ง 2 คำนี้ก็ยังหมายถึง “การประกาศ การยืนยัน การพูดสนับสนุน” พระเยซูไม่ได้ยืนยันหรือประกาศความจริงที่ท่านเชื่อมั่นเท่านั้น แต่การใช้ชีวิตของท่านก็สนับสนุนความจริงเกี่ยวกับคำสัญญาและคำพยากรณ์ของพระเจ้าด้วย (2คร 1:20) ความประสงค์ของพระเจ้าเกี่ยวกับรัฐบาลของพระองค์และกษัตริย์เมสสิยาห์มีบอกไว้ล่วงหน้าอย่างละเอียด การใช้ชีวิตของพระเยซูตอนอยู่บนโลกโดยเฉพาะการสละชีวิตเป็นเครื่องบูชาทำให้คำพยากรณ์ทั้งหมดเกี่ยวกับท่านเกิดขึ้นจริง รวมทั้งคำพยากรณ์เกี่ยวกับเงาของสิ่งที่จะมีมาซึ่งบอกไว้ในสัญญาเกี่ยวกับกฎหมาย (คส 2:16, 17; ฮบ 10:1) จึงอาจพูดได้ว่าพระเยซู “เป็นพยานยืนยันความจริง” ทั้งโดยคำพูดและการกระทำ
ความจริง: พระเยซูไม่ได้พูดถึงความจริงทั่ว ๆ ไป แต่พูดถึงความจริงเกี่ยวกับความประสงค์ของพระเจ้า สิ่งสำคัญเกี่ยวกับความประสงค์ของพระเจ้าก็คือ พระเยซูผู้เป็น “ลูกหลานของดาวิด” รับใช้ในฐานะมหาปุโรหิตและเป็นผู้ปกครองในรัฐบาลของพระเจ้า (มธ 1:1) พระเยซูอธิบายว่าเหตุผลหลักที่ท่านมาในโลก ใช้ชีวิตบนโลก และทำงานรับใช้ ก็เพื่อประกาศความจริงเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า ทูตสวรรค์ประกาศข่าวคล้ายกันนี้ทั้งก่อนและตอนที่พระเยซูเกิดในเบธเลเฮมแคว้นยูเดีย ซึ่งเป็นเมืองที่ดาวิดเกิด—ลก 1:32, 33; 2:10-14
ความจริงคืออะไรล่ะ?: คำถามของปีลาตน่าจะหมายถึงความจริงทั่ว ๆ ไป ไม่ใช่ “ความจริง” ที่พระเยซูเพิ่งพูดถึง (ยน 18:37) ถ้าปีลาตถามด้วยความจริงใจพระเยซูคงตอบเขาแน่ ๆ แต่ปีลาตคงจะถามแบบเยาะเย้ยถากถางเพราะไม่เชื่อ เหมือนเขากำลังพูดว่า “ความจริงเหรอ? คืออะไรล่ะ? มันไม่มีหรอก!” ที่จริง ปีลาตไม่ได้รอคำตอบด้วยซ้ำ เขาถามแล้วก็ออกไปหาชาวยิวเลย
พวกคุณมีธรรมเนียมให้ผมปล่อยนักโทษคนหนึ่ง: มีการพูดถึงธรรมเนียมนี้ใน มธ 27:15 และ มก 15:6 ด้วย ดูเหมือนธรรมเนียมนี้มาจากชาวยิวเพราะปีลาตบอกกับชาวยิวว่า “พวกคุณ มีธรรมเนียม” ถึงแม้ไม่เคยมีการพูดถึงและไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับธรรมเนียมนี้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู แต่ดูเหมือนว่าพอถึงสมัยพระเยซู ชาวยิวก็เริ่มมีธรรมเนียมนี้แล้ว ธรรมเนียมนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับชาวโรมันเพราะมีหลักฐานว่าพวกเขาเคยปล่อยตัวนักโทษเพื่อเอาใจประชาชน
วีดีโอและรูปภาพ
หุบเขาขิดโรน (นาฮาล ขิดโรน) ตั้งอยู่ระหว่างกรุงเยรูซาเล็มกับภูเขามะกอก หุบเขานี้อยู่ทางตะวันออกของกรุงเยรูซาเล็มและทอดยาวจากทางเหนือลงไปทางใต้ จุดเริ่มต้นของหุบเขานี้อยู่ใกล้ทางเหนือของกำแพงกรุงเยรูซาเล็ม ช่วงต้นของหุบเขามีลักษณะกว้างและตื้น แล้วค่อย ๆ แคบและลึกขึ้นเรื่อย ๆ พอถึงสุดเขตทางใต้ของบริเวณที่เคยเป็นวิหารหุบเขานี้ลึกประมาณ 30 เมตรและกว้างประมาณ 120 เมตร แต่ดูเหมือนในสมัยพระเยซูจะลึกกว่านี้ หุบเขานี้ทอดยาวไปทางใต้ผ่านที่กันดารยูเดียไปจนถึงทะเลเดดซี พระเยซูเคยผ่านหุบเขานี้ตอนที่ท่านเดินไปสวนเกทเสมนีในวันที่ 14 เดือนนิสาน ปี ค.ศ. 33 หลังจากตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์—ยน 18:1
1. หุบเขาขิดโรน
2. ภูเขาที่วิหารตั้งอยู่
3. ภูเขามะกอก (ส่วนที่เห็นนี้ปัจจุบันเป็นสุสาน)
ในรูปนี้คือชิ้นส่วนด้านหน้าและด้านหลังของสำเนาพาไพรัสไรแลนส์ 457 (P52) เป็นสำเนาหนังสือข่าวดีของยอห์นที่เก่าแก่มากซึ่งได้มาจากประเทศอียิปต์ในปี 1920 ปัจจุบันถูกเก็บไว้ที่หอสมุดจอห์นไรแลนส์ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ข้อความด้านหนึ่งของชิ้นส่วนนี้มาจาก ยน 18:31-33 และอีกด้านเป็นข้อความบางส่วนจาก ยน 18:37, 38 การที่มีข้อความเขียนอยู่ทั้ง 2 ด้านแสดงว่าสำเนานี้เป็นโคเดกซ์ ชิ้นส่วนนี้มีขนาด 9x6 ซม. ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่านี่เป็นชิ้นส่วนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ และน่าจะทำขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 2 ค.ศ. หนังสือข่าวดีของยอห์นเขียนขึ้นประมาณปี ค.ศ. 98 สำเนานี้จึงน่าจะทำขึ้นไม่กี่สิบปีหลังจากนั้น เมื่อเทียบกันแล้วข้อความในสำเนานี้แทบไม่แตกต่างจากข้อความในสำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกที่ครบถ้วนที่ทำขึ้นในสมัยต่อมา ซึ่งใช้เป็นหลักในการแปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกในปัจจุบัน